การศึกษาแบบ NewNormal บนวิธีคิดและวิธีการแบบ Old Normal

การศึกษาแบบ NewNormal บนวิธีคิดและวิธีการแบบ Old Normal

ผมได้มีโอกาสสนทนากับมิตรสหายถึงเรื่องกับดักรายได้ปานกลาง(middle income trap)ซึ่งเป็นที่กล่าวถึงมาตลอดช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมานี้

และผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายต่างก็ให้ความเห็นที่สอดคล้องกันว่าการออกจากกับดักนี้จะต้องอาศัยการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งสังคมไทยยังขาดอยู่มาก

ความเห็นจากบทความเรื่องMiddle Income Trap: กับดักเศรษฐกิจท่ีรอการก้าวข้ามของแพรวไพลิน วงษ์สินธุวิเศษและณัชพล จรูญพิพัฒน์กุลจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่เสนอว่าปัจจัยน่ากังวลที่ส่งผลให้ไทย ไม่สามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางน้ันเป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างที่จำเป็นต้องใช้เวลายาวนานในการแก้ไขปัญหาและส่ังสมเพิ่มพูน ความสามารถในการแข่งขันอาจดูไม่ใช่ข้อเสนอใหม่   อย่างไรก็ตามสิ่งชวนคิดจากข้อเสนอนี้สามารถนำมาพิจารณาในสถานการณ์ของการศึกษาแบบนิวนอร์มอลได้อย่างเหมาะเจาะ

หากย้อนกลับไปในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมซึ่งเป็นช่วงเริ่มเปิดภาคเรียนของบางมหาวิทยาลัย และโรงเรียนเกือบทุกแห่งจะพบว่าบรรดาผู้มีหน้าที่ในการกำกับดูแลด้านการใช้เทคโนโลยีของชาติต่างพากันออกมาสรรเสริญถึงการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสและความสวยหรูของการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา รวมถึงการคาดหวังที่จะเห็นผลของความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกล่าวว่ากระทรวงดิจิทัลฯ เดินหน้าผลักดันให้ทุกภาคส่วนเกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง และแน่นอนว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการศึกษาในยุคนิวนอร์มอล ทั้งในส่วนของรูปแบบการเรียนการสอน การรักษาระยะห่างทางสังคม การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค

กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติกล่าวว่า หลังจากสถานศึกษากลับมาเปิดการเรียนการสอน ก็จะมีมาตรการผสมผสานการเรียนทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ ส่งผลให้เกิดสตาร์ทอัพด้านการเรียนการสอนขึ้นจำนวนมาก มหาวิทยาลัยมีการเปิดหลักสูตรพัฒนาทักษะสำหรับกลุ่มอาชีพมากขึ้น ในขณะที่นักเรียนและนักศึกษาเริ่มหันไปสนใจการเรียนสาขาใหม่ ๆ ทำให้มหาวิทยาลัยต้องเร่งปรับหลักสูตร นักศึกษาทั้งที่เรียนอยู่และจบใหม่จะมีบทบาทเข้าไปช่วยพัฒนาชุมชนมากขึ้น เกิดเป็น local startup และ social enterprise จำนวนมาก

ในเวที Recovery Forum ในหัวข้อ “School Reopening and Teacher Empowerment to cope with the Next Normal in Education”  บรรดาผู้บริหารของหน่วยงานในกระทรวงอุดมศึกษาฯต่างพากันขายฝันอย่างสวยหรูว่า ในยามวิกฤตในครั้งนี้ เป็นโอกาสสำคัญที่จะจัดการศึกษาตามวิถีนิวนอร์มอล และจะต้องทำอย่างรวดเร็ว เป็นการปรับเปลี่ยนแนวคิดครั้งใหญ่ มีความท้ายทายที่จะยกระดับการศึกษา ปลดล็อคระบบการศึกษาในหลายมิติได้ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นแพลตฟอร์มหลักในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายโดยดึงภาคเอกชน ประชาสังคม และชุมชน เข้ามาช่วย เพื่อสร้างระบบการศึกษาที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้อย่างสมบูรณ์ เป็น New Normal in Education อย่างแท้จริง

ความสวยหรูที่ถูกกล่าวถึงทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้พาให้เราย้อนกลับไปนึกถึงช่วงทศวรรษ2520ที่ประเทศไทยเริ่มก้าวเข้าสู่ประเทศรายได้ปานกลาง  รัฐบาลในขณะนั้นใช้นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกและเปิดรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI)เพื่อส่งเสริมการจ้างงานและเร่งให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งความใฝ่ฝันที่จะเป็นเสือตัวที่ห้าแห่งเอเชียตามหลังประเทศนิกส์ทั้งสี่อยู่ใกล้แค่เอื้อม  แต่แล้วความฝันก็ยังคงเป็นแค่เพียงความฝันที่ยังไม่เป็นจริง และยังไม่เห็นเค้าลางที่จะเป็นจริงขึ้นมาได้  เพราะเหตุใดในวันนี้ประเทศไทยจึงยังติดอยู่ในกับดักที่ทำให้ไม่สามารถก้าวผ่านระดับรายได้ปานกลางขึ้นสู่ประเทศที่มีรายได้สูง

สาเหตุที่นำไปสู่ปัญหากับดักรายได้ปานกลางเมื่อสามทศวรรษก่อนได้ย้อนกลับมาหาสังคมไทยในวันนี้ในรูปของนโยบายการสนับสนุนการสอนหนังสือแบบนิวนอร์มอลล์  ซึ่งสาเหตุดังกล่าวนั้นคงจะมีหลายประการและมีความสลับซับซ้อนเกี่ยวพันกันอยู่  หากแต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเรื่องของนโยบายของรัฐที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ของคนในสังคม

ในการศึกษาเรียนรู้สิ่งต่างๆเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืนนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องเริ่มต้นที่พื้นฐาน  การสร้างพื้นฐานที่มั่นคงจะนำไปสู่การแตกหน่อและต่อยอดได้ในอนาคต  ซึ่งการเรียนรู้และสร้างรากฐานที่มั่นคงนั้นต้องอาศัยระยะเวลาที่ยาวนานเพื่อการลองผิดลองถูก การทำซ้ำเพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญ  อีกทั้งยังต้องอาศัยระบบทางสังคมที่คอยช่วยเหลือสนับสนุนในด้านกายภาพพื้นฐานต่างๆที่จำเป็น รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมในการเรียนรู้ที่ผู้คนในสังคมรักที่จะคิด รักที่จะอ่าน รักที่จะถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ หากแต่มิใช่ด้วยนโยบายพูดจาขายฝันอย่างสวยหรูและแนะนำว่าผู้สอนจะต้องปรับตัวอย่างงั้น ผู้เรียนจะต้องปรับเปลี่ยนอย่างนี้ โดยมิได้ให้การสนับสนุนในด้านต่างๆอย่างเพียงพอ  ไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมที่ดีในการเรียนรู้  ตรงกันข้ามกลับจะยิ่งไปส่งเสริมความรู้แบบย่อยแล้วหรือแบบเด็ดยอดเอามาใช้เลยเพราะคาดหวังผลอันสวยหรูในระยะสั้น

ผลที่เกิดขึ้นตามมาจากนโยบายการส่งเสริมให้เกิดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ในลักษณะเช่นนี้จึงเหมือนกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงทศวรรษ2520ต่อเนื่องจนถึงกลางทศวรรษ2530ที่ดูเหมือนจะสวยหรู  หากแต่เป็นความสวยหรูที่เกิดจากการพึ่งพาความรู้และเทคโนโลยีจากต่างประเทศและพึ่งพาแรงงานราคาถูกจากชนบท  หาใช่การเจริญเติบโตจากการพัฒนาพื้นฐานที่มั่นคง  จนกระทั่งในที่สุดประเทศไทยก็ไม่อาจพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นได้เอง และไม่อาจแข่งขันด้านค่าแรงราคาถูกกับประเทศจีนและเวียตนาม  สุดท้ายแล้วประเทศไทยจึงยังคงก้าวไม่พ้นกับดักรายได้ปานกลางอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งการวิเคราะห์ในบทความที่ได้กล่าวถึงไปในตอนต้นก็กล่าวไว้ชัดเจนว่าปัญหากับดักรายได้ปานกลางของไทยนั้นเกิดจากความพร้อมด้านเทคโนโลยีของไทยอยู่ในระดับปานกลาง อันเนื่องมาจากความพร้อมด้านทรัพยากรมนุษย์ที่ไม่เพียงพอทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ ทำให้ความสามารถในการดูดซับเทคโนโลยีจากต่างชาติไม่ดีนัก ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้ระดับนวัตกรรมโดยรวมของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ

เช่นนั้นแล้วเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่พบจากการเปิดภาคการศึกษามาร่วมหนึ่งเดือนกับการเรียนการสอนแบบออนไลน์จึงพบว่ามีเสียงบ่นมากกว่าเสี่ยงชื่นชมจากทั้งฝ่ายผู้สอนและฝ่ายผู้เรียน  ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นคือความไม่พร้อมของทั้งผู้เรียนและผู้สอนที่ขาดความรู้และทักษะที่จำเป็นในการเรียนการสอนออนไลน์  ปัญหาการไม่ได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอทั้งในเรื่องอุปกรณ์และสถานที่  ผู้สอนและผู้เรียนบางคนไม่มีคอมพิวเตอร์ส่วนตัวจึงต้องใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นอุปกรณ์  บางคนต้องไปใช้คอมพิวเตอร์ในร้านอินเตอร์เนทคาเฟ่เพราะนอกจากจะไม่มีอุปกรณ์แล้วยังไม่มีพื้นที่เหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัญหาที่เกิดจากการส่งเสริม(และบังคับ)ให้มีการเรียนการสอนแบบออนไลน์โดยมิได้เตรียมมาตรการสนับสนุนและรองรับอย่างเพียงพอ  โดยที่ปัญหาวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบย่อยแล้วและเด็ดยอดมาใช้เลยยังคงฝังรากลึกและยังคงได้รับการสนับสนุนให้ยิ่งลึกลงไปเรื่อยๆซึ่งท้ายที่สุดแล้วสถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้ก็จะยิ่งไปตอกย้ำปัญหากับดักรายได้ปานกลางจนไม่สามารถหาทางออกได้

โดย...

ตะวัน วรรณรัตน์

ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

นรชิต จิรสัทธรรม

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น