นักเรียน นิสิต นักศึกษากับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ

นักเรียน นิสิต นักศึกษากับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ

ในสถานการณ์ที่ flash mobผุดขึ้นเป็นกระแสรายวัน ประเด็นข้อเรียกร้องหนึ่งที่น่าสนใจนอกจากการยุบสภาและการหยุดคุกคามประชาชนก็คือ

ประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ผมจึงอยากนำข้อเสนอฯของเขาเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ บางส่วน ที่รวบรวมโดยฝ่ายเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา ปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาเสนอ เพื่อให้ได้รับทราบว่าเขาคิดอย่างไร และมีหลายๆประเด็นที่น่าสนใจมาก ดังนี้

ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

  • ควรยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ(ตัวแทน flash mob ขอนแก่น)
  • ควรแก้ไขกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ(มาตรา 256)เรื่องให้สมาชิกวุฒิสภามาเป็นเงื่อนไขในการแก้รัฐธรรมนูญ(ตัวแทน flash mob ขอนแก่น)
  • ควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญด้วยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับใหม่(ตัวแทน flash mob มธ./ตัวแทน นศ.มศว./นายกกระบวนการนิสิต มก.บางเขน)
  • การศึกษาเรื่องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ควรพูดเรื่องการแก้ไขปัญหาเรื่องการทำรัฐประหารด้วย(ตัวแทนจาก ม.ศิลปากร)
  • ควรแก้เงื่อนไขในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในประเด็นเกี่ยวกับเสียงของสมาชิกวุฒิสภา เนื่องจากไม่ไว้ใจสมาชิกวุฒิสภา 250 คน(ตัวแทนนักศึกษา มธ. ศูนย์ลำปาง)

ประเด็นการปฏิรูปประเทศ

  • มาตรา 258 การจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษามีงบประมาณมากถึง 80,000 ล้านบาท แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆรวมถึงการเข้าถึงการศึกษาได้(ตัวแทนนักศึกษา มธ. ศูนย์ลำปาง)
  • ควรทบทวนเรื่องยุทธศาสตร์ให้ดี เพราะจะทำให้ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งที่อาจไม่ใช่ คสช. รู้สึกขาดอิสระในการกำหนดนโยบายประเทศ(ตัวแทนจากflash mob ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

 

ประเด็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

  • การบัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพมักจะมีข้อยกเว้น เช่น มาตรา 32 “…เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือ มาตรา 34 บัญญัติรับรองเสรีภาพในการแสดงความเห็นแต่บัญญัติว่า”…เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ...ซึ่งคำว่า “รัฐ”ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงรัฐบาล และการเขียนเช่นนี้ทำให้เกิดการตีความเป็นคุณแก่รัฐบาลได้ จึงควรเขียนให้ชัดเจนว่ากฎหมายแบบใดจึงจะจำกัดสิทธิเสรีภาพได้(ตัวแทน flash mob มธ.)
  • ไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับไหน จะจำกัดเรื่องการเรียนโดยไม่มีมีค่าใช้จ่ายไว้เพียง 12 ปี ซึ่งไม่เพียงพอ อย่างน้อยควรจะให้เรียนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายจนจบปริญญาตรี และการตั้งกองทุนฯก็ไม่ได้แก้ปัญหา เพราะจริงๆแล้ว สิทธินี้ควรเป็นสิทธิที่ทุกคนควรได้ในฐานะคนไทย ไม่ใช่ต้องไปพิสูจน์ความอนาถาก่อนถึงจะได้(ตัวแทนนักศึกษา มธ. ศูนย์ลำปาง)
  • มาตรา 27 วรรคสอง กำหนดรับรองความเท่าเทียมกันของ “ชาย” และ “หญิง” ซึ่งไม่สอดคล้องกับบริบททางสังคมปัจจุบันมีเพศสภาวะหลายแบบ การบัญญัติเช่นนี้ถือว่าเลือกปฏิบัติ(ตัวแทนจากจุฬาฯ)
  • มาตรา 28 บัญญัติรับรองเรื่องเสรีภาพในร่างกาย แต่ขาดการกล่าวถึงเรื่องการอุ้มหายหรือการบังคับให้สูญหาย ซึ่งประเทศไทยมีหลายกรณี(ตัวแทนจากจุฬาฯ)
  • สิทธิการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไม่มีกฎหมายที่กำหนดกรอบที่ชัดเจนของการตีความ “ความมั่นคง” ทำให้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง และควรส่งเสริมเรื่องสิทธิชุมชนโดยร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(ผู้นำฝ่ายค้าน จุฬาฯ)
  • ต้องการให้รัฐจัดให้บุคลากรทางการแพทย์มีสวัสดิการที่ดีกว่านี้ เพื่อให้มีกำลังใจทำงาน และอยากให้หามาตรการป้องกันโรคที่ดีให้บุคลากรทางการแพทย์ด้วย และรัฐควรจัดงบประมาณในการตรวจสุขภาพให้ประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย(ตัวแทนมหาวิทยาลัยมหิดล)

ประเด็นหน้าที่ของรัฐและแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ

  • แก้ไข “มาตรา 75 รัฐพึงจัดระบบเศรษฐกิจให้ประชาชนมีโอกาสได้รับประโยชน์...”รัฐควรใช้หลักการการผูกขาดอย่างเป็นธรรมโดยไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน(ตัวแทนจากสโมสร นศ.รัฐศาสตร์ ม.อุบลฯ)
  • มาตรา 55 ไม่ได้กล่าวถึงมาตรการการป้องกันโรค ควรแก้ไขให้ดีกว่านี้(ตัวแทนมหาวิทยาลัยมหิดล)

ประเด็นด้านการเมือง

  • มาตรา 91 “การคำนวณหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ...” ไม่ฟังเสียงประชาชนเลยแม้แต่น้อย(ตัวแทน flash mob มธ.)
  • ระบบการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เอาต้นแบบมาจากมลรัฐBaden-Wurttembergแต่ใน มลรัฐดังกล่าวได้กำหนดร้อยละขั้นต่ำไว้ คือหากพรรคใดได้คะแนนเสียงน้อยกว่าร้อยละ 5 ก็จะไม่ได้บัญชีรายชื่อ ซึ่งทำให้ไม่เกิดพรรคเล็กพรรคน้อยเข้ามาเยอะเกินไป แต่พอนำรูปแบบนี้มาแต่ไม่เอาร้อยละขั้นต่ำมา จึงทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว จริงๆแล้วระบบนี้มีข้อดี แต่หากจะนำมาใช้ ก็ต้องนำข้อจำกัดเรื่องร้อยละขั้นต่ำมาใช้ด้วย(ตัวแทน flash mob มธ.)
  • อยากให้สมาชิกวุฒิสภามากจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือมีจุดยึดโยงกับประชาชนมากกว่านี้(ตัวแทนflash mob จาก ม.นเรศวร)
  • ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยสามารถเข้าชื่อเสนอถอดถอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ และต้องการให้ข้าราชการประจำเป็นอิสระจากข้าราชการทางการเมืองให้มากกว่านี้(ผู้นำฝ่ายค้าน จุฬาฯ)
  • ควรลดอำนาจราชการส่วนภูมิภาค และกระจายให้แก่ท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง โดยกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และไม่ควรใช้เหตุผลว่า “ประชาชนไม่พร้อม” แต่รัฐไม่ยอมให้ประชาชนพร้อม เพราะหลายเรื่องต้องลองถูกลองผิด(นศ.จาก ม.อุบลฯ)
  • ทบทวนเรื่องการกระจายอำนาจ สนับสนุนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และควรมาจากการร่างโดยประชาชนที่แท้จริง(ตัวแทนจากflash mobที่ มช.)

ประเด็นองค์กรตรวจสอบ

  • องค์กรตุลาการเป็นองค์กรที่ไม่สามารถถูกตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้ ผู้บริหารศาลแทบไม่มีความยึดโยงกับประชาชนเลย ควรให้มีกระบวนการเสนอรายชื่อให้รัฐสภารับรองบ้าง เช่น อาจจะใช้เสียง ¾ ของรัฐสภา เพื่อให้มีความยึดโยงกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย(ตัวแทน flash mob มธ.)
  • องค์กรอิสระตามมาตรา 247 และ 230 เกี่ยวกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เดิมรัฐธรรมนูญฯ2540 คณะกรรมการสิทธิฯมีอำนาจฟ้องศาลปกครองได้ แต่ปัจจุบันไม่มี(ตัวแทน flash mob มธ.)

ประเด็นบทเฉพาะกาล

  • ปัญหาเรื่องมาตรา 279 ที่กำหนดให้คำสั่งของ คสช.ยังคงมีผล เป็นปัญหาเรื่องความชอบธรรม(ภาคีนักศึกษา ม.กรุงเทพ)

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ก็เป็นสิ่งที่ควรแก่การรับฟังและนำไปพิจารณา เพราะคนรุ่นนี้กำลังจะเติบใหญ่ไปเป็นกำลังสำคัญของชาติ เขาควรที่จะมีส่วนในการสร้างชาติที่เขาจะต้องใช้ชีวิตอยู่ต่อไปนะครับ