ความหิวโหยในอเมริกา

ความหิวโหยในอเมริกา

เรื่องสหรัฐนำโด่งในด้านจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตด้วยโควิด-19 คงเป็นที่ทราบกันดีแล้ว ส่วนเรื่องความอดอยากแสนสาหัส ในย่านกรุงวอชิงตัน

อันเป็นเมืองหลวงของสหรัฐอาจไม่เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางนัก จึงข้อนำข้อมูลสรุปจากรายงานเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาของธนาคารอาหารในกรุงวอชิงตันมาปัน รายงานนี้ครอบคลุมเฉพาะกรุงวอชิงตันและปริมณฑล ซึ่งมีประชากรรวมกัน 6 ล้านคนเศษและแต่ละคนมีรายได้เฉลี่ยเกิน 1.3 แสนบาทต่อเดือน

รายงานคาดการณ์ว่า ถ้าสภาพปัจจุบันยังยืดเยื้อต่อไป จำนวนผู้ขาดอาหารจนถึงขั้นหิวโหยเป็นประจำจะถึง 2.5 แสนคน หรือ ราว 4% ของจำนวนประชากร ความหิวโหยท่ามกลางความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจคงมองได้จากหลายแง่มุม และเป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งนำไปสู่การสรุปที่ปรากฏในคอลัมน์นี้หลายครั้งว่า แนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลักไม่สามารถหาคำตอบให้มนุษยชาติได้อีกต่อไป

สหรัฐก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสามารถผลิตอาหารได้เกินความต้องการของชาวอเมริกันมานาน จึงเป็นผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก ส่วนที่ส่งออกไม่ได้รัฐบาลมักซื้อไว้เพื่อใช้ในโครงการต่างๆ รวมทั้งการช่วยเหลือคนจนที่ภาคเอกชนดำเนินการ เช่น ธนาคารอาหารดังกล่าว ธนาคารนี้รายงานว่า ในภาวะปกติ ราว 21% ของอาหารที่ธนาคารแจกจ่ายให้คนจนมาจากกระทรวงเกษตร

ธนาคารอาหารและองค์กรการกุศลในแนวเดียวกันมีอยู่ทั่วสหรัฐ จำนวนมากดำเนินการโดยอาสาสมัครสูงวัยในกรอบของการทำทานผ่านองค์กรทางศาสนา ส่วนอาหารได้มาจากการบริจาคโดยตรงของสมาชิกในชุมชนบ้าง จากกระทรวงเกษตรดังที่อ้างถึงบ้างและจากการซื้อโดยใช้เงินบริจาคของผู้ใจบุญบ้าง ธนาคารอาหารเกิดขึ้นเพราะคนจนจำนวนมากไม่เคยหมดไปแม้สหรัฐจะมั่งคั่งมากขึ้นเท่าไรก็ตาม เช่น ก่อนโควิด-19 จะเริ่มระบาด เศรษฐกิจของสหรัฐเบ่งบานเต็มที่ แต่ยังมีชาวอเมริกันราว 11% ยากจนถึงต้องพึ่งความช่วยเหลือจากรัฐบาลและองค์กรการกุศลจำพวกธนาคารอาหารดังกล่าว

จริงอยู่ ความยากจนมีอยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาตลอดประวัติศาสตร์ แต่ในสหรัฐซึ่งสามารถผลิตได้สารพัดยังมีความยากจนสูงขนาดนั้นจึงยากแก่การเข้าใจ ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดสภาพดังกล่าวได้แก่ความเบ่งบาน หรือการขยายตัวทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ไปตกอยู่ในมือชนชั้นเศรษฐีในขณะที่คนส่วนใหญ่ได้รับเพียงจำกัด หรือไม่ได้รับเลย ทำให้ความเหลื่อมล้ำนับวันจะยิ่งร้ายแรง

อาจมีคำถามต่อไปว่า การปกครองของสหรัฐเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่ทำไมคนส่วนใหญ่จึงไม่เลือกผู้นำที่สามารถทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลงได้ คำตอบคือ ระบอบประชาธิปไตยและผู้นำถูกครอบงำด้วยชนชั้นเศรษฐีที่จงใจบิดเบือนระบบตลาดเสรีไปจากอุดมการณ์สู่ระบบที่เรียกกันว่าเศรษฐกิจกระแสหลักตาม “ฉันทามติแห่งกรุงวอชิงตัน” (Washington Consensus) แนวคิดนี้ระบาดไปทั่วโลกและกำลังทำให้ความเหลื่อมล้ำร้ายแรงขึ้นจนกระทั่งประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากตกอยู่ในสภาพที่เรียกว่า “ยิ่งพัฒนา ยิ่งจน” นั่นคือ ตึกรามบ้านช่องอันหรูหราที่ปรากฏให้เห็นเป็นที่ประทับใจนั้นซ่อนความยากจนข้นแค้นแสนสาหัสไว้ในเงามืด

ผลของความเหลื่อมล้ำและความยากจนในสหรัฐได้แก่ ความแตกแยกร้ายแรงในปัจจุบัน สภาพเช่นนี้ไม่น่าเป็นที่แปลกใจเนื่องจากนักวิชาการชั้นนำได้เตือนไว้นานแล้ว รวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์ รางวัลโนเบล โจเซฟ สติกลิตซ์ ในหนังสือเรื่อง The Price of Inequality: How Today’s Divided Society Endangers Our Future ซึ่งคอลัมน์นี้เคยพิมพ์บทคัดย่อและวิพากษ์ (ในปัจจุบันอาจดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ www.bannareader.com)

เมืองไทยในขณะนี้มีความยากจน ความเหลื่อมล้ำและความแตกแยกคล้ายในสหรัฐ จริงอยู่รัฐบาลและชนทุกชั้นร่วมมือกันหยุดยั้งการระบาดของโควิด-19ได้ดีกว่าในสหรัฐและเมืองไทยมีแนวคิดในด้านการพัฒนาเหนือชั้นกว่าแนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลัก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าหลังจากวิกฤติโควิด-19ยุติลง เมืองไทยจะพัฒนาได้ดีกว่าสหรัฐ ตรงข้าม จะพัฒนาต่อไปได้ยากมากหากไม่ทำ 2 สิ่งนี้อย่างจริงจัง นั่นคือ (1) ลดความฉ้อฉลผสมกับความเหลื่อมล้ำที่แสดงอาการออกมาทางการไม่ฟ้องทายาทมหาเศรษฐีที่ทำให้ตำรวจตาย และ (2) เลิกโหนแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงแต่นำมาใช้ทั้งในด้านการพัฒนาและการดำเนินชีวิต