Platform capitalism

Platform capitalism

Platform Capitalism เป็นชื่อหนังสือเล่มล่าสุดของ Nick Srnicek อาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้าน digital economy ที่ King’s College London

สิ่งที่น่าสนใจ คือมันเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่และพัฒนาการล่าสุดของระบบทุนนิยมที่เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจในทศวรรษ 1970 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน และทวีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ตัวอย่างเช่น Facebook, Google, Uber, Airbnb และ Amazon

บริบทการเกิดขึ้นของ platform capitalism คือการแข่งขันกันที่เพิ่มสูงขึ้นของทุนในภาคการผลิตอุตสาหกรรมในระดับระหว่างประเทศ สะท้อนผ่านการแข่งขันของทุนการผลิตของสหรัฐ เยอรมัน และญี่ปุ่น ซึ่งส่งให้อัตรากำไรของภาคการผลิตลดน้อยลง ทำให้ต้องหาทางเคลื่อนย้ายไปลงทุนในพื้นที่การลงทุนใหม่ๆ ที่มีผลตอบแทนสูงกว่า ไม่ว่าจะเป็น ภาคการเงิน ตลาดหุ้น อสังหาริมทรัพย์ และภาคการผลิตใหม่ๆ ที่รู้จักกันว่า digital economy การเกิดขึ้นของฟองสบู่ในตลาดหุ้นสหรัฐในช่วงทศวรรษ 1990 ที่เรียกว่า Dot-com bubble หรือ internet bubble ที่แม้ว่าจะแตกลงในระยะเวลาอันสั้น ก็เป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ platform capitalism ประกอบกับนโยบายการเพิ่มปริมาณเงินของธนาคารกลางในรูปแบบต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจ 2008 และความพยายามในการหลีกเลี่ยงภาษีของทุน ทำให้เกิดการล้นเกินของเงินทุน จึงเกิดการเคลื่อนย้ายของทุนไปสู่พื้นที่ๆ เรียกว่า digital economy และ tech companies จนทำให้เกิดการพัฒนาเข้าสู่ platform capitalism ในที่สุด

โดยปกติแพลตฟอร์มทำงานเป็นตัวกลางเชื่อมโยงกลุ่มต่างๆ ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้โฆษณาเข้าด้วยกัน เช่น Uber เป็นตัวกลางเชื่อมโยงคนขับอิสระที่มีรถและต้องการใช้รถหารายได้ กับลูกค้าซึ่งต้องการรถรับจ้างไว้เดินทาง ซึ่งแพลตฟอร์มยังมีบทบาทของพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มต่างๆ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผ่านการพัฒนา app และการสร้างเวปเพจ เป็นต้น

คุณลักษณะสำคัญอีกข้อของแพลตฟอร์มคือ “network effect” กล่าวคือยิ่งมีผู้ใช้แพลตฟอร์มนั้นมาก การทำงานของแพลตฟอร์มก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้รายได้ของแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น ลักษณะนี้ทำให้โดยธรรมชาติแล้วแพลตฟอร์มจึงพยายามแข่งขันกันเพื่อเป็นผู้ผูกขาด โดยดึงดูดให้ผู้ใช้กระจุกตัวอยู่แต่แพลตฟอร์มของตนมากที่สุด นอกจากนี้ การหารายได้ของแพลตฟอร์มก็มีความซับซ้อนมากกว่าส่วนต่างระหว่างต้นทุนกับราคา เพราะแพลตฟอร์มบางประเภทจะถูกทำให้เหมือนเป็นเศรษฐกิจแบบแบ่งปันหรือ peer to peer อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของแพลตฟอร์มไม่ใช่เรื่องการแบ่งปัน แต่เป็นการหารายได้ต่างหาก เช่น google ผิวเผินเหมือนเป็น search engine ที่ผู้ใช้ไม่ต้องจ่าย แต่เอาเข้าจริงก็ได้รายรับจากการโฆษณาเพิ่มขึ้นตามยอดผู้ใช้นั่นเอง

อาจารย์ Nick ได้จัดแพลตฟอร์มไว้ 5 รูปแบบ อันแรกคือ advertising platform ที่มีรายได้หลักจากการโฆษณา เช่น google และ Facebook รูปแบบที่ 2 คือ cloud platform ทำหน้าที่ให้เช่า hardware, software และ cloud storage แก่บริษัททั้งขนาดใหญ่และเล็ก รวมถึงผู้ใช้รายย่อยที่ไม่ต้องการลงทุนซื้อสินทรัพย์เหล่านี้เป็นของตัวเอง ตัวอย่าง Amazon Web Service (AWS) และ Saleforce รูปแบบที่ 3 industrial platform ที่ใช้แพลตฟอร์มเพื่อช่วยเสริมการทำการผลิตในอุตสาหกรรมของตนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การรวบรวมข้อมูล ประมวลผลเพื่อลดต้นทุนการผลิต เช่น GE และ Siemen รูปแบบที่ 4 คือ production platform ที่ให้เช่าสินค้าและบริการ เช่น Rolls-Royce ที่หันมาให้เช่าเครื่องยนต์แก่สายการบินต่างๆ แทนการขาย รูปแบบที่ 5 คือ Lean platform เป็นแพลตฟอร์มที่ไม่ได้มีสินทรัพย์เป็นของตัวเอง แต่ทำให้หน้าที่จับคู่ผู้ที่ครอบครองสินทรัพย์นั้นๆ แต่ไม่ได้ใช้กับผู้ที่ต้องการใช้สินทรัพย์นั้นๆ แต่ไม่มี ตัวอย่าง Airbnb ที่แพลตฟอร์มไม่มีห้องพักป็นของตัวเอง แต่ทำให้หน้าที่เป็นตัวกลางในการจับคู่ระหว่างผู้ที่มีห้องพักแต่ไม่ได้ใช้แล้วต้องการหารายได้กับผู้ใช้บริการที่ต้องการใช้บริการห้องพักนั้น

อย่างไรก็ตาม 5 รูปแบบ สามารถดำเนินการข้ามแพลตฟอร์มกันได้ เช่น บางแพลตฟอร์มอย่าง advertising platform ต้องการขยายพื้นที่ไปสู่แพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น cloud platform เพื่อขยายธุรกิจและเพิ่มผู้ใช้ให้ เราจึงเห็นปรากฎการณ์เข้าซื้อและควบรวมกิจการของแพลตฟอร์มต่างๆ ปรากฏการณ์นี้บ่งชี้ธรรมชาติของการผูกขาดของ Platform capitalism โดยมีแนวโน้มที่เข้าควบรวมกับแพลตฟอร์มอื่นๆ และพยายามทำให้แพลตฟอร์มของตัวเองเป็นระบบปิด กีดกันการเข้าใช้แพลตฟอร์มอื่น นอกจากนี้ ยังอาจมีปัญหาการละเมิดความเป็นส่วนตัว เนื่องจากผู้ใช้ จะโดยตั้งใจหรือไม่ได้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวให้กับแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ตัวเองใช้ ทำให้เกิดการถูกสอดส่องและละเมิดความเป็นส่วนตัวได้

ทางเลือกจากการผูกขาดแพลตฟอร์มโดยทุนสำหรับอาจารย์ Nick มีอยู่ 2 แบบคือ การสร้างแพลตฟอร์มโดยกลุ่มอื่น เช่น แรงงานหรือภาคประชาชนเองเพื่อต้านทานอิทธิพลของแพลตฟอร์มของทุน แต่ปัญหาคือกลุ่มต่าง ๆเหล่านี้จะแข่งกับอำนาจทุน ข้อมูล และเครือข่ายของทุนได้อย่างไร ทางเลือกที่ 2 คือ การสร้างแพลตฟอร์มโดยรัฐซึ่งน่าจะสามารถแข่งขันด้านทุน ข้อมูล และเครือข่ายได้มากกว่า แต่แน่นอนว่าเราก็ต้องเผชิญกับปัญหาอีกรูปแบบหนึ่งคือการถูกจับจ้องและควบคุมโดยรัฐ ซึ่งเป็นความเลวร้ายที่ไม่น้อยกว่ากันอีกรูปแบบหนึ่ง และยังไม่นับรวมถึงสิ่งที่อาจารย๋ Nick ยังไม่ได้กล่าวถึงก็คือ การร่วมมือระหว่างรัฐกับทุนในการควบคุมแพลตฟอร์มต่างๆ เอาไว้ในมือเพื่อเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน

Platform Capitalism จะมีพัฒนาการต่อไปอย่างไร โดยเฉพาะในยุคหลังโควิด-19 จะเป็นไปดังที่อาจารย์ Nick คาดการณ์ไว้หรือไม่ เราๆ ท่านๆ คงจะต้องเฝ้าติดตามดูกันต่อไป

โดย...

กุลลินี มุทธากลิน

นรชิต จิรสัทธรรม