โลกร่วมใจใช้ AI ต้านภัย Covid-19

โลกร่วมใจใช้ AI ต้านภัย Covid-19

ความพยายามที่จะยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรค Covid-19 ก่อให้เกิดความร่วมมือขององค์กรในทุกระดับ

นับจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ยูเนสโก (UNESCO) รวมถึงสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) ตลอดจนมูลนิธิชั้นนำ และองค์กรเอกชนจากทั่วโลก

โดยเฉพาะในอเมริกาซึ่งเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อโรคอย่างหนัก ได้เกิดความร่วมมือจากมูลนิธิ สถาบันการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และกลุ่ม Big Tech เพื่อใช้เทคโนโลยีในการรวบรวมข้อมูลด้าน Covid-19 และลดความซ้ำซ้อนในการใช้ชุดข้อมูล (Data Set) ในงานวิจัย พร้อมทั้งพัฒนาเครื่องมือด้าน AI และจัดหาทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อให้นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลทำงานได้อย่างถูกต้อง อาทิ การรวบรวมชุดข้อมูลจำนวนมากใน “CORD-19” จาก COVID-19 Open Research Dataset ของสถาบัน Allen Institute for AI ตลอดจนการรวมกลุ่มพันธมิตรจาก XPrize, CAIAC และการจัดตั้งสมาคมของกลุ่ม COVID-19 HPC เป็นต้น

 

Pandemic Alliance ช่วยการวิจัย

XPrize เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร (Nonprofit) ที่ก่อตั้งในปี 1994 และมีชื่อเสียงด้านจัดการแข่งขันที่ผลักดันให้เกิดการคิดค้นพัฒนาระดับโลกในหลากสาขาเช่น อวกาศ พลังงาน สาธารณสุข และการขนส่ง โดยริเริ่มโครงการ “Pandemic Alliance” เพื่อเร่งให้เกิดโซลูชั่นในการจัดการกับเชื้อโรค Covid-19 ร่วมกับพันธมิตรจากสถาบันการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญและนักค้นคว้าวิจัย NGO และองค์กรเอกชนต่างๆ อาทิ UCLA, MIT Solve, Singularity University, IBM, Nvidia, Illumina, Catalytic และมูลนิธิ Botnar เป็นต้น โดยการนำเครือข่ายพันธมิตรจากทั่วโลกที่มีทรัพยากรและชุดข้อมูล มาพบและแชร์ทรัพยากรให้กับพันธมิตรที่ทำงานด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อร่วมกันสร้างโซลูชั่นในการแก้ปัญหา Covid-19 ให้สำเร็จ

Pandemic Alliance ทำงานผ่าน “XPRIZE Data Collaborative” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยประสานการทำงาน และรวบรวมข้อมูลและชุดข้อมูล (อาทิ influenza, swine flu, avian flu) และใช้ AI ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อให้นักวิจัยสามารถพัฒนาโซลูชั่นในการยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

 

CAIAC ช่วยการตัดสินใจ

เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2020 องค์กรด้านความคิด “The Future Society” ร่วมกับสถาบัน HAI ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Human-Centered Artificial Intelligence) ยูเนสโก และมูลนิธิ Patrick J. McGovern Foundation จัดตั้งกลุ่มความร่วมมือเพื่อพัฒนาเครื่องมือสำหรับใช้ในการตัดสินใจต้านภัยโรคระบาด Covid-19 ที่ชื่อว่า “Collective and Augmented Intelligence Against COVID-19 (CAIAC)” ในกลุ่มข้อมูลด้านสาธารณสุข สังคมและเศรษฐกิจ เป็นต้น

โดยการรวบรวมและกรองข้อมูลดิบจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับเชื้อโรค Covid-19 ซึ่งถูกผลิตขึ้นจำนวนมากในแต่ละวัน ให้เป็นข้อมูลสำหรับผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการใช้ในการประมวลผลเพื่อเกิดเป็นข้อมูลเชิงลึก และใช้ high-speed AI ในการจัดการและเชื่อมต่อข้อมูลเชิงลึกอย่างรวดเร็วทันการใช้งาน เพื่อสร้างเป็นองค์ความรู้ที่ถูกต้องในการใช้ตัดสินใจของผู้กำกับนโยบายของรัฐและหน่วยงานรัฐ รวมถึงเจ้าหน้าที่ด้านการสาธารณสุขและการแพทย์ ตลอดจนชุมชนและองค์กรเอกชนทั่วโลก ตามหลักปฏิบัติของ Global Data Access Frameworks และ UN Secretary General Digital Roadmap

เทคโนโลยี AI จะถูกพัฒนาจากความร่วมมือของกลุ่มเอกชน (เช่น stability.ai) โดยเริ่มต้นจะมุ่งไปที่การใช้ข้อมูลโมบายในการวิเคราะห์การแพร่กระจายของเชื้อโรค Covid-19 เพื่อเสาะหาและลดข้อมูลที่ผิดพลาดเกี่ยวกับการระบาด อีกทั้งเพื่อค้นหาและปกป้องกลุ่มเปราะบางที่อาจได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อโรค คาดว่าแพลตฟอร์มของ “caiac19.org” จะสามารถเปิดให้พันธมิตรของ UN ใช้ในเดือนกันยายนนี้

 

Big Tech ช่วยด้านกำลัง

กลุ่ม Big Tech อาทิ IBM, AWS, Google Cloud, Microsoft, HP และ Dell ได้เข้าร่วมใน Consortium ที่ชื่อ “The COVID-19 High Performance Computing (HPC)” ซึ่งมีพันธมิตรกว่า 40 ราย เพื่อรวบรวมทรัพยากรคอมพิวเตอร์ที่สามารถนำมาใช้สนับสนุนการวิเคราะห์บิ๊กดาต้าและคำนวณโมเดลของ AI ในการต้านภัย Covid-19 ของเหล่านักวิจัยด้วยเช่นกัน โดยประมาณว่าการเข้าร่วมกันของ Big Tech ช่วยให้มีทรัพยากรคอมพิวเตอร์ในการประมวลผลกว่า 136,000 nodes กว่า 5 ล้าน processor cores และทำงานได้กว่า 483 petaflops นอกจากนี้ยังจัดผู้เชี่ยวชาญด้าน AI เพื่อให้ความช่วยเหลือและร่วมทำงานกับนักวิจัยอีกด้วย

 

ภัยร้าย Infodemic

ควบคู่ไปกับพิษภัยของเชื้อโรคในช่วงการระบาดของเชื้อโรค Covid-19 ได้เกิดภัยร้ายจากข้อมูลผิดและข่าวลือ (Infodemic) จำนวนมากที่เกิดขึ้นและส่งผ่านสื่อและในโซเชียลมีเดียจนสร้างความเสียหายให้กับชีวิตและเศรษฐกิจ เช่นข้อมูลผิดเกี่ยวกับการใช้หน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้า ข้อมูลผิดเกี่ยวกับเชื้อโรค หรือการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดจากคลื่น 5G จนทำให้เกิดความสับสนและเป็นภัย เช่นที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลกในเวลานี้

ภัยจากการระบาดของเชื้อโรค Covid-19 เป็นวิกฤติที่ท้าทายความร่วมมือและความสามารถของมนุษย์ในการจัดการกับโรคร้าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วโลกต้องร่วมมือและช่วยเหลือกันยับยั้ง