“ข่าวจริง” ที่อยากให้เป็น “ข่าวปลอม”

“ข่าวจริง” ที่อยากให้เป็น “ข่าวปลอม”

ผมตามติดคดี บุตรชายค่ายเครื่องดื่มชูกำลัง ขับรถชนตำรวจตาย มาตั้งแต่เกิดเรื่องใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องมาตลอด

ถ้าไม่เขียนถึงอีกในวันนี้ คงมีคนเข้าใจไปได้ว่า มีอะไรมาหล่นทับเท้าหรือเกิดอะไรขึ้นกับผม เหมือนคนตั้งคำถามกับ “สื่อมวลชนไทย” องค์กรในกระบวนการยุติธรรมบางองค์กร เมื่อแรกได้ทราบข่าวว่า อัยการ กับ ตำรวจ เห็นพ้องให้จำหน่ายคดีเพราะมีคำสั่งเป็นที่สุด “ไม่ฟ้อง” แถมยังได้ยินคนมีอำนาจหน้าที่ออกมาปฎิเสธพัลวัน ผมนึกในใจเรื่องดังขนาดนี้ไม่ปรึกษาหารือ บอกกล่าวกันเลยหรืออย่างไร ผมจึงนึกแบบเอาใจช่วยว่าน่าจะ “ข่าวปลอม (fake news)” อีกแล้วกระมัง เพราะเคยมีคนออกมาแก้ต่างทำนองว่า คู่แข่งทางธุรกิจจ้องทำลายเขาบ้าง หรือบางทีก็ได้ยินว่า เรื่องนี้มันคดีมโนสาเร่ ถ้าไม่ใช่ลูกหลาน “กระทิงแดง” เรื่องเงียบไปนานแล้ว เพราะคดีทำนองนี้รู้กันดีว่า “เยียวยาให้พอใจแล้วส่วนใหญ่น่าจะรอด คนมีเงินก็ทำกันอย่างนี้แหละ” แต่เมื่อความจริงปรากฏแพร่กระจายกันในโลกเสมือนจริง ทั้งเอกสารที่น่าจะมีชั้นความลับ รวมทั้งการให้สัมภาษณ์ของผู้หลักผู้ใหญ่ และสื่อมวลชนแทบทุกแขนงที่พากันหลับไหลไปเกือบเดือนเต็มๆ ทั้งที่เป็นข่าวอึกทึกครึกโครมในต่างประเทศ กระทั่งสื่อไทยต้องลดความเหนียมอายมาออกข่าวให้ทราบตามกระแส

เรื่องนี้โดนกันไปเต็มๆ แทบทุกฝ่าย สื่อมวลชนไทยถูกตั้งคำถามโดยเฉพาะฝ่ายข่าวต่างประเทศว่าทำงานกันอย่างไร จึงไม่รู้ไม่เห็น หรือเมื่อรู้แล้วกองบรรณาธิการกลัวเกรงอะไร ตำรวจก็โดนหนักมาตั้งแต่มีคดี เพราะมีข่าวเป็นคดีความเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ต้องหาแม้ว่า คนตายจะเป็น “ตำรวจ” สวมเครื่องแบบสีกากีเหมือนตนเองแต่ทำอย่างไร ก็ตามตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีมิได้กระทั่งข้อหา 4 - 5 กระทงขาดอายุความเกือบหมด อัยการก็งานงอก เพราะมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ก่อนส่งให้ทางตำรวจเห็นพ้องต้องกันเป็นปี่เป็นขลุ่ย ต่อให้โฆษกทุกฝ่ายออกมาแถลงหรือแม้แต่ข่าวแจกที่ออกมาทำนองผู้หลักผู้ใหญ่ขององค์กรไม่รู้ไม่เห็น ยิ่งกลายเป็นลิ่มตอกย้ำความล้มเหลวทั้งภาพลักษณ์และเกียรติภูมิของทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องอย่างสะเทือนเลือนลั่น

พูดแล้วเหมือนขี้โม้ แต่เรื่องจริงคือ ขณะทำงานเขียนวิทยานิพนธ์ทาง “กระบวนการยุติธรรม” อยู่กับอาจารย์ช่วงปริญญาเอก ด้วยความเป็นนักเรียนทุนรัฐบาล มีคนมาชักชวนทั้งเรื่องการให้สัญชาติอังกฤษและงานท้าทายค่าจ้างค่าแรงเฉียดหลักล้านต่อเดือน แต่ผมมั่นใจว่าคนไทยจำนวนหนึ่งยังคงคิดเหมือนผม เป็นคนไทยจำนวนหนึ่งที่ยังมีจิตสาธารณะ มุ่งรับใช้ชาติบ้านเมืองมากกว่าเห็นแก่อามิสสินจ้าง และมีพฤตนิสัย “ตงฉิน” ที่เกลียดชัง “กังฉิน” แบบเข้าไส้มาถึงทุกวันนี้ ถึงกระนั้นก็มีนักเรียนทุนรัฐบาลบางคนที่ทนสิ่งที่มาล่อตาล่อใจไม่ไหว ตัดสินใจ ยอมใช้ทุนคืนบ้าง หรือบางคนหลบลี้หนีทุนถูกตามล่าตัวก็มีอยู่ หรือน่าจะเชื่อได้ว่าอาจมีคนบางส่วนที่มีดีเอ็นเอแห่งความชั่วร้าย เห็นแก่ประโยชน์เบื้องหน้ามากกว่าธำรงไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์และความยุติธรรม ยังคงปฎิบัติหน้าที่รับใช้บางองค์กรที่ให้คุณให้โทษคนได้ แถมยังปากเหมาะเคราะห์ดีอยู่ในฐานะตำแหน่งที่มีอำนาจไม่น้อย เลยสร้างปัญหาให้สังคมได้รับรู้อยู่เป็นระยะๆ

ที่เล่ามาไม่ใช่นอกเรื่อง หรืออวยชัยให้พรตัวเอง แต่กำลังจะชี้ให้เห็นว่า ระบบกระบวนการยุติธรรมของเราล้มเหลว เพราะเราขาดคนที่มีจิตสำนึกสาธารณะ อย่างที่ผมกับคนไทยจำนวนหนึ่งยอมทนรับเงินเดือนน้อยๆ เสียสละ กระทั่งไม่แต่งงานแต่งการ เพราะคิดว่าการมีครอบครัวจะทำให้เราทุ่มเทกับงานในหน้าที่ได้ไม่เต็มกำลัง แต่มักไม่ค่อยได้รับการดูแล แถมบางทีถูกกลั่นแกล้งรังแกเพราะไม่รู้จักวิ่งเต้นประจบเอาใจ พูดแต่เรื่องไม่รื่นหูเพราะพยายามชี้ถูกผิดตามความเป็นจริง แต่เจ้านายส่วนใหญ่มักชอบฟังแต่คำยกยอปอปั้นและภาพหลอนที่อิ่มเอมใจ ยิ่งมาได้ข่าวคดีสำคัญ ก็ไม่สงสัยเลยว่าทำไมฝรั่งหรือบางประเทศ ถึงรับคนหนีคดีเมืองไทยไปลี้ภัยกันง่ายนักเพียงอ้างเป็นเหตุผลทางการเมือง หรือเขียนตรงๆ ว่า ไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ถ้าอย่างนี้คนหนีคดีคงหนีไปได้กระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิตเขา เพราะแค่เขายกคดีนี้ขึ้นอ้างเป็นตัวอย่าง จะมีใครไปเถียงแทนพวกเราได้

อาจเรียกได้ว่าเป็นโชคดีสำหรับผมในการเข้ามาเป็นกรรมการปฎิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม(ตำรวจ) เมื่อ 2 ปีก่อน กระทั่งทำภารกิจเสร็จสรรพอย่างรวดเร็วภายในเวลาราว 8 เดือน ชี้ช่องให้เห็นแล้วว่า ตำรวจ กับ อัยการ มีจุดอ่อนจุดแข็งที่จะทำงานร่วมกันเพื่อ “อำนวยความยุติธรรมให้ประชาชน” ได้อย่างไร แล้วส่งต่อมาให้คณะกรรมการฯ ชุดต่อๆ มา ซึ่งทำหน้าที่นำแนวทางนโยบายที่เป็นชุดความคิดนั้นมาแปลงเป็นกฎหมาย แม้ว่าจะยังไม่มีความชัดเจนว่าดำเนินการสำเร็จมากน้อยเพียงใด แต่ทราบว่ายังคงมีการประชุมปรึกษาหารือกันอย่างต่อเนื่อง ก็หวังว่าเสียงสะท้อนมากมายในคดีอันอุกฤษณ์นี้จากสังคม คงเป็นตัวเร่งรัดการทำงานและส่งผลไปถึง คกก.ปฎิรูปประเทศชุดอื่นๆ ซึ่งคงถูกตั้งคำถามจากสังคมว่า

เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้แล้ว การปฎิรูปที่ต้องใช้ทั้งสรรพกำลังและทรัพยากรเงินทุนจำนวนมหาศาลประชุมกันต่อไปอีกอย่างน้อยๆ 3-4 ปีทุกสัปดาห์ จะเกิดมรรคผลเป็นประการใดหรือยังมีความจำเป็นที่จะต้องปฎิรูปอะไรกันต่อไปอีก เมื่อคนในสังคมที่ไม่ต้องมีความรู้ถึงปริญญาเอก ก็พอจับความได้ว่า กระบวนการยุติธรรมของสังคมนี้เละเทะเลอะเทอะเหลือประมาณ