Biodiversity Strategy: ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจอียู สู้โควิด

Biodiversity Strategy: ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจอียู สู้โควิด

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ปัญหาสภาวะโลกร้อนที่รุนแรงมากขึ้น ก่อให้เกิดภัยธรรมชาติต่างๆ รวมถึงไฟป่าครั้งใหญ่ที่ต้องใช้เวลากว่า 5 เดือนในการดับ

 การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และการแพร่กระจายของโรคระบาดร้ายแรง ราวกับว่าธรรมชาติกำลังส่งสัญญาณเตือนให้เรา หยุดทำลายและควร เปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตแบบเดิมๆเพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์กับธรรมชาติให้สมดุลอีกครั้ง

อียูและความท้าทายใหม่

เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2563 ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 คณะกรรมาธิการยุโรปได้นำเสนอแผนยุทธศาสตร์ “EU Biodiversity Strategy” หรือ ยุทธ์ศาสตร์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพของอียูและแผนปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการกำหนดเป้าหมายใหม่สำหรับปี ค.ศ. 2030 รวมถึงการขยายพื้นที่คุ้มครอง (protected areas) ทางบก 30% และทางทะเล 30% เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพให้คงไว้ โดยอียูมีแผนจะออก/ปรับปรุงมาตรการให้ครอบคลุมและรัดกุมมากขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้การปกป้องธรรมชาติและการฟื้นฟูระบบนิเวศให้สมบูรณ์เป็นส่วนหนึ่งของ “The New Normal”

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพเป็นหนึ่งในเสาหลักของนโยบาย European Green Deal ควบคู่กับยุทธศาสตร์ “Farm to Fork Strategy” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณการเกษตรกร ธรรมชาติ ภาคธุรกิจ และผู้บริโภคให้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวและพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน

แผนยุทธศาสตร์นี้นับเป็นการแสดงจุดยืนของอียูในการมุ่งเป็นผู้นำด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและด้านการสร้างห่วงโซ่อาหารที่ยั่งยืนบนเวทีโลกอีกด้วย

น้ำพึ่งเรือ เราพึ่งป่า

จากการรายงานของสภาพเศรษฐกิจโลกร่วมกับบริษัท PwC พบว่า เศรษฐกิจโลกพึ่งพาธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพมากเกินคาดการณ์ หรือ มากกว่า 50% ของจีดีพีโลกซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 40 ล้านล้านยูโร แต่วิถีชีวิตยุคปัจจุบันนั้นกำลังทำลายสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ประชากรสัตว์ป่าลดลงถึง 60% ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาและสายพันธุ์ (species) กว่าล้านชนิดมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ จึงไม่แปลกใจที่แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิดของอียูจะมี “การฟื้นฟูธรรมชาติ” เป็นองค์ประกอบสำคัญ

อุตสาหกรรมหลักที่พึ่งพาธรรมชาติอย่างสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมก่อสร้าง การเกษตร และอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งสร้างรายได้รวมกันมากกว่า 7 ล้านล้านยูโร โดยอุตสาหกรรมเหล่านี้ใช้ทรัพยากรโดยตรงจากแหล่งธรรมชาติ เช่น ดินที่อุดมสมบูรณ์ น้ำสะอาด การผสมเกสรดอกไม้ และสภาพภูมิอากาศที่ไม่แปรปรวน เป็นต้น

แม้ว่าภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจอาจถูกมองว่าเป็นตัวการที่ทำลายธรรมชาติและระบบนิเวศ แต่อีกด้านก็เป็นผู้คิดค้นนวัตกรรม สร้างความร่วมมือ และมีความรู้ความชำนาญที่สามารถช่วยชี้ปัญหาความหลากหลายทางชีวภาพ

เกษตรอินทรีย์คือทางออก

ตามแผนยุทธ์ศาสตร์ฯ อียูมีแผนสนับสนุนและขยายพื้นที่การทำเกษตรอินทรีย์เป็น 25% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดในยุโรปภายในปี ค.ศ. 2030 โดยการทำเกษตรปลอดสารมีข้อดีหลายประการ คือ 1) สามารถผลิตอาหารที่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค 2) เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และ 3) การทำเกษตรอินทรีย์นั้นสามารถดึงดูดความสนใจจากเกษตรกรรุ่นใหม่และมีอัตราการจ้างแรงงานสูงกว่าการทำการเกษตรแบบธรรมดาถึง 10-20% ต่อเฮคเตอร์ เป็นต้น

วิกฤตผึ้งใกล้สูญพันธุ์ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนว่าถึงเวลาที่เราจะต้อง “เปลี่ยน” วิธีทำการเกษตรแบบเดิมๆ ไปเป็นการทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น เพราะ 75% ของอาหารโลกต้องพึ่งพาการผสมเกสรดอกไม้โดยสัตว์ หากเกษตรกรยังใช้ยาฆ่าแมลงที่ทำลายหน้าดินเหมือนปัจจุบัน ผึ้งอาจจะสูญพันธุ์ได้ในไม่ช้า ดังนั้นเราควรเพิ่มจำนวนประชากรและความหลากหลายของสัตว์และแมลงผสมเกสร เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ จะเป็นการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและสร้างความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน

เสียเงินลงทุนกับธรรมชาติเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

เครือข่าย EU Natura 2000 คือ เครือข่ายพื้นที่คุ้มครองที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์หายาก รวมถึงแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติได้รับการคุ้มครองและอนุรักษ์ไว้ ครอบคลุมพื้นที่ 27 ประเทศทั้งทางบกและทางทะเล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สายพันธุ์สัตว์หายากและถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติที่ถูกคุกคามสามารถอยู่รอดได้ในระยาว ตามที่ระบุไว้ภายใต้ข้อบังคับ Birds Directive และ Habitats Directive

นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของแนวทางการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพที่ประสบความสำเร็จ ยืนยันได้จากผลประโยชน์ที่ได้รับซึ่งมีมูลค่ากว่า 200-300 พันล้านยูโรต่อปี

รวมถึงการจ้างแรงงานเพื่อดูแลพื้นที่คุ้มครองโดยตรงกว่า 104,000 อัตรา และจ้างงานทางอ้อมอีก 70,000 อัตรา และคาดการณ์ว่ายุทธ์ศาสตร์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพของอียูฉบับนี้ จะสร้างงานเพิ่มถึง 500,000 อัตราเลยทีเดียว (ข้อมูลจาก ec.europa.eu) การสร้างงานนับเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของการฟื้นฟูเศรษฐกิจของอียูหลังวิกฤตโควิดนี้

อียูได้พิจารณาถึงผลประโยชน์ของการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพต่อเศรษฐกิจนั้นว่าคุ้มค่าแก่การลงทุน เช่น การอนุรักษ์กลุ่มสัตว์น้ำสามารถเพิ่มกำไรให้แก่อุตสาหกรรมอาหารทะเลกว่า 49 พันล้านยูโร และการปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเลสามารถช่วยบริษัทประกันประหยัดกว่า 50 พันล้านยูโรต่อปีจากการลดค่าเสียหายจากน้ำท่วม เป็นต้น โดยอียูได้มีแผนจัดสรรงบประมาณกว่า 2 พันล้านยูโรต่อปีจากจากงบประมาณกลาง งบประมาณภายในประเทศและจากภาคเอกชน

การอยู่เฉยกับปัญหาเท่ากับการเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

ในบริบทหลังวิกฤตโควิด แผนยุทธศาสตร์ของอียูนี้จะเสริมสร้างสังคมที่มีความยืดหยุ่นต่อภัยคุกคามในอนาคต (resilience society) เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไฟป่า ความไม่มั่นคงทางอาหาร หรือโรคระบาดรวมถึงการอนุรักษ์สัตว์ป่าและต่อสู้กับการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย เป็นต้น และเป็นการสนับสนุนแผนฟื้นฟูที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

การไม่ทำอะไรเพื่อแก้ปัญหาเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพที่ถดถอย คือการเลือกที่จะยอมเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ อาทิ ในช่วง ค.ศ. 1997–2011 โลกได้สูญเสียประมาณ 5.5-10.5 ล้านล้านยูโรต่อปีไปกับการเสื่อมสภาพของดิน หากเราไม่เริ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ เราก็จะมีผลิตผลทางการเกษตรน้อยลง จับปลาได้น้อยลง และมีโอกาสที่จะประสบภัยธรรมชาติสูงขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสูญเสียโอกาสในการพบวัตถุดิบที่มีศักยภาพในการนำมาผลิตยารักษาโรคก็เป็นได้

อียูเตรียมเพิ่มมาตรการสีเขียว

อันที่จริงอียูมีกรอบด้านกฎหมายที่ครอบคลุมปัจจัยต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพอยู่แล้ว เช่น ข้อบังคับ Renewable Energy Directive ll ซึ่งกำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนของอียูไว้ที่อย่างน้อย 32% ภายในปี ค.ศ. 2030 และจะต้องเป็นพลังงานทดแทนที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ไฮโดรเจน รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อมาแทนพลังงานทดแทนแบบเดิมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หนึ่งในตัวอย่างเชื้อเพลิงชีวภาพที่อียูมองว่าทำลายสิ่งแวดล้อมคือ น้ำมันปาล์ม โดยอียูมองว่าการปลูกปาล์มส่งผลทำลายพื้นที่ป่า ดังนั้น อียูจึงได้ประกาศให้มีการลดการใช้น้ำมันปาล์ม และให้เลิกใช้ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2030

อีกประเด็นที่น่าจับตามอง คือ อียูจะผลักดันให้บริษัทและองค์กรต่างๆ ภายใต้ข้อบังคับ Non-Financial Reporting Directive ให้มีการจัดทำ Sustainable Corporate Governance เพื่อเผยแพร่แนวทางปฏิบัติขององค์กรในเรื่องสิทธิมนุษยชน ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมส่วนรวม

อียูเตรียมจะออกแนวทางปฏิบัติเพื่อให้แต่ละประเทศสมาชิกดำเนินการและบังคับใช้กฎระเบียบอย่างเข้มงวดภายในปีหน้า และจะทำการประเมินอีกครั้งในปี ค.ศ. 2024 ว่ากฎระเบียบและข้อบังคับเดิมเหล่านี้ลำพังจะช่วยให้อียูสามารถบรรลุเป้าหมายใหม่ที่ตั้งไว้ได้หรือไม่ ซึ่งอียูอาจจะต้องมีการปฏิรูปหรือเสนอร่างกฎระเบียบใหม่ในอีก 4 ปีข้างหน้าก็เป็นได้

อียูกำลังเร่งรัดการยกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม และวิกฤตโควิดก็เป็นตัวกระตุ้นให้อียูยิ่งผลักดันนโยบายสีเขียวทั้งในภูมิภาคของตนและในเวทีระหว่างประเทศ ดังนั้น ไทยก็ต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับเทรนด์สีเขียว ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดสำคัญของขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

 ที่มา

https://eur-lex.europa.eu/resource.html?uri=cellar:a3c806a6-9ab3-11ea-9d2d-01aa75ed71a1.0001.02/DOC_1&format=PDF

https://ec.europa.eu/environment/nature/biodiversity/strategy/index_en.htm

https://www.pwc.co.uk/assets/pdf/wef-biodiversity-and-business-risk.pdf