คุ้มหรือไม่ บินโลว์คอสต์

คุ้มหรือไม่ บินโลว์คอสต์

ถือเป็นประเด็นกันในสัปดาห์นี้เกี่ยวกับการเลื่อนตั๋วเครื่องบินของสายการบินราคาประหยัดแห่งหนึ่ง หลังจากออกขายตั๋วแบบบุฟเฟ่ต์ ที่ใช้ได้ไม่จำกัด

สายการบินราคาประหยัดเติบโตอย่างมากในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เพราะตอบโจทย์วิถีชีวิตของชนชั้นกลางใหม่ที่ชอบท่องเที่ยว จำนวนชนชั้นกลางที่มากขึ้น และระบบการบริหารจัดการที่ชาญฉลาด มีความประหยัดและใช้กลยุทธ์ราคาเป็นที่ตั้ง

สายการบินราคาประหยัดเหล่านี้มีทั้งข้อดีและเสียมากมาย ข้อดี คือ ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวนี้สะดวก รวดเร็ว และประหยัดมากขี้น โดยเฉพาะหากผู้ซื้อมีการวางแผนหรือเข้าใจหลักการการตั้งราคาของสายการบินเหล่านี้ ที่ตั้งสูงเมื่อมีอุปสงค์หรือความต้องการมาก เช่นช่วงหยุดยาว หยุดสุดสัปดาห์ และราคาต่ำในช่วงที่ความต้องการต่ำ เช่น ช่วงฤดูมรสุม ช่วงกลางสัปดาห์

ข้อเสียของสายการบินราคาประหยัดเหล่านี้ คือ ความไม่แน่นอนของเที่ยวบิน ที่อาจจะถูกเลื่อนโดยสายการบินได้ ทำให้แผนการเดินทางต้องปรับโดยกระทันหัน กลยุทธ์การตั้งราคาแบบขั้นบันได และแยกส่วนในการขายก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก อาทิ การแยกขายในส่วนของกระเป๋าเดินทาง และค่าธรรมเนียมพิสดารต่างๆ อาทิ ค่าธรรมเนียมในการพิมพ์ตั๋วโดยสารในสายการบินบางสายในยุโรป

เหตุผลที่โมเดลธุรกิจของสายการบินราคาประหยัดเหล่านี้อยู่รอดในอุตสาหกรรมการบินที่แข่งขันอย่างดุเดือดไม่ใช่เพียงแต่เป็นโมเดลทางธุรกิจที่ดีแต่เพียงเท่านั้น ผู้บริหารและนักการตลาดที่ฉลาดถือเป็นฟันเฟืองอันสำคัญอย่างแท้จริง

เหตุการณ์ในอดีตในหลายเหตุการณ์ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า สายการบินราคาประหยัดเหล่านี้ฉลาดและเอาตัวรอดได้ดีมาก อาทิ การขายตั๋วราคาถูกมาก แต่ได้กำไรจากราคาค่าขนส่งสัมภาระที่เกิดขึ้นในยุโรป การเลื่อนตั๋ว หรือกรณีล่าสุดที่หลังจากขายตั๋วบุฟเฟ่ต์ แล้วจึงประกาศค่าธรรมเนียมการขนสัมภาระที่ไม่เคยเกิดขึ้น (ในไทย) มาก่อน เป็นต้น

ความคิดว่าคุ้มค่าหรือรู้สึกว่าได้เปรียบที่เกิดขึ้นในหัวของผู้ซื้อเมื่อเห็นราคาหรือโปรโมชั่นต่างๆ อาจจะไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะนั่นคือหน้าที่ของนักการตลาด และก็เป็นหน้าที่ของนักการตลาดต่อไปที่เมื่อขายโปรโมชั่นเหล่านั้นได้แล้ว ได้กระแสเงินสดเข้าบริษัทแล้ว จะทำอย่างไรต่อเพื่อให้การขายนั้นๆ ไม่ขาดทุน จึงเกิดค่าธรรมเนียมพิศดาร หรือการเปลี่ยนแปลงในค่าธรรมเนียมต่างๆ ขึ้นหลังจากการขายรอบใหญ่สิ้นสุดลงแล้ว

ความไม่สามารถในการออกบินได้ในช่วงของการระบาดของโรคโควิด-19 ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากเรื่องของการคืนเงินค่าตั๋ว ซึ่งก็เกิดขึ้นในทุกสายการบินที่มักจะใช้เวลาล่าช้าในการคืนเงิน ตลอดจนการคืนเงินนั้นไม่เต็มจำนวนเพราะเกิดค่าธรรมเนียมขึ้น หรือแม้กระทั่งการคืนตั๋วในรูปแบบเครดิตเพื่อให้กลับมาบินกับสายการบินนั้นๆ

สายการบินราคาประหยัดทั้งในไทยและต่างประเทศก็ต่างถูกต่อว่าเรื่องค่าธรรมเนียมหรือกลยุทธ์เช่นนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ยังคงดำเนินกิจการและยังเติบโตได้ด้วยดี ส่วนหนึ่งก็เพราะยังคงตอบโจทย์กับผู้โดยสารในยุคปัจจุบัน การตั้งราคาเริ่มต้นที่ย่อมเยาทำให้เกิดความรู้ว่าในใจผู้ซื้อว่าเข้าถึงได้ง่าย และการบินระยะสั้นที่ไม่ต้องการความหรูหราสะดวกสบายมากมายเมื่อเทียบกับการเดินทางระยะยาวนั่นเอง

ความคิดแบบ “คุ้มมากๆ” ของผู้ซื้อตั๋วโดยสารจึงควรมาพร้อมกับความละเอียดรอบคอบ การศึกษาเงื่อนไขให้ดี และความเข้าใจในโมเดลธุรกิจและการบริหารงานของสายการบินราคาประหยัดเหล่านี้ เพราะในทางธุรกิจแล้ว การทำกำไรคือเป้าหมายต้นๆ ขององค์กร อะไรที่มันดีเกินจริงหรือถูกเกินคาดควรจะถูกตรวจสอบด้วยสติสัมปชัญญะและความไม่โลภครับ