‘อีอีซี’จะไปทางไหน เมื่อไร้ขุนพลที่ชื่อ‘สมคิด’

‘อีอีซี’จะไปทางไหน  เมื่อไร้ขุนพลที่ชื่อ‘สมคิด’

โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)เป็นโครงการที่สำคัญในการพลิกประเทศไทยให้กลับมายืนอยู่บนแผนที่การลงทุนโลกอีกครั้ง

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไทยขาดมาตรการส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ และมาตรการดึงดูดการลงทุนที่ชัดเจนมานานขาดการลงทุนโครงการสร้างพื้นฐานาเป็นระยะเวลานาน

หลังจากที่รัฐบาลได้ผลักดันโครงการ อีอีซี ขึ้นมาในปี 2558 ก็เริ่มกลับมาสู่เวทีการลงทุนของโลกอีกครั้งโดยในช่วงเริ่มต้นต่างชาติยังไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร เพราะที่ผ่านมาหลายรัฐบาลก็มีแผนที่จะปัดฝุ่นโครงการอิสเทิร์นซีบอร์ด กลับขึ้นมาต่อยอดการลงทุนอีกครั้ง แต่ก็ขาดแผนและการผลักดันที่ชัดเจน ทำให้ต่างชาติขาดความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยจะทำอย่างจริงจัง

ดังนั้นนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในฐานะผู้ที่ริเริ่มโครงการอีอีซีและเดินหน้าผลักดันอย่างเต็มตัว ก็ใช้ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับรัฐบาลจีนเดินทางไปโปรโมทการลงทุนที่ประเทศจีนจนทำให้เกิดการตื่นตัว และเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นประเทศคู่ค้าและผู้ที่เข้ามาลงทุนเก่าแก่ของไทย ให้กลับมารื้อฟื้นขยายการลงทุนในไทยอีกครั้ง ก็ได้รับการตอบสนองที่ดีจนทำให้เกิดปรากฎการณ์ครั้งสำคัญที่รัฐบาลญี่ปุ่นและจีนรวมทั้งนักลงทุนทั้ง 2 ประเทศ ประกาศจับมือร่วมกันเข้ามาลงทุนใน อีอีซีจึงทำให้การลงทุนในอีอีซี กลับมาคึกคักจนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตามการที่รัฐบาลไทยเปลี่ยนขุนพลกลางศึกโละทีมเศรษฐกิจที่เป็นผู้ปลุกปั้น อีอีซี ออกไป ทำให้ต่างชาติเกิดคำถามมากมายว่า อีอีซี จะเป็นอย่างไร จะไปในทิศทางไหน และการส่งเสริมจะยังคงเข้มข้นเหมือนเดิมหรือไม่ทำให้เกิดการชะงักงันของการลงทุน ประกอบกับภาวะโควิด-19 ที่ฉุดเศรษฐกิจทั่วโลก จึงทำให้นักลงทุนต่างรอดูความชัดเจนของทีมเศรษฐกิจใหม่ของไทย ว่าจะประกาศความชัดเจนในเรื่องอีอีซี อย่างไร

จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHAผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ใน อีอีซี ก็ได้ให้ความเห็นว่า ในช่วงรอยต่อนี้ นักลงทุนต่างชาติก็ได้แสดงความกังวลสอบถามมามากในเรื่องความชัดเจนของ อีอีซี ต่อจากนี้ ก็ได้ให้ความมั่นใจว่า แม้จะเปลี่ยนรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลในเรื่อง อีอีซี แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรียังคงดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)เป็นผู้ผลักดัน อีอีซี ตั้งแต่เริ่มต้น ก็จะยังคงเดินหน้าโครงการอีอีซีต่อไป เพราะเป็นโครงการหลักที่จะยกระดับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว รวมทั้ง อีอีซี ยังมีพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เข้ามารองรับ ไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลไปอย่างไรก็จะต้องเดินหน้าต่อ

คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่ได้ผลักดันมาตั้งแต่เริ่มต้น และรู้ยุทธศาสตร์ของอีอีซีเป็นอย่างดี และมีความชัดเจนในการดำเนินการ ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงยังคงขับเคลื่อน อีอีซี อย่างต่อเนื่อง จึงมั่นใจว่า อีอีซี จะยังคงเดินหน้าอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ ยังได้มีการลงนามสัญญาโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ไปแล้ว 4 โครงการ จาก 5 โครงการ ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการขยายท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 โครงการขยายท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และโครงการสนามบินอู่ตะเภาหากเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2564 ก็จะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ

หากได้ผู้ที่มี่ความรู้ความสามารถเข้ามาสานต่อ และออกมาประกาศความชัดเจนของโครงการ อีอีซีจะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน จะทำให้เกิดการลงทุนอย่างต่อเนื่องและทำให้อีอีซี เดินหน้าไปสู่จุดหมายได้ในที่สุด