ตลาดหุ้นไทยในช่วงพักชั่วคราว

ตลาดหุ้นไทยในช่วงพักชั่วคราว

ภาพรวมการลงทุนตลาดหุ้นไทย ส.ค. คาด Sideway นักลงทุนจะเลือก Wait & See

ปัจจัยที่ต้องติดตามในช่วงต้นเดือน ส.ค.2563 หลายปัจจัยมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนในตลาดหุ้น และอาจทำให้ดัชนี SET index มีความผันผวนสูงได้ ขณะเดียวกัน Valuation ของดัชนี SET index ที่อยู่ในระดับที่ 'ไม่ถูก' มากนัก หากพิจารณาในมิติของ PE ratio (ระหว่างที่ผมเขียนบทความนี้ Trailing PE ของ SET index เท่ากับ 19.4 เท่า และมีโอกาสสูงขึ้นอีกหลังการรายงานผลการดำเนินงานงวด 2Q63 ครบทุกบริษัท ส่วน Forward PE เท่ากับ 21.7 เท่า) และยังมีความเสี่ยงที่กำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยต้องถูกปรับลดประมาณการกำไรลงได้อีก หากสถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ใน 3Q63 โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ... อย่างไรก็ดีเราเคยวิเคราะห์ไปในบทความก่อนก่อนหน้านี้หลายฉบับแล้ว ว่าควรพิจารณาถึงมิติอื่นๆในการ ตัดสินใจลงทุนในตลาดหุ้นด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของ สภาพคล่องในตลาดการเงินและอัตราดอกเบี้ย ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Valuation ของตลาดหุ้นทั่วโลกยืนอยู่ในระดับพรีเมี่ยมขณะนี้ 

ปัจจัยแรกที่ต้องติดตามในช่วงต้นเดือน ส.ค. คือ การปรับ ครม. โดยเฉพาะกระทรวงสำคัญๆอย่าง กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน ซึ่งในช่วงการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีอาจทำให้เกิดช่วงสุญญากาศของการขับเคลื่อนนโยบาย และรวมถึงความเสี่ยงที่จะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายต่างๆ อาทิ นโยบายหลักๆของกระทรวงพลังงาน อย่างเช่น การปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (แผน PDP), โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน, การใช้ไบโอดีเซลบีและเอทานอล ฯลฯ เป็นต้น ดังนั้นในช่วงของการปรับ ครม. จึงมีความเสี่ยงในเรื่องของโอกาสที่จะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายต่างๆ อาจทำให้เกิด Sentiment เชิงลบ / บวกต่อหุ้นในบางกลุ่มได้ ... อย่างก็ดีสำหรับโครงการหลักๆของรัฐบาล อย่าง โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (โครงการ EEC) และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ น่าจะยังคงเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลต่อไป

ปัจจัยต่อมาคือ ความเสี่ยงเรื่องการปรับประมาณการ GDP ของไทยลงอีก หลังจากที่การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในต่างประเทศยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้โอกาสในการเปิดการท่องเที่ยวในรูปแบบ Travel bubble อาจจะต้องมีการเลื่อนออกไปล่าช้ากว่าเดิมที่คาดว่าจะสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ในต้น 4Q63 และจะเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มที่เกี่ยวข้องโดยตรงอาทิ หุ้นกลุ่มโรงแรม สายการบิน ค้าปลีก เป็นต้น และอาจกระทบไปถึงหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากการฟื้นตัวขอเศรษฐกิจล่าช้าออกไปจากที่คาดการณ์ไว้เดิม 

ปัจจัยที่สำคัญในเดือน ส.ค. อีกประการที่จะกระทบต่อการพิจารณาลงทุนในตลาดหุ้นไทย สำหรับช่วง 2H63 คือ การรายงานผลการดำเนินงาน 2Q63 ของบริษัทจดทะเบียนไทย ที่คาดว่าจะเริ่มเห็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และนำไปสู่การใช้มาตรการล็อคดาวน์ในหลายประเทศทั่วโลกอย่างเต็มไตรมาส ขณะเดียวกันดัชนี SET index ที่ปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ได้สะท้อนไปถึงความคาดหวังการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานภายหลังผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ไปพอสมควรแล้ว ดังนั้นปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวชี้วัดว่าราคาหุ้นจะ Sideway up ปรับขึ้นต่อใน 2H63 ได้หรือไม่ จะขึ้นอยู่กับการให้ข้อมูลและมุมมองถึงแนวโน้มของธุรกิจใน 2H63 และปี 2564 จากผู้บริหารในการประชุมนักวิเคราะห์ภายหลังการรายงานผลการดำเนินงาน 2Q63 และผมประเมินว่ามุมมองของผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนในรอบนี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละบริษัท และแต่ละอุตสาหกรรมฯ ซึ่งจะทำให้เกิดการ Selective buy (sell) อย่างชัดเจนขึ้น และทำให้ภาพรวมของดัชนี SET index แกว่งตัว Sideway มากกว่าที่จะปรับขึ้น เนื่องจากคาดว่าจะมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มฟื้นตัว และกลุ่มอุตสาหกรรมที่แนวโน้มยังชะลอตัว จึงคาดว่าจะเกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรม หรือ 'Sector rotation' ที่ชัดเจนขึ้นในช่วงเดือน ส.ค.นี้ ... แนะนำให้ติดตามบทวิเคราะห์ของฝ่ายวิจัยฯ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) ที่จะทยอยอัพเดทสถานการณ์ของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมภายหลังการประชุมนักวิเคราะห์ในเดือน ส.ค.นี้

สำหรับภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเดือน ส.ค. โดยสรุป คาดว่าจะ Sideway และนักลงทุนจะเลือก Wait & See เพื่อรอพิจารณาปัจจัยต่างๆที่กล่าวถึงในข้างต้น เพื่อถ่วงน้ำหนักของแต่ละปัจจัยว่าจะมีผลต่อแนวโน้มการลงทุนใน 2H63 อย่างไร แต่ด้วยผลของสภาพคล่องที่ยังคงล้นตลาดการเงินทั่วโลก และอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง เราประเมินว่าในกรณีเลวร้ายที่ปัจจัยทั้งหมดข้างต้นพลิกกลับเป็นลบพร้อมกันหมด ดัชนี SET index จะเกิดการพักฐานในช่วงปลาย ส.ค. แต่การพักฐานไปบริเวณ 1,300 จุด หรือต่ำกว่า จะเป็นโอกาสในการเข้าซื้อสะสมหุ้นไทยอีกครั้ง โดยเน้นไปที่หุ้นปัจจัยพื้นฐานดี และมีภาระหนี้สินในระดับต่ำ ซึ่งจะสามารถเอาตัวรอดได้ในช่วงวิกฤตโควิด-19