กัมพูชาภายใต้การเปลี่ยนแปลงเมื่อจีนเข้ามา

กัมพูชาภายใต้การเปลี่ยนแปลงเมื่อจีนเข้ามา

ในกระบวนประเทศอาเซียนที่เป็นมิตรกับจีนมากที่สุดก็คือ กัมพูชา จีนคือความหวังของฮุนเซ็นและพลพรรค

ไม่เพียงแต่ประกันความเจริญรุ่งเรืองของประเทศในอนาคต แต่ยังเป็นความอยู่รอดสืบไปของระบอบด้วย 2 เรื่องนี้อาจเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนแต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นเรื่องที่เป็นมานานแล้ว และทุกวันนี้กลุ่มก้อนที่แตกแยกกันในกัมพูชาก็จำเป็นต้องรับกับสภาพที่ทั้งประเทศและระบอบฮุนเซ็นมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้ปีกของจีน กระนั้นก็ตาม ผู้นำที่เหลี่ยมลึกก็ต้องนำพาประเทศให้ได้สมดุลระหว่างฝักฝ่ายในกัมพูชา และกับความขัดแย้งระหว่างจีนกับพวกตะวันตกด้วย

กัมพูชาที่ดูเหมือนจะยืนหยัดด้วยลำแข้งของตนเองได้ยากยิ่งเมื่อสงครามกลางเมืองสงบเมื่อปี 2534 นั้นก้าวมาไกลมาก  ในยุคนั้นประเทศยังอยู่ได้ด้วยเงินบริจาคจากชาติตะวันตก ขุนศึกเขมรแดงยังกุมอำนาจและเศรษฐกิจชายแดน ขณะที่ในเมืองใหญ่กลางประเทศ ฮุนเซ็นกระชับอำนาจของตนเองด้วยการทำรัฐประหารปี 2540 ตอนนั้นประเทศดูแย่ก็จริง แต่ฮุนเซ็นไม่โง่ เขาไม่ทิ้งชาติตะวันตกและอาเซียน กัมพูชาจึงค่อยๆ พัฒนาเรื่อยมา ขณะเดียวกันเขาก็ค่อยๆ คืบคลานเข้าไปยึดอาณาจักรเขมรแดงจนหมดภายใน 10 ปี ปัจจุบันเครือข่ายของฮุนเซ็นครองอิทธิพลทั่วประเทศอย่างไม่มีใครทาบได้ ถ้าจะยกเว้นก็เพียงเครือข่ายของเตียบันทางทิศหรดีเท่านั้น ที่ฮุนเซ็นยังเกรงใจในความเก๋าในกองทัพและความนิยมในชาวบ้านอยู่บ้าง

ยุทธศาสตร์ของฮุนเซ็นที่ต้องใช้กำปั้นเหล็กจัดการกับผู้เห็นต่างทำให้เขาเป็นปรปักษ์โดยพฤตินัยกับฝ่ายนิยมคุณค่ายึดถือสิทธิมนุษยชน ชาติตะวันตกกดดันเขามากขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสที่สมัยหนึ่งยุโรปคิดว่าสมรังสีนั้นเกือบจะเท่ากับอองซานซูจีของพม่า ฮุนเซ็นจึงหันมาเอาจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามยุทธศาสตร์ของจีนที่ขยายอิทธิพลในพื้นที่หลังบ้านตนเองแรงมากในช่วง 15 ปีหลังมานี้  เรื่องราวแบบที่สหรัฐฯ ตัดเงินช่วยเหลือหรือยกเลิกการฝึกซ้อมรบกับกัมพูชา กัมพูชาก็ไปเอาจากจีนแทน ไม่ใช่แค่นั้น ฮุนเซ็นเห็นว่าจีนนี่แหละที่จะสร้างความเจริญให้กับประเทศได้จริง ต่างจากเงินบริจาคของฝรั่งที่ลงไปอยู่ในกระเป๋าของขุนศึกท้องถิ่นเสียเกือบหมด อีกทั้งไหนๆ ก็ห้ามจีนไม่ได้อยู่แล้ว เฮไปด้วยเสียเลย เราจึงได้เห็นทุนจีนครองนครเขมรอย่างท่วมท้น ความเจริญเกิดขึ้นได้จริง คนเขมรอาจเป็นแค่คนชายขอบยิ่งกว่าเดิม แต่เขาก็ยังมีความหวัง ต่างจากแบบเดิมที่พัฒนาได้ยาก

ทุนจีนที่มาทำให้ผู้มีอันจะกินของกัมพูชา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเครือข่ายขุนศึกพ่อค้าสงครามต้องหวั่นไหวไม่มากก็น้อย เพราะสัมปทานการลงทุนจากต่างประเทศที่กำลังรุกคืบเข้ายึดหลายพื้นที่ในกัมพูชานั้นเกี่ยวพันกับเครือข่ายฮุนเซ็นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทำให้ระบอบฮุนเซ็นแข็งแกร่งยั่งยืนขึ้น ระบบแบบเดิมๆ ของเจ้าพ่อถูกท้าทายด้วยการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ความทันสมัยกว่าทำให้คนรุ่นใหม่พึงใจในระบอบฮุนเซ็นมากขึ้นด้วยซ้ำ การเปลี่ยนตัวเดินเกมให้ฮุนมาเน็ต ที่มีภาพลักษณ์คนหนุ่มทันสมัยออกโชว์มากขึ้น นั้นจับใจเยาวชนคนรุ่นใหม่ เกิดผลดีต่อเครือข่ายของฮุนเซ็นกว่าเดิม

ฮุนมาเน็ตยังเป็นตัวถ่วงดุลสำคัญระหว่างจีนกับสหรัฐฯ อีก เวลานี้รัฐบาลวอชิงตันกดดันสมาชิกพรรครัฐบาลกัมพูชาอย่างหนัก เพราะการที่ฮุนเซ็นเล่นงานพรรคกู้ชาติของกึมโซ๊ะคาอย่างไม่เผาผีถึงขนาดเอาติดคุกไม่ให้เลือกตั้งแข่ง ความไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้งนั้นทำให้ชาติตะวันตกอยู่ไม่เฉย ต้องคว่ำบาตรฝ่ายฮุนเซ็นไม่มากก็น้อย ยิ่งมาตรวจจากดาวเทียมพบว่าจีนไม่ใช่แค่สร้างเมืองใหม่ให้กัมพูชา แต่ถึงขั้นอาจเช่าบางจุดทำเป็นฐานทัพของตนเองแบบที่ดำเนินการมาแล้วที่จีบูติ สหรัฐฯ ยิ่งยอมไม่ได้ กระนั้นก็ตาม รัฐบาลพนมเปญก็ไม่ถึงขั้นอยากตัดขาดจากวอชิงตัน ฮุนมาเน็ตอดีตนักเรียนนายร้อยเวสท์ปอยท์เป็นผู้ที่สหรัฐฯ อาจให้การยอมรับในอนาคตเพราะความที่เป็นลูกศิษย์เรียนสถาบันทหารอเมริกัน ยังไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องอื้อฉาวทางการเมือง และได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่ของกัมพูชา เพนตากอน อาจเห็นประโยชน์สานสัมพันธ์ทางทหาร ขณะที่ทำเนียบขาวก็คิดถึงว่านี่คือหมากตัวสำคัญของตนในยามที่คนอื่นก็ดูเหมือนจนเข้าข้างจีนไปเสียหมด

การพัฒนาของกัมพูชาในส่วนที่ติดกับชายแดนไทยนั้นมักมีการนำร่องด้วยบ่อนคาสิโน เป็นเอนเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ที่รองรับเม็ดเงินต่างชาติ ในชั้นต้นอาจมองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่การพัฒนาที่ยั่งยืนและคนท้องถิ่นได้ประโยชน์ไม่มาก แต่การที่คนจีนที่เผชิญความกดดันในประเทศของตัวเองอย่างหนักกำลังหลั่งไหลเข้ามาสร้างสวรรค์ของตนเองในประเทศนี้อย่างค่อนข้างเสรีนั้น ทำให้เม็ดเงินคงอยู่นานมิใช่น้อย ขณะที่คนจีนเข้ามาปักหลักถาวรมากขึ้น ชาวบ้านที่จนกว่าก็ค่อยๆ ออกจากเมืองหักร้างถางพงบุกเบิกที่ใหม่ต่อไป ยังมีพื้นที่อีกมากมายสำหรับพลเมืองที่มีน้อยมากในประเทศนี้ โครงสร้างสังคมที่กำลังแปรเปลี่ยนอาจนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนบ้าง แต่ระยะยาวแต่ละเชื้อชาติน่าจะหลอมเข้ากันได้ด้วยการบังคับวิถีที่เข้มแข็งของรัฐ