Covid-19 กับปัญหาหนี้สาธารณะของไทย

Covid-19 กับปัญหาหนี้สาธารณะของไทย

วิกฤติ Covid-19 ได้สร้างปัญหาการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก และเรายังไม่รู้ว่าปัญหานี้จะอยู่กับเราอีกนานแค่ไหน เมื่อกระแสเงินสดหยุดชะงัก

ความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ของทั้งธุรกิจและภาคครัวเรือนก็เริ่มปัญหา ไม่เพียงแต่ภาคเอกชนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ ภาครัฐในประเทศต่างๆ ก็ต้องใช้จ่ายเพื่อเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้รัฐบาลในหลายประเทศต้องกู้เงินมหาศาลเพื่อชดเชยการขาดดุลที่เพิ่มขึ้น

IMF ประมาณการไว้ว่าทั้งโลกมีการอัดฉีดด้านการคลังเพื่อรับมือกับวิกฤติรอบนี้ไปแล้วกว่า 9 ล้านล้านดอลลาร์ หรือกว่า 6% ของ GDP ทั้งโลก (และอาจจะสูงขึ้นได้อีกในอนาคต) และระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ในปีนี้ของทั้งโลกอาจจะขึ้นไปอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์และสูงกว่าระดับหนี้หลังสงครามโลกครั้งที่สองเสียอีก

ระดับหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นจะกลายเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับหลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย

ถ้าเราดูระดับหนี้สาธารณะเมื่อสิ้นปีที่แล้วก่อนเกิดปัญหา Covid-19 ระดับหนี้สาธารณะรวมอยู่ที่ 6.9 ล้านล้านบาท หรือ 41.9% ของ GDP ซึ่งก็ถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

ตัวเลขล่าสุด ณ สิ้นเดือนพ.ค. ระดับหนี้สาธารณะขึ้นไปอยู่ที่ 7.3 ล้านล้านบาท หรือ ประมาณ 44.1% ของ GDP แต่นั่นคือเราใช้ตัวเลข GDP เก่า ถ้าเราเชื่อว่า GDP ปีนี้อาจจะหดตัวจากปีก่อน 9% สัดส่วนหนี้สาธารณะปัจจุบัน จะขึ้นไปอยู่ที่ 48% ของ GDP แล้ว และหนี้สาธารณะกำลังจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างรวดเร็วทั้งจากการขาดดุลที่วางแผนไว้ตามงบประมาณ หนี้ที่จะเพิ่มขึ้นจาก พรบ. กู้เงิน หนึ่งล้านล้านบาท การขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติมจากรายได้ภาษีที่ต่ำกว่าประมาณการ ทั้งจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการเลื่อนหรือลดภาษีให้กับประชาชน จากข้อมูลกรมสรรพากร แค่เก้าเดือนแรกของปีงบประมาณ กรมสรรพากรมีรายได้ต่ำกว่าประมาณการไปแล้วกว่าสองแสนล้านบาท (เกือบ 10% ของรายได้รัฐบาลรวม) และคาดว่ากรมจัดเก็บอื่นๆ ก็คงมีรายได้ต่ำกว่าเป้าเช่นกัน

ด้วยการขาดดุลงบประมาณที่เราวางแผนไว้ในปีงบประมาณหน้า คาดว่าหนี้สาธารณะภายในปีหน้าอาจจะขึ้นไปแตะเกือบๆ 60% ของ GDP หรือเกินกว่านี้ได้ ถ้าเรามีการขาดดุลมากกว่าที่คาดไว้ หรือถ้า GDP โตช้ากว่าที่คาด

ประเทศไทยตั้งกรอบหนี้สาธารณะไว้ไม่ให้เกิน 60% ของ GDP แต่หากมองจากกรอบความยั่งยืนทางการคลัง สิ่งที่น่าจะสนใจ อาจจะไม่ใช่แค่ระดับหนี้เท่านั้น แต่มีอีกสามประเด็นสำคัญ คือ 

หนึ่ง การสร้างหนี้เป็นการสร้างหนี้ที่ดี ที่ทำไปเพื่อประโยชน์ของเศรษฐกิจประเทศหรือไม่ 

สอง ภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายบนหนี้เป็นภาระต่อเงินงบประมาณจนไม่สามารถนำเงินไปใช้ในสิ่งจำเป็นเพื่อพัฒนาประเทศหรือไม่

สาม คือ ประเทศจะรักษาระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่ให้เพิ่มขึ้นแบบไม่หยุดได้หรือไม่

ทั้งสามประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญแค่สามอย่าง คือ 

หนึ่ง อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต ถ้าการสร้างหนี้ทำไปในสิ่งจำเป็น ทำให้เศรษฐกิจโตได้ หรือกันไม่ให้เศรษฐกิจตกต่ำ ก็ถือเป็นการสร้างหนี้ที่ดี 

สอง อัตราดอกเบี้ย ด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าในอดีตค่อนข้างมาก ภาระดอกเบี้ยจ่ายลดลงไปมาก และจะทำให้ยอดหนี้เพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลง 

สาม คือ ดุลงบประมาณขั้นต้น (ดุลงบประมาณที่ไม่รวมดอกเบี้ยจ่าย) ในอนาคต ถ้าเราทำงบประมาณขาดดุล และกู้เงินมาใช้ในวันนี้ เราต้องมีวินัย โดยการทำงบประมาณขาดดุลน้อยลงหรือเกินดุล โดยการลดรายจ่ายหรือขึ้นภาษีในอนาคต เพื่อ “จ่ายคืนหนี้”

ถ้าดูแบบนี้ ถ้ามีความจำเป็นจริง ๆ เพื่อเยียวยา ลดผลกระทบ และกระตุ้นเศรษฐกิจ เราก็ยังพอมีช่องว่างพอจะกู้เพิ่มได้ (โดยอาจจะต้องปรับกรอบหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น) แต่เราต้องมีวินัยด้านการคลังมากขึ้น และเราจะมีกระสุนเหลือน้อยลงหากสถานการณ์ข้างหน้าเลวร้ายกว่าที่คาด และนี่ยังไม่รวมภาระทางการคลังในอนาคต เช่น ปัญหาจากโครงสร้างประชากร และภาระที่สร้างไว้แล้วอื่น ๆ อีก

เมื่อเงินมีจำกัด ก่อนที่เราจะไปกู้เงินมาใช้ สิ่งที่เราควรทำในวันนี้ จึงควรเป็นการจัดลำดับความสำคัญของการใช้เงินตามเป้าหมายของนโยบายและทิศทางของประเทศที่อาจเปลี่ยนไป การจัดงบประมาณแบบเดิมๆ การใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ไม่ช่วยสร้างงาน ไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ (เช่น การอบรมสัมมนาดูงานต่างประเทศ การซื้ออาวุธ ซื้อพาหนะที่มีความจำเป็นน้อย) ควรได้รับการทบทวน และลำดับความสำคัญแบบจริงๆ จังๆ และลดการรั่วไหลของเงินงบประมาณเพื่อให้เม็ดเงินลงไปตามเป้าหมายได้มากที่สุด

...ผู้เสียภาษีทุกคนควรช่วยกันถามนะครับว่า วันนี้เราทำครบแล้วหรือยัง?