ฤานี่คือจุดเปลี่ยน

ฤานี่คือจุดเปลี่ยน

หลังจากที่เราได้กล่าวเตือนว่า โลกของการลงทุนกับโลกแห่งความจริงทางเศรษฐกิจแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และเป็นไปได้ที่จะเห็นภาพการลงทุนในระยะต่อไป

จะเริ่มย่อตัวลงกลับมาสู่ปัจจัยพื้นฐานมากขึ้นนั้น เป็นไปได้ว่าเราอาจเริ่มเห็นจุดเปลี่ยนในเดือน ก.ค. นี้

แม้ตลาดหุ้นทั่วโลกจะยังให้ผลตอบแทนที่ดีในเดือนนี้ โดยขยายตัวในระดับ 1-4% ต่อเนื่องจากเดือนก่อน แต่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มเห็นสัญญาณย่อตัวลงโดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยี ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรโดยเฉพาะระยะยาว เช่น 10 ปี ปรับตัวลดลงเล็กน้อย ประกอบกับสินทรัพย์ปลอดภัยเช่นทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แม้ว่าดอลลาร์จะยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องก็ตาม ปัจจัยเหล่านี้สะท้อนว่าตลาดเริ่มไม่แน่ใจกับภาพเศรษฐกิจและการลงทุนโลกว่าจะยังขยายตัวได้ท่ามกลางปัจจัยลบที่รุมเร้าหรือไม่

SCBS มองว่า มี 3 ปัจจัยเสี่ยงที่จะกดดันเศรษฐกิจและการลงทุนโลกระยะต่อไป ดังนี้

1. การติดเชื้อระลอกสอง

แม้ตัวเลขเศรษฐกิจในปัจจุบันของหลายประเทศจะส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้น ทั้งยอดค้าปลีกและตลาดแรงงานในสหรัฐและยุโรป รวมถึง GDP จีนไตรมาส 2 ออกมาดีเกินคาดก็ตาม

แต่ในระยะต่อไป ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกจะเริ่มกลับมามากขึ้น จากการระบาดรอบ 2 ของโรค COVID-19 ที่มีมากขึ้นโดยเฉพาะในสหรัฐที่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ต่อวันยังพุ่งสูงขึ้น ทำให้มลรัฐต่าง ๆ ต้องปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น กระทบต่อความเชื่อมั่นและเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยตัวเลขเศรษฐกิจเร็วต่าง ๆ เช่น google mobility, Apple map destination และตัวเลขการจองภัตตาคารของ OpenTable ทั่วโลกสะท้อนถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง โดยเฉพาะในที่ที่มีการแพร่ระบาดสูง

อย่างไรก็ตาม การติดระลอกนี้อาจไม่น่ากังวลมากเท่าครั้งแรกใน 3 จุด คือ

(1) ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นหนุ่มสาว ทำให้อัตราส่วนผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับต่ำ

(2) ทางการและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเริ่มมีความรู้ในการจัดการกับการระบาด จึงมีการตรวจเชื้อ เสาะหาแหล่งที่มา แบ่งแยกผู้ป่วย และรักษา (Test, trace, isolate and treat) ได้อย่างดี ทำให้ความจำเป็นในการปิดเมืองทั้งเมือง (Total lockdown) ดังเช่นในช่วงเดือน เม.ย. ลดลง และ

(3) ประชาชนเริ่มเรียนรู้ที่จะอยู่กับ COVID -19 มากขึ้น มีการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่างระหว่างกันมากขึ้น ขณะที่เครื่องไม้เครื่องมือด้านสาธารณสุขก็มีเพิ่มขึ้น ไม่ขาดแคลนมากเท่าในช่วงการติดระลอกแรก เป็นเหตุให้อัตราผู้เสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำ

2. มาตรการการเงินการคลังภาครัฐ เริ่มลดทอนลง

ในส่วนมาตรการการคลัง การอัดฉีดที่เพิ่มขึ้นในระดับ 12% GDP ทั่วโลกทำให้มีความกังวลถึงหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้น ขณะที่ในสหรัฐ มาตรการด้านการคลังเพื่อสนับสนุนรายได้แก่แรงงานสหรัฐที่ถูกพักงาน (Unemployment benefit) กำลังจะหมดลงในสิ้นเดือนนี้ ซึ่งหากไม่มีการต่ออายุ เศรษฐกิจอาจประสบปัญหาอีกครั้ง  

ขณะที่ในหลายประเทศ ปัญหาการเมืองทำให้ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการขาดมติเอกฉันท์ระหว่างรัฐบาลในสหภาพยุโรปในประเด็นกองทุนสนับสนุนการฟื้นฟูยุโรปหรือ EU Recovery fund ที่มีวงเงินกว่า 7.5 แสนล้านยูโร รวมถึงปัญหาสุญญากาศทางการเมืองโดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจในไทยเอง

ปัญหาเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจและตลาดการเงินยังต้องหันพึ่งมาตรการการเงิน ซึ่งแม้ว่าธนาคารกลางส่วนใหญ่ส่งสัญญาณต่อเนื่องว่าพร้อมจะทำนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลาย แต่ก็เริ่มลดระดับการผ่อนคลายลง

ในสหรัฐ ธนาคารกลาง (Fed) ได้ลดทอน QE ลง จากไม่จำกัดจำนวนเป็นจำกัดที่ 1.2 แสนล้านดอลลาร์ต่อเดือน และเริ่มพิจารณามาตรการ Yield curve control (หรือการคุมให้ผลตอบแทนพันธบัตรอยู่ในอัตราที่กำหนด) ซึ่งตลาดมองว่าจะทำให้ปริมาณการอัดฉีดของ Fed ลดลงในระยะต่อไป  

เช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ส่งสัญญาณว่า ช่วงเวลาแห่งการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตหมดแล้ว และหันไปให้ความสำคัญกับมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจแทน อันได้แก่การยุติการพักชำระหนี้ และการส่งสัญญาณว่าจะไม่ลดดอกเบี้ยเหลือ 0% และปิดโอกาสในการทำ QE ในปัจจุบัน เป็นการส่งสัญญาณถึงการลดทอนการสนับสนุนเศรษฐกิจในระยะต่อไป  

3. ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ยังอยู่ต่อเนื่อง

แม้ว่าความเสี่ยงสงครามการค้าโดยเฉพาะการขึ้นภาษีระหว่างสหรัฐและจีนจะบรรเทาลง หลังจากทางฝั่งจีนส่งสัญญาณซื้อสินค้านำเข้าจากสหรัฐเพิ่มขึ้น แต่ความเสี่ยงสงครามเย็นด้านอื่น ๆ ยังคงอยู่ โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์จากสหรัฐที่คว่ำบาตรผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกกฎหมายความมั่นคงของฮ่องกง ทำให้ทางการจีนตอบโต้กลับด้วยการคว่ำบาตรสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐที่มีส่วนในการออกกฎหมายเหล่านั้นเช่นเดียวกัน  

นอกจากสหรัฐกับจีนแล้ว ความขัดแย้งระหว่างจีนกับประเทศอื่น ๆ ก็มีมากขึ้นเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะกับอังกฤษ หลังจากที่อังกฤษแบนอุปกรณ์โทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องกับ 5Gของ Huawei กับออสเตรเลียที่กล่าวหาว่าจีนคือต้นตอของโรค COVID-19 และกับอินเดียในประเด็นพรมแดนทับซ้อน

นอกจากนั้น ความเสี่ยงที่โดนัลด์ ทรัมป์จะพ่ายแพ้ต่อโจ ไบเดน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต ทำให้ความเสี่ยงที่รัฐบาลไบเดนจะขึ้นภาษีนิติบุคคลที่เคยลดลงในสมัยของทรัมป์มีมากขึ้น ซึ่งจะกดดันเศรษฐกิจและการลงทุนในช่วงต่อไป

ความขัดแย้งเหล่านี้ แม้จะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรงในปัจจุบัน แต่ก็ทำให้ความเสี่ยงมีมากขึ้นและกระทบต่อการลงทุน

จากปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ Valuation ของสินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวเพิ่มขึ้นเกินปัจจัยพื้นฐานไปมากแล้ว ทำให้เป็นไปได้สูงที่ราคาสินทรัพย์เสี่ยงจะย่อตัวลงในช่วงต่อไป

ดังนั้น นักลงทุนจะต้องเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น โดยอาจเลือกลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี ลดการลงทุนในตลาดหุ้นไทยที่มีความไม่แน่นอนด้านนโยบายการเงินการคลังมากขึ้น และเพิ่มการลงทุนในทองคำเพื่อประกันความเสี่ยงที่จะมีมากขึ้นในระยะต่อไป