อเมริกาไม่ยอมแพลตฟอร์มต่างชาติ แล้วประเทศไทยล่ะจะสู้ไหม?

อเมริกาไม่ยอมแพลตฟอร์มต่างชาติ แล้วประเทศไทยล่ะจะสู้ไหม?

ควบคู่ไปกับการแบนเทคโนโลยีจากหัวเว่ยโดยสหรัฐและกลุ่มประเทศพันธมิตรการที่สหรัฐกำลังจะแบนติ๊กต็อกก็ได้ตกเป็นกระแสที่มีการถกเถียงอยู่ในวงกว้าง

ติ๊กต็อกเช่นเดียวกับหัวเว่ยเป็นธุรกิจดิจิทัลสัญชาติจีนโดยเป็นเครือข่ายสังคมประเภทวีดีโอและมีความแตกต่างจากยูทิวบ์ตรงที่เป็นการแชร์วีดีโอที่ยาวไม่เกิน15วินาที

ภายในเวลา3ปีจากการเปิดตัวติ๊กต็อกได้เติบโตอย่างรวดเร็วซึ่งไม่เพียงแต่มีผู้ใช้งานจำนวนมากในประเทศจีนแต่ยังมีผู้ใช้งานในประเทศต่างๆเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในสหรัฐมีผู้ใช้งานกว่า40ล้านคนหรือกว่า12เปอร์เซ็นต์ของประชากรและยังมีการโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อาจนับเป็นครั้งแรกที่แพลตฟอร์มต่างชาติโดยเฉพาะแพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมได้มามีบทบาทในชีวิตของชาวอเมริกัน ความกังวลของรัฐบาลสหรัฐคือข้อมูลของชาวอเมริกันที่อาจต้องตกอยู่ในมือของรัฐบาลต่างชาติ

กรณีดังกล่าวย่อมทำให้คิดถึงสถานการณ์ในประเทศไทยที่อาจเลวร้ายยิ่งกว่าสิ่งที่รัฐบาลสหรัฐเป็นกังวลสำหรับประเทศตัวเองนั่นก็คือแพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมเกือบทั้งหมดที่ถูกใช้งานโดยประชากรส่วนใหญ่ของไทยล้วนเป็นแพลตฟอร์มต่างชาติ

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากข้อมูลของชาวไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในมือของแพลตฟอร์มต่างชาติเหล่านี้แล้ว

ไม่เพียงเท่านั้นแพลตฟอร์มต่างชาติเหล่านี้ยังได้ครองตลาดในประเทศจนธุรกิจใหม่ๆของไทยไม่สามารถเข้าแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม

ดังเช่นตัวอย่างของสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ที่ได้เข้าพบกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการประกอบธุรกิจออนไลน์และการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อขอความช่วยเหลือในการปกป้องธุรกิจสตาร์ทอัพที่ได้รับผลกระทบจากแพลตฟอร์มต่างชาติ

การตัดสินใจของสหรัฐในการแบนติ๊กต็อกในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้กำลังจะสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการปกป้องตลาดท้องถิ่นซึ่งเดิมสหรัฐอยู่แต่ในสถานะของผู้ที่รุกรานตลาดดิจิทัลของประเทศอื่นแต่กลับต้องมาประยุกต์ใช้วิธีการพิสดารในปกป้องรักษาตลาดของประเทศตัวเอง

ที่ต่อไปจะกลายเป็นบรรทัดฐานที่ประเทศอื่นจะสามารถนำไปใช้ได้อย่างเท่าเทียมกันและไม่ใช่เพียงแค่การส่งเสริมธุรกิจในประเทศเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการแข่งขันแต่เป็นถึงขั้นของการแบนแพลตฟอร์มของต่างชาติเสียเลย

อย่างไรก็ตาม ที่สหรัฐสามารถทำเช่นนี้ได้ก็ต้องมีความมั่นใจว่าประเทศของตนมีความแข่งแกร่งพอที่สามารถสร้างแพลตฟอร์มของตนเองออกมาทดแทนหรือมีแพลตฟอร์มภายในประเทศที่สามารถทดแทนได้อยู่แล้วดังเช่นไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมายูทิวบ์สัญชาติอเมริกันก็ได้เริ่มทดลองการแชร์วีดีโอสั้น15วินาทีเพื่อที่จะทดแทนติ๊กต็อกโดยตรง

สงครามการค้าระหว่างสองประเทศมหาอำนาจทำให้เราสามารถมองทะลุวาทกรรมต่างๆที่สวยหรูเกี่ยวกับการค้าเสรีแต่สำหรับประเทศไทยแล้วจะได้เรียนรู้อะไรจากกรณีนี้ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้บ้าง?