ส่อง 'ความเสียหายจากโควิด' ในวงการการศึกษาโลก

ส่อง 'ความเสียหายจากโควิด' ในวงการการศึกษาโลก

ผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลต่หลากหลายมิติ วันนี้จะพูดถึงความเสียหายในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการศึกษามาเล่าสู่กันฟัง

องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประเมินถึงจำนวน ผู้ที่ได้รับผลกระทบในวงการการศึกษาจากไวรัสนี้กว่า 1,380 ล้านคนทั่วโลก หรือเกือบ 20% ของจำนวนประชากรโลกที่ 7,800 ล้านคน ซึ่งตัวเลขนี้นับรวมทั้งหมดตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด

การเว้นระยะห่างทางสังคมทำให้กิจกรรมการเรียนการสอนจำต้องปรับรูปแบบโดยเพิ่มการเรียนออนไลน์มากขึ้น ขณะที่มหาวิทยาลัยโดยเฉพาะในต่างประเทศนั้นได้รับผลกระทบโดยตรงจากจำนวนนักเรียนที่ลดลง เพราะมหาวิทยาลัยก็เป็นหน่วยธุรกิจ รายได้ที่ลดลงของมหาวิทยาลัยจึงส่งผลให้มีการปรับปรุงพัฒนาลดขนาดและเพิ่มประสิทธิภาพในองค์กร

มีการประมาณการจากมหาวิทยาลัยในอังกฤษถึงรายรับในปีการศึกษานี้ว่าอาจจะลดลงถึง 3,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งก็เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกันกับเหล่ามหาวิทยาลัยในออสเตรเลีย เพราะมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศนั้นพึ่งพารายได้ส่วนใหญ่จากนักศึกษาต่างชาติ โดยเฉพาะนักศึกษาจากจีน นักศึกษาต่างชาติเหล่านี้จำต้องเสียค่าเล่าเรียนในอัตราที่สูงมากเมื่อเทียบกับนักศึกษาในประเทศนั้น ๆ

รายได้ที่ลดลงย่อมส่งผลโดยตรงต่อการปรับองค์กรให้กระชับและมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการประมาณการว่าตำแหน่งงานกว่า 21,000 ตำแหน่งในเหล่ามหาวิทยาลัยในออสเตรเลียจะถูกเลิกจ้าง ซึ่งรวมถึงหน่วยงานด้านการพัฒนาวิจัยกว่า 7,000 ตำแหน่งทั่วประเทศ

ความเสียหายจากการเว้นระยะห่างทางสังคมนี้ส่งผลกระทบต่อองค์กรทางการศึกษาในทุกระดับ ไม่เว้นแม้แต่ มหาวิทยาลัยระดับท็อปของโลกอย่าง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่ปีที่แล้วมีรายรับเกือบ 40,000 ล้านดอลลาร์ โดยมีการประเมินว่ารายรับจะลดลงถึง 750 ล้านดอลลาร์ในปีนี้

มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯเริ่มนำร่องในการลดการจ้างงาน มหาวิทยาลัยมิชิแกนเลิกจ้างอาจารย์กว่า 300 ตำแหน่งหรือคิดเป็น 41% ของจำนวนอาจารย์ทั้งหมดในมหาวิทยาลัยหลังจากมีการประเมินรายรับที่อาจจะลดลงสูงสุดถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ นอกจากนี้ยังมีนโยบายการลดเงินเดือน การงดรับเงินเดือนหรือหยุดพักการทำงานโดยสมัครใจ การพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพขององค์กร การลดการจ้างงานใหม่ และการลดค่าใช้จ่ายอื่น ๆ

มหาวิทยาลัยเอกชนขนาดกลางถึงเล็กมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบที่หนักกว่ามหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ ที่มีชื่อเสียงและรายรับสะสมทุกปี เพราะโมเดลทางธุรกิจของมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดกลางถึงเล็กเหล่านี้พึ่งพารายได้จากค่าเล่าเรียนเกือบทั้งหมด ต่างจากมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงที่นอกจากจะเก็บค่าเล่าเรียนที่สูงแล้ว ยังมีรายได้จากแหล่งอื่น ๆ อีกมาก เช่น การพัฒนาการวิจัย การบริจาค

ถึงแม้จะยังไม่มีตัวเลขประมาณการที่ชัดเจน แต่นักวิเคราะห์หลากสำนักทั้งทางฝั่งสหรัฐและยุโรปเองต่างเห็นตรงกันว่า น่าจะมีองค์กรทางการศึกษาหลายแห่งไม่สามารถรับมือกับวิกฤตินี้และจะล้มหายตายจากจากวิกฤตินี้พอสมควร

ในเวลาแห่งความยากลำบากยังมีโอกาสและทางออกอยู่ในปลายอุโมงค์ของวิกฤตินี้ ซึ่งก็คือ วัคซีนป้องกันที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็พยายามเร่งพัฒนาและทดลองใช้เพื่อหยุดการแพร่กระจายของไวรัส และคืนปกติสุขแก่ทุกคน มหาวิทยาลัยที่อยู่รอดนอกจากจะทำหน้าที่ชี้นำสังคม ยกระดับความรู้และทักษะ ก็จำต้องทำหน้าที่ในการพัฒนาวิจัยเพื่อค้นหาและป้องกันโรคนี้และโรคอื่นๆ ต่อไป