ควรใช้โอกาสนี้…ปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

ควรใช้โอกาสนี้…ปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

เป็นที่ทราบกันดีว่าเศรษฐกิจไทยมีปัญหาด้านโครงสร้าง เพราะเราพึ่งพาเศรษฐกิจโลกมากเกินไป และจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างให้เกิดความสมดุล

ให้เศรษฐกิจภายในมีรากฐานที่มั่นคงขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน แต่ก็ยังไม่มีรัฐบาลไหนที่สามารถแก้ปัญหานี้สำเร็จ

ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนรายได้ประชาชาติ หรือ GDP ที่มาจากการส่งออกสินค้าและบริการ เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 42% มาอยู่ที่ 71% ในขณะที่สัดส่วน GDP ที่มาจากการลงทุนภาคเอกชนลดลงมากกว่าครึ่ง จาก 40% เหลือแค่ 18% และสัดส่วนการบริโภคภาคเอกชนก็ลดลงจาก 54% มาอยู่ที่ 52% 

แน่นอนการที่รายได้จากการส่งออกและท่องเที่ยวเติบโตอย่างรวดเร็วไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นเป็นสิ่งที่ต้องชื่นชม เพราะสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ดีขึ้น ที่น่าเป็นห่วงคือภาคเศรษฐกิจภายใน ที่ขยายตัวในอัตราที่ต่ำมาเป็นเวลานาน เช่น การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวเฉลี่ยเพียงปีละ 2-3% หรือ ภาคการเกษตรที่เติบโตเฉลี่ยปีละ 1% ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา

ถ้าเศรษฐกิจไทยไม่ได้รายได้จากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวเฉลี่ยปีละเกือบ 30% นับจากปี 2547 อัตราการขยายตัวของ GDP จะลดลงอย่างมีนัย เพื่อให้เห็นภาพ ถ้าเราลองคำนวณ GDP โดยไม่รวมภาคท่องเที่ยว จะพบว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวโดยเฉลี่ยเพียง 2.6% ต่อปี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เทียบกับตัวเลขจริงที่ 3.4%  การกระจุกตัวของรายได้ประชาชาติที่มาจากการส่งออกและท่องเที่ยว จึงถือเป็นความเปราะบางและความเสี่ยงที่สำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

อีกหนึ่งจุดเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้ามคือการพึ่งพาเศรษฐกิจจีนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันนี้ ตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทยคือจีน คิดเป็น 12% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด นักท่องเที่ยวอันดับหนึ่งก็มาจากจีน คิดเป็น 28% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด รวมทั้งเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) อันดับหนึ่งก็มาจากจีน คิดเป็นถึง 52% ของมูลค่า FDI ทั้งหมดในปี 2562    

ผลกระทบจากวิกฤติ COVID-19 ซึ่งทำให้รายได้จากการส่งออกและท่องเที่ยวหายไปอย่างฉับพลัน และทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวถึง -8% ในปีนี้ คือคำตอบที่ชัดเจนว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องปฎิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง

การลดการพึ่งพาเศรษฐกิจโลกไม่ได้หมายความว่าเราต้องเลิกเน้นการส่งออกและท่องเที่ยว รัฐบาลยังควรส่งเสริมภาคการส่งออกและท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ เพราะเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยและเรามีศักยภาพในการแข่งขันที่สูง แต่ควรใช้โอกาสนี้ปรับโครงสร้างการส่งออกเพื่อทำให้การฟื้นตัวเกิดขึ้นภายใต้บริบทใหม่และโอกาสที่เกิดขึ้นใหม่ เน้นส่งเสริมการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม สินค้าที่ใช้นวัตกรรม เร่งหาตลาดใหม่ๆ เพื่อลดการกระจุกตัวของตลาดส่งออก เป็นต้น

ภาคท่องเที่ยวก็เช่นกัน ควรเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มบนที่มีกำลังซื้อสูง และปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และโครงสร้างพื้นฐานทางการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐานโลก เพื่อ Rebrand ประเทศไทยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพสูง เป็นต้น

ที่สำคัญที่สุด รัฐฯ ต้องเร่งจัดทำเป้าหมายและยุทธศาสตร์ในการสร้างความเข็มแข็งให้กับเศรษฐกิจภายในและเศรษฐกิจฐานราก เพื่อทำให้การบริโภคในประเทศ การลงทุนในประเทศ และภาคการเกษตร สามารถขยายตัวได้ในอัตราที่สูงกว่าที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยลดการกระจุกตัวของ GDP ได้

หลายมาตรการชั่วคราวที่รัฐบาลกำลังทำอยู่เพื่อลดผลกระทบของวิกฤต COVID-19 เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน หรือการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศด้วยการให้เงินสมทบ เป็นมาตรการที่ดีและน่าจะทำต่อไปในระยะยาว เพื่อขยายฐานของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ

FDI เป็นอีกหนึ่งโอกาสที่มาพร้อมกับวิกฤตนี้ เพราะธุรกิจข้ามชาติเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้นกับการกระจายฐานการผลิต ประเทศไทยมีความได้เปรียบสูงทั้งในเรื่องของภูมิประเทศ โครงสร้างพื้นฐาน และโดยเฉพาะด้านสาธารณสุข รัฐฯ ควรใช้โอกาสนี้ทำการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตของประเทศ ไปสู่การผลิตที่เน้นนวัตกรรม และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการผลิต

ผมเชื่อว่าถ้าเราเริ่มทำการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เศรษฐกิจไทยจะกลับมาแข็งแกร่งกว่าเดิมในระยะยาว