วาระอนาคตของโลกหลังโควิด-19

วาระอนาคตของโลกหลังโควิด-19

โควิด-19 ฉุดให้โลกกำลังเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ นอกจากโควิด-19

จะทำให้ผู้คนทั่วโลกจำนวนไม่น้อยต้องเสียชีวิตไปแล้ว ยังทำให้คนเราจำเป็นต้องเว้นระยะและใช้ชีวิตอยู่ห่างกัน ห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศหยุดชะงัก การติดต่อทั้งภายในและระหว่างประเทศต้องปิดกั้น ธุรกิจขาดรายได้ คนบางกลุ่มตกงาน วิกฤตที่เริ่มจากระบบสุขภาพได้ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว

สมุดปกขาวเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการค้าปี 2020 รายงานฉบับสำคัญที่จัดทำขึ้นทุกปีโดยกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ได้ชี้ชัดว่าการระบาดของโควิด-19 ก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก เพราะทำให้เกิดช็อคทั้งด้านอุปทานและด้านอุปสงค์  เราได้เห็นภาพการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและการปิดกิจการแบบฉับพลันทันที นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงด้านอุปสงค์ที่ไม่พึงประสงค์ต่ออุตสาหกรรมบริการและกลุ่มสินค้าคงทน ส่งผลให้รายได้และ การจ้างงานลดลง

 จากวิกฤตการณ์ทางสุขภาพได้ส่งผลต่อเนื่องสู่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจซึ่งกำลังขยายตัวเป็นขนาดของวิกฤตที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และส่งผลกระทบต่อทุกภูมิภาคและทุกประเทศ ทั่วโลก เศรษฐกิจใหญ่อย่างจีนหดตัวถึง 6.8% ในไตรมาสแรกซึ่งหดตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปหดตัวสูงในรอบ 14 ปีที่ผ่านมาอีกทั้งในบางประเทศเศรษฐกิจหดตัวถึง 20% ซึ่งถือว่าสูงมาก ในขณะที่ประชาชนในสหรัฐอเมริกาได้รับผลกระทบจนตกงานจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนับจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ และกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ก็กำลังเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 เช่นกัน

ที่สำคัญ ณ เวลานี้ เครื่องมือนโยบายเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมอาจไม่มีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับผลที่ตามมาของโควิด-19 ได้ การดำเนินการมาตรการล็อกดาวน์ การจำกัดการเดินทางและมาตรการอื่น ๆ ส่งผลให้ความต้องการใช้บริการ เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวลดลงอย่างมาก อุตสาหกรรมการบริการจึงได้รับผลกระทบกันไปทั่วโลก ส่วนความต้องการสินค้าคงทนก็หายไปเช่นกัน เป็นผลให้การส่งออกและการผลิตลดลงอย่างรวดเร็ว ความต้องการที่อ่อนแอสร้างอุปทานที่อ่อนแอไปด้วย ครัวเรือนและบริษัททั่วโลกต่างเริ่มหันมาสะสมเงินออมไว้ล่วงหน้าเนื่องจากความไม่แน่นอน การว่างงานและรายได้ที่ซบเซาทำให้คนต้องเริ่มหันมาออม แต่การออมส่วนเกินก็จะกดดันด้านการบริโภคและการลงทุนซึ่งนำไปสู่วงจรอุบาทว์ของอุปสงค์และอุปทาน

การจะเอาชนะวิกฤติระดับโลกที่เกิดขึ้นจะต้องปรับไปสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ยืดหยุ่น (resilient economic and social system) ซึ่งจะช่วยรองรับผลกระทบและแรงกระแทกได้ โดยที่ผ่านมา โลกาภิวัตน์ได้ช่วยเพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ ผู้คน และเงินตราระหว่างประเทศ การปฏิวัติดิจิทัลทำให้โรงงานเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนจนเศรษฐกิจทั่วโลกเติบโต

อย่างไรก็ตาม โควิด-19 ทำให้กระบวนการโลกาภิวัฒน์ชะงักงัน บีบให้สังคมต้องใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม แอปเพื่อติดต่อสื่อสารกันแทนการพบเจอ ใช้การประชุมออนไลน์ในการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจต่อไปพร้อมกับรักษาระยะห่างจากสังคม

เมื่อมองไปในอนาคต วิกฤตการณ์โควิด-19 ได้มอบบทเรียนให้เราหลายประการ โดยเฉพาะในด้านความเสี่ยงของระบบโลก ซึ่งหลังโควิดมีวาระโลกที่จะต้องคิดอีกหลายประการ โดยมีวาระที่ ได้แก่

1) One World One Health ไม่มีประเทศใดปลอดภัย เมื่อมีประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ปลอดภัย วาระทางสุขภาพกลายเป็นวาระหลักของโลกในปัจจุบัน การแพร่ระบาดระดับโลกครั้งนี้จึงเรียกร้องให้ต้องมีการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อเอาชนะวิกฤติในปัจจุบันให้ได้

2) Supply Chain Resilience ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทบทวนตัวเองใหม่เพื่อสร้างสมดุลระหว่างประสิทธิภาพและความเสี่ยงของการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ต้องคำนึงถึงการผลิตแบบลีน เพิ่มความหลากหลายของแหล่งวัตถุดิบ และการเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการสินค้าคงคลัง กระจายความเสี่ยงและปรับตัวสู่ระบบดิจิทัล

3) Digital Transformation การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายประเทศได้เกิดการก้าวกระโดดของดิจิทัล (leapfrog digitalization) เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม การสร้างโลกที่เชื่อมโยงกันทางดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ พร้อมกับยกระดับทักษะด้านดิจิทัล ลดช่องว่างทางดิจิทัล และป้องกันความมั่นคงทางดิจิทัล เป็นวาระสำคัญที่ทุกประเทศจะต้องจัดการไปพร้อมกับวิกฤตโควิด

4) Social Investment การเพิ่มการลงทุนทางสังคมเพื่อรับมือกับวิกฤตและความเสี่ยงระดับโลกในปัจจุบันและในอนาคต เช่น การระบาดใหญ่และปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึง Technology Disruption ที่ส่งต่อการจ้างงานและกลุ่มเปราะบาง ทุกฝ่ายจึงจำเป็นต้องทำงานร่วมกันอย่างจริงจังเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

ที่ผ่านมาโลกาภิวัตน์ทำให้เศรษฐกิจโลกเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ ณ วันนี้ โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะงักงัน เราต้องประเมินความเสี่ยง ปรับแผน สร้างความยืดหยุ่นใหม่ และปรับตัวให้ได้อย่างรวดเร็ว เพราะอนาคตหลังโควิดมีความท้าทายหลายอย่างที่ทำให้โลกจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

โดย... 

ประกาย ธีระวัฒนากุล

ธราธร รัตนนฤมิตศร

สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)

https://www.facebook.com/thailandfuturefoundation/