นิยามความสุขของแต่ละวัย

นิยามความสุขของแต่ละวัย

ในช่วงที่โควิดกำลังแพร่ระบาดในประเทศไทยจนถึงขั้นต้องมีการล็อกดาวน์กันเกิดขึ้นนั้น

เชื่อว่าคนไทยจำนวนมากคงจะรู้สึกไม่มีความสุข กังวล และเครียดต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้นในปัจจุบันเมื่อมีการคลายล็อกดาวน์และสถานการณ์ในประเทศไทยเข้าสู่ภาวะที่ดีขึ้น คนจำนวนมากจึงพยายามที่จะแสวงหาความสุขในรูปแบบต่างๆ เพื่อชดเชยต่อความกังวลและเครียดที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือแต่ละคน แต่ละวัย จะมีวิธีการในการแสวงหาความสุขเพื่อชดเชยกับช่วงโควิดที่ผ่านมา ด้วยรูปแบบและวิธีการที่แตกต่างกัน บางคนไปเหยียบทรายเล่นน้ำทะเล บางคนขึ้นดอยขึ้นภู บางคนเน้นหาของกินอร่อยๆ บางคนหาจุดเช็คอินถ่ายรูปสวยๆ บางคนนัดเพื่อนฝูงท่องราตรี บางคนก็ขอเพียงอยู่บ้านอย่างสงบและอ่านหนังสือก็พอ แต่บางคนก็โหมกับงานเพื่อให้ชดเชยช่วงที่หายไปจากโควิด ฯลฯ

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือจากการสังเกตจะพบว่าคนในแต่ละช่วงชั้นของวัยนั้นดูเหมือนจะมีวิธีการในการแสวงหาความสุขที่แตกต่างกันออกไป และไม่ใช่เพียงแค่การแสวงหาความสุขในปัจจุบันเท่านั้น ถ้าได้ลองสังเกตตัวเองและคนรอบข้างดีๆ ก็จะพบว่าความสุขของคนจะเปลี่ยนไปตามวัยที่เพิ่มมากขึ้น

ความสุขของคนในช่วงวัยรุ่น รวมถึงวัยทำงานช่วงต้น มักจะเป็นการได้ออกไปทำในสิ่งที่ท้าทาย แปลกใหม่ การพบเจอคนใหม่ๆ การได้ไปปาร์ตี้เฮฮาสังสรรกับเพื่อนฝูง การได้ออกไปค้นหาความท้าทายใหม่ๆ ในชีวิต แต่พบว่าเมื่อเจริญวัยมากขึ้น ความสุขของคนที่เริ่มเข้าสู่หรือถึงช่วงวัยกลางคน จะเป็นการได้อยู่กับครอบครัว การได้นั่งดูหนัง อ่านหนังสืออย่างสงบที่บ้าน หรือ การได้พบเจอ ทานข้าว ออกกำลังกาย กับเพื่อนฝูงที่ไม่ได้เจอกันมานาน

ทุกๆ คนย่อมเจริญวัยมากขึ้น และเมื่ออายุมากขึ้นแล้ว นิยามของความสุข ก็จะค่อยๆ มีการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการไปพร้อมๆ กับวัย กิจกรรมหลายๆ ประการที่นำไปสู่ความสุขในช่วงวัยรุ่นและวัยทำงานช่วงต้น เมื่อเจริญวัยมากขึ้นจะไม่ได้นำไปสู่ความสุขเหมือนในอดีต ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าความสุขที่เกิดขึ้นเมื่อเจริญวัยจะลดน้อยลง แต่เป็นเพราะนิยามของความสุขในแต่ละวัยที่แตกต่างกัน

มีนักจิตวิทยาทางด้านสังคมให้คำอธิบายต่อปรากฎการณ์ความสุขที่เปลี่ยนไปไว้ว่าเกิดขึ้นเนื่องจากปัจจัยกระตุ้นหรือจูงใจของแต่ละบุคคลที่เปลี่ยนไปเมื่อเจริญวัยขึ้น ในช่วงวัยรุ่นและวัยทำงานช่วงต้นนั้น จะเป็นช่วงที่คนมีแรงจูงใจ แบบ Promotion motivation ที่มองเป้าหมายของชีวิตในสิ่งที่ต้องการบรรลุ ให้ความสำคัญกับความหวังต่างๆ ในอนาคต สิ่งที่ต้องการและอยากที่จะทำ อยากที่จะเป็น รวมทั้งมีความเชื่อว่าสามารถทำและบรรลุในสิ่งที่ต้องการหรือตั้งเป้าไว้ได้

อย่างไรก็ดีเมื่อเจริญวัยมากขึ้น แรงจูงใจของแต่ละคนจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นแบบ Prevention motivation กันมากขึ้น เป้าหมายของชีวิตจะไม่ใช่เรื่องของอนาคตเหมือนในอดีตเป็นหลัก แต่จะเน้นการรักษาสิ่งที่มีอยู่ไว้ การป้องกันการสูญเสีย และทำให้ชีวิตเป็นไปอย่างราบรื่น พอคนมีอายุมากขึ้น มีประสบการณ์ทั้งการได้และสูญเสียมากขึ้น ดังนั้นจึงจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่มีอยู่ และพยายามรักษาสิ่งต่างๆ เหล่านั้นให้คงอยู่ไว้

ลองสังเกตครอบครัวที่มีลูกๆ อยู่ในช่วงวัยรุ่นหรือวัยทำงานช่วงต้น ขณะที่พ่อแม่อยู่ช่วงวัยกลางคนดูก็ได้ จะเห็นว่าลูกๆ นั้นจะมีความสุขและชอบในการทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความตื่นเต้น ความคาดหวังในอนาคต เช่น การไปท่องเที่ยวแบบผจญภัย การไปเที่ยวสังสรรยามค่ำคืนติดต่อกัน การได้ทดลองใช้ชีวิตวิถีแบบใหม่ๆ ล้วนเป็นสิ่งที่ลูกๆ ต้องการแสวงหาเพื่อเพิ่มความสุขให้กับตนเอง

ขณะเดียวกันคุณพ่อคุณแม่นั้น จะเริ่มชอบความสงบ การได้พัก ผ่อนคลาย ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวแบบสบายๆ การดูแลรักษาสุขภาพ การเข้าหาศาสนา ซึ่งเป็นการแสวงหาความสุขที่จะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่มีและเป็นอยู่ในปัจจุบันมากกว่าสิ่งที่ต้องการเป็นในอนาคต

ดังนั้นถ้าเข้าใจว่านิยามความสุขนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงอายุนั้น ก็จะทำให้เข้าใจว่า ทำไมการแสวงหาความสุขของแต่ละคนจึงแตกต่างกัน