กรณีศึกษาจากสังคม “โรคจิตอุปาทาน.. หรือ ..ญาณทัสสนะ”

กรณีศึกษาจากสังคม “โรคจิตอุปาทาน.. หรือ ..ญาณทัสสนะ”

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา

มีเรื่องราวที่ควรนำมาพิเคราะห์ กรณี เด็กผู้หญิงอ้างมีจิตสัมผัสพิเศษที่ตามส่องผี.. จนนำไปสู่การบอกกล่าวเล่าเรื่องในมิติที่คนธรรมดามองไม่เห็นด้วยตาเนื้อ รู้เข้าใจไม่ได้ด้วยการตรึกตามเหตุผล.. ให้เกิดความตื่นเต้นเล่นในหมู่ชนผู้อยากรู้อยากเห็น เชื่อง่าย หน่ายเร็ว.. ชอบเสพเรื่องไร้สาระธรรม...

ทราบว่าแรกเริ่มก็ไปได้ดี แม้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์บ้าง มีผู้คนเข้าไปติดตามชมกันมากมาย ด้วยอิทธิพลสื่อยุคไอหลายทีจีหลายตัว.. มีการนำเสนอมิติมุมมองที่พิสูจน์ไม่ได้ ลึกลับซับซ้อน น่าขนพองสยองเกล้า ตามตำรับหนังผีแบบไทยๆ ซึ่งจับอยู่ในจิตวิญญาณของชาวเรามายาวนาน จนยากจะลบล้างความเชื่อเรื่องผีสางนางไม้ เทพเทพารักษ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในมิติมีอำนาจเหนือมนุษย์ให้สิ้นไปได้...

จึงไม่แปลกที่ ใครก็ตามหากสามารถบอกกล่าวเล่าเรื่องในมิติโลกลี้ลับได้ มักจะได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้วิเศษเหนือมนุษย์ทั้งหลาย อันควรแก่การเซ่นสรวงบูชา เชื่อฟัง นับถือ.. ดังปรากฏแฝงอยู่ในเส้นทางแม้ในชีวิตของพระอริยสงฆ์ที่ศิษยานุศิษย์และหมู่ชนที่มีความศรัทธา มักจะนำเรื่องราวคุณวิเศษดังกล่าวมาเล่าขานให้ชนทั่วไปได้รับทราบ จนกลายเป็นตำนานอริยบุคคลของชาวไทย.. ที่กล่าวอ้างว่ามีภาวะสัมผัสพิเศษดังกล่าว อันเกิดจากการพัฒนาจิตจนเกิดญาณวิเศษ.. ซึ่งเป็นคนละมิติกับจิตอุปาทานของปุถุชนทั้งหลายที่คิดคาดเอาเองตามสัญญา สังขาร วิญญาณ.. ที่สั่งสมสืบมา ดุจดังในกรณีที่นำมาศึกษาว่า จิตอยู่ในฐานใด..

ก่อนที่จะกล่าวสรุปลงไปว่าเป็นอย่างไรจากกรณีเด็กผู้หญิงดังกล่าว จึงควรนำไปสู่ความเข้าใจในเรื่อง จิตอุปาทาน กับ จิตญาณทัสสนะ ว่ามีความต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร.. ที่สำคัญ ได้แก่ ความเข้าใจในเรื่องของธรรมชาติของจิตว่ามีมากน้อยแค่ไหน.. ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อการจะนำไปสู่ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวที่ควรศึกษาวินิจฉัย...

เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจในเบื้องต้น จึงได้สรุปความหมายของจิตลงที่ ภาวะความคิดนึก เก็บสั่งสม วิจิตรหลากหลาย อันเป็นไปตามลักษณะธาตุรู้ดั้งเดิมของจิต...

จิตจึงเป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่งของธาตุรู้ตั้งแต่เมื่อเริ่มปฏิสนธิวิญญาณ (ปุริมวิญญาณ)ซึ่งเป็นวิญญาณธาตุแท้ดั้งเดิม เมื่อมีอวิชชาและภวตัณหาประยุกต์แล้ว จึงเกิดเป็นสัตว์และทำกรรม (สังขาร).. ใส่ตัวกิเลสและกรรม จึงส่งวิญญาณไปปฏิสนธิในนามรูป (ตัวชีวะและสรีระ) เป็นสัตว์ในครรภ์เพื่อเสวยวิบากของกรรมต่อไป ดังพวกเราที่เกิดมาแล้วทั้งหลายในฐานะของสัตว์มนุษย์...

ปฐมวิญญาณหรือปุริมวิญญาณ จึงเป็นวิญญาณธาตุแท้ มิใช่วิญญาณทางวิถีประสาท ที่เรียกว่า วิถีวิญญาณ.. อันนี้คนละอย่างกัน อย่าได้สับสน เพื่อให้เข้าใจได้ไม่ผิดเพี้ยน เรื่องธาตุรู้ (วิญญาณธาตุ) ให้ไปอ่านดูใน ธาตุวิภังคสูตร.. ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า “บุรุษบุคคลมีธาตุ ๖ มีอายตนะที่ต่อแห่งผัสสะ ๖ มีมโนปวิจารคือที่เที่ยวไปแห่งใจ ๑๘..” โดยจำแนกบุคคลออกเป็นธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ คือ ธาตุที่ไม่มีความรู้ กับวิญญาณธาตุ คือ ธาตุรู้

อันว่า ธาตุรู้ (วิญญาณธาตุ) เป็นธาตุแท้ดั้งเดิม ส่วนอาการที่เข้าไปรู้ทางทวารทั้ง ๖ เรียกว่า วิถีวิญญาณ เมื่อไม่ต้องการให้สับสนจึงเกิดการบัญญัติศัพท์คำว่า จิตตํ ขึ้นมาแทนปฐมวิญญาณสืบเนื่องถึงปัจจุบัน เราจึงเห็นการใช้คำว่า จิต ไปในความหมายที่ผิดเพี้ยนไปจากที่มาของความหมายเดิม ทั้งที่ จริงๆ แล้ว หากย้อนกลับไปดูรากฐานเดิมของจิต คือ ปุริมวิญญาณ ไม่ใช่วิถีวิญญาณ..ดังที่มีการนำไปใช้ทางการแพทย์ในเรื่อง โรคจิต..ที่มาจากวิถีวิญญาณ อันแสดงความแปรปรวนของจิต... ซึ่งมิใช่ความหมายของปุริมวิญญาณหรือจิต.. ตามความหมายในพุทธศาสนา

อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าใจเช่นนี้ ก็ต้องเข้าใจกันให้ถูกต้องตรงตามความหมายของการใช้ ดังเช่น การแบ่งแยกจิตออกเป็น จิตรู้ กับ จิตหลง.. ซึ่งจะต้องจำแนกลงไปดูว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิดจิตรู้.. อะไรเป็นเหตุให้เกิดจิตหลง.. โดยควรทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า..

๑.จิตรู้.. คือ จิตที่ประกอบด้วยสติปัญญา.. จนสามารถรู้เห็นตามความเป็นจริง.. ด้วยยถาภูตญาณ.. อันเป็นไปเพื่อปัญญาชอบ..

๒.จิตหลง.. คือ จิตรู้ตามธรรมชาติที่ประกอบเข้ากับสภาวธรรมอันหนึ่งที่เรียกว่ากิเลส อันก่อให้เกิดความเร่าร้อนและเศร้าหมอง จนยากจะรู้เห็นตามความเป็นจริงได้.. จึงไม่เป็นไปเพื่อปัญญาชอบ

..ซึ่งลักษณะธรรมดั้งเดิมหรือพื้นฐานในจิตรู้และจิตหลงนี้เหมือนกัน.. เพราะมาจากธาตุรู้เดียวกัน แต่สิ่งที่ทำให้ต่างกันคือ ส่วนที่เข้าไปประกอบกับธาตุรู้ในจิตขณะนั้น.. ดังที่กล่าวมา.. จึงก่อเกิดการรู้ผิด.. เห็นผิด.. กับรู้ถูก.. เห็นถูกขึ้น.. ตรงนี้เองคือจุดแตกต่างระหว่าง จิตอุปาทาน กับ จิตที่มีญาณทัสสนะ.. อุปมาก็เหมือนเรื่องคนบ้ากับคนปกติ.. คนโง่กับคนฉลาด.. ซึ่งจะบ้าหรือปกติ โง่หรือฉลาด ก็มาจากคนเหมือนกัน.. แต่ที่ทำให้ต่างกัน ก็ย่อมเกิดจากสภาวธรรมนั้นๆ ที่มาประกอบกับคนนั้นๆ

ดังนั้น เรื่องเด็กผู้หญิงคนดังกล่าวหรือพระอริยเจ้ารูปหนึ่ง.. จึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด หากเข้าใจธรรม.. ในธรรมชาติ.. จึงไม่ควรไปโกรธเกลียด.. หรือไปชื่นชมยินดี จนจิตรู้กลายเป็นจิตหลง.. คนดีกลายเป็นคนบ้า.. แม้จะบ้าดี.. จะหลงในเรื่องที่ดี.. ก็บ้าคือกัน.. อย่าว่าแต่เรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง.. ไร้สาระเลย .. เอวัง !

เจริญพร