เปิดประมูลรถไฟฟ้า ศึก 2 ขั้วชิงสายสีส้ม

เปิดประมูลรถไฟฟ้า ศึก 2 ขั้วชิงสายสีส้ม

รฟม.ออกประกาศเชิญชวนประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นครั้งแรกของการประมูลรถไฟฟ้าหลังจากห่างหายมา 4 ปี

ห่างหายจากสนามประมูลมาเกือบ 4 ปีสำหรับโครงการรถไฟฟ้า หลังจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ไปเมื่อเดือน พ.ย.2559

ล่าสุด รฟม.ออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)โดยเปิดขายซองเอกสารระหว่างวันที่ 10 – 24 ก.ค.2563ซึ่งการประมูลครั้งนี้ น่าสนใจไม่น้อย เพราะรัฐบาลได้เปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนไม่เพียงเฉพาะงานโยธา แต่จะมอบสิทธิให้เอกชนบริการการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษารถไฟฟ้าสายสีส้ม ครอบคลุมทั้งเส้นตั้งแต่ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รวมมูลค่างานกว่า 1.4 แสนล้านบาท

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ได้ให้ข้อมูลภายหลังเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ล่าสุดมีเอกชนสนใจเข้าซื้อซองประมูลโครงการจำนวน 4 ราย อาทิ1.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)2.บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)และ4.บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)

“เอกชนที่น่าจับตามองในการประมูลครั้งนี้มี 2 กลุ่มที่ได้มาซื้อซองไว้แล้ว ซึ่งมีสิทธิที่จะได้สัมปทานสายสีส้มกันทั้งคู่ ขึ้นอยู่กับว่าเอกชนรายใดจะเป็นผู้เสนอผลตอบแทนให้แก่รัฐสูงสุด ก็จะเป็นผู้ชนะการประมูล”

ขณะเดียวกัน การประมูลครั้งนี้ รฟม.เปิดกว้างให้เอกชนเข้ามาร่วมทุน จึงคาดหวังว่าจะมีเอกชนรายอื่นๆ ให้ความสนใจเพิ่มขึ้น ซึ่ง รฟม.ก็หวังว่าจะมีเอกชนจากต่างประเทศให้ความสนใจด้วยเช่นกัน เพื่อให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น แต่เชื่อว่าการที่เอกชนยังไม่เข้าซื้อซองในขณะนี้ เพราะยังติดปัญหาโควิด -19

ฟากมุมมองของเอกชน ก็พบว่าทั้งกลุ่มบีทีเอส และกลุ่มบีอีเอ็ม มีความมั่นใจในการลงสนามครั้งนี้อย่างมาก โดย“คีรี กาญจนพาสน์”หัวเรือใหญ่ของบีทีเอส เคยเปิดเผยต่อเรื่องนี้ว่า“บีทีเอสพร้อมเข้าร่วมประมูลโครงการนี้อย่างแน่นอน โดยจะร่วมกับกลุ่มพันธมิตรเดิม”

ส่วนทางบีอีเอ็ม“สมบัติ กิจจาลักษณ์”กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า บีอีเอ็มจะร่วมประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม กับ ช.การช่าง และมีความมั่นใจอย่างมาก ด้วยประสบการณ์ก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน ทำให้เรารู้ต้นทุนดี เป็นข้อได้เปรียบคู่แข่ง ซึ่งที่ผ่านมาทำการบ้านไว้แล้ว ทั้งแหล่งเงินทุน และพันธมิตร ด้านซัพพลายเออร์

จากคำยืนยันของเอกชนผู้คร่ำหวอดในวงการรถไฟฟ้าทั้ง 2 กลุ่ม เห็นทีศึกชิงรถไฟฟ้าสายสีส้มจะดุเดือดไม่น้อย งานนี้ รฟม.ตีกรอบตัดสินกันที่ข้อเสนอผลตอบแทนดีที่สุด โดยมีกำหนดเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ 23 ก.ย.นี้ หลังจากนั้นจะเปิดซองข้อเสนอในวันที่ 30 ก.ย.256

แต่ไม่ว่าเอกชนรายใดจะคว้าประมูล ก็เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ที่วันนี้ได้ฤกษ์พัฒนารถไฟฟ้าเพิ่มอีก 1 สาย เชื่อมต่อการเดินทางจากฝั่งตะวันตกบางขุนนนท์ กับฝั่งตะวันออกมีนบุรี คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2566