เสียงเพรียกจากนครนายก

เสียงเพรียกจากนครนายก

แม้จะไม่มีบ้านอยู่ในย่านบ้านเกิดใน จ.นครนายก หลังจากไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศเป็นเวลากว่า 50 ปี ผมยังนับว่าตัวเองเป็นชาวนครนายก

จึงได้ติดตามความเป็นไปอย่างใกล้ชิดและได้กลับไปทำโครงการทดแทนคุณแผ่นดินที่นั่น ดังข้อมูลในหนังสือซึ่งเพิ่งพิมพ์ออกมาชื่อ “จดหมายจากชายทุ่ง” (ดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์วิทยาทานของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com) หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องราวอันเกิดจากประสบการณ์ในการไปทำโครงการนั้นในช่วงเวลา 15 ปี แต่ไม่มีประเด็นที่ครอบคลุมสำหรับชาวนครนายกโดยทั่วไปในวงกว้าง จึงขอนำบางประเด็นพร้อมข้อคิดเห็นมาเสนอ

ประเด็นหลักสืบเนื่องมาจากโครงการของรัฐบาลที่จะสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ อ.องครักษ์ ซึ่งอยู่ติดกับ จ.ปทุมธานี โครงการนี้ดูจะมีความลับลมคมในจนติดตามได้ยาก โดยเฉพาะจากคนละฟากโลกและถูกต่อต้านอย่างหนักจากประชาชนในท้องถิ่นกลุ่มหนึ่ง ผมไม่เห็นด้วยกับโครงการจำพวกนี้ ไม่ว่าจะไปสร้างที่นครนายกหรือในจังหวัดอื่นของเมืองไทย

ด้วยเหตุผลพื้นฐานที่ว่าชาวไทยโดยทั่วไปอยู่มาได้อย่างดีโดยไม่ต้องมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และจะไม่มีความสุขกายสบายใจเพิ่มขึ้น โดยการมีเตาปฏิกรณ์ดังกล่าวซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีคำสาปสูงมาก ถึงขนาดสามารถทำลายล้างทุกอย่างบนผิวโลกได้ โลกมีตัวอย่างของหายนะจากการรั่วไหลและความเสียหายของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างต่อเนื่อง และตอนนี้เริ่มไม่มีที่เก็บกากของมันที่เชื่อมั่นได้เต็มร้อยว่าปลอดภัย หลายประเทศจึงเริ่มกระบวนการยกเลิกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้ว

เราเก่งกว่าเขา หรือเราประมาท หรือผู้กำอำนาจหวังได้เงินทอนจากโครงการนี้ จึงมีความลับลมคมในแฝงอยู่ในการนำเสนอต่อประชาชน?

อนึ่ง ย้อนไปถึงวันจัดแบ่งเขตของประเทศและทำผังเมืองแบบครอบคลุม นครนายกถูกจัดให้เป็นพื้นที่สีเขียวซึ่งจะไม่ให้สร้างโรงงานขนาดใหญ่ ต่อมารัฐบาลเผด็จการใช้อำนาจปรับเปลี่ยนเขตพื้นที่ใหม่ การสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์จึงจะทำได้เพราะการใช้อำนาจพิเศษซึ่งเท่ากับการหักคอประชาชน จริงอยู่ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการเปิดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนในท้องถิ่น แต่กระบวนการนั้นดูเหมือนทำเป็นเพียงพิธี แทนที่จะทำอย่างจริงใจ ทั้งนี้เพราะผู้กำอำนาจได้ตัดสินใจไว้นานแล้วว่าจะสร้างอย่างแน่นอน

จากมุมมองของความสำคัญของพื้นที่สีเขียว ไม่เฉพาะเตาปฏิกรณ์ดังกล่าวเท่านั้นที่ไม่ควรสร้างขึ้นในเขต จ.นครนายก หากเป็นโรงงานขนาดต่างๆ ที่สร้างขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งหากตรวจสอบอย่างจริงจัง ทั้งก่อนก่อสร้างและในระหว่างการดำเนินกิจการจะพบว่าละเมิดกฎข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อม โรงงานในที่นี้มิได้จำกัดอยู่ที่โรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น หากเป็นโรงงานและการทำกิจการทางด้านอื่นด้วย เช่น กิจการเลี้ยงหมูและเลี้ยงไก่ขนาดใหญ่ที่ส่งกลิ่นและปล่อยมูลสัตว์ให้ไหลออกไปข้างนอก หรือสถานพักผ่อนหย่อนใจขนาดใหญ่ที่ใช้พื้นที่ลาดชายเขาและป่าต้นน้ำ

นอกจากสิ่งที่อ้างถึงแล้ว ยังมีสิ่งที่ควรพิจารณาสำหรับอนาคตซึ่งเมื่อมองเพียงผ่านๆ ดูจะไม่กระทบต่อสภาพการเป็นพื้นที่สีเขียวของ จ.นครนายก นั่นคือการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ทำงานอยู่ในต่างถิ่นโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และเขตเศรษฐกิจพิเศษขนาดใหญ่ในภาคตะวันออก จากพื้นที่เหล่านี้อีกไม่นานจะมีถนนใหญ่ตัดตรงไปยังนครนายกเพื่อเอื้อให้การเดินทางสะดวก คนเหล่านี้ประสงค์จะหนีความแออัดที่มักมีอันตรายแฝงอยู่

แต่การสร้างที่อยู่อาศัยให้คนจำนวนมากในนครนายกมีค่าเท่ากับการส่งความแออัดไปไว้ที่นั่น ยกเว้นเราจะมีผังเมืองที่ป้องกันความแออัดได้ เช่น สร้างบ้านของผู้อพยพเข้าไปอยู่ใหม่ได้หลังเดียวในพื้นที่ 2 ไร่ ต้องมีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับปลูกต้นไม้ในหมู่บ้านจัดสรรใหม่ในอัตราไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของโครงการ และสงวนพื้นที่เกษตรกรรมในปัจจุบันส่วนใหญ่ไว้สำหรับใช้ทำเกษตรกรรมแบบผสมผสานตามหลักทฤษฎีใหม่ของพ่อหลวง ร.9

หากทำตามแนวดังกล่าวได้ นครนายกจะไม่เป็นแหล่งซุกหัวนอนเพียงอย่างเดียว หากจะยังคงความเป็นพื้นที่สีเขียวไว้ได้อีกด้วย ส่งผลให้ทั้งชาวนครนายกโดยกำเนิดและโดยอพยพเข้าไปอยู่ใหม่มีความสุขไปพร้อมกัน