เปลี่ยน “น้ำเสีย” เป็นแหล่งต้นทุนใหม่

เปลี่ยน “น้ำเสีย” เป็นแหล่งต้นทุนใหม่

สีของน้ำทิ้งที่ขุ่นดำและกลิ่นที่ไม่โสภานัก แม้ผ่านการบำบัดแล้วระดับหนึ่ง ที่ผ่านมาอาจถูกตั้งข้อรังเกียจ

แต่ถ้ามองอีกมุมจะพบว่า “น้ำเสีย” ที่ว่าเมื่อนำมาปรับสภาพแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ทดแทนการใช้น้ำประปาสำหรับการอุปโภค เกษตรกรรมและอุตสาหกรรม สามารถเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำคัญที่จะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งในพื้นที่ EEC

ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนการบริหารจัดการน้ำ การนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่จึงเป็นอีกกลยุทธ์เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการใช้ลงอย่างน้อย 15% ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง จะทำให้เมืองเติบโตทั้งภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว รวมทั้งภาคเกษตรกรรม หนีไม่พ้นปัญหาน้ำเสียจากทุกภาคส่วนที่จะตามมา

เบื้องต้นมีการวิเคราะห์กันว่าความต้องการน้ำจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ทุกวันนี้ในภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว รวมทั้งการอุปโภคบริโภคของ 3 จังหวัดในพื้นที่ EEC มีความต้องการน้ำมากกว่า 800 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และอีก 20 ปีข้างหน้าความต้องการน้ำจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

"โจทย์ของงานวิจัยนี้คือ การหาแหล่งน้ำทดแทนน้ำประปาไม่น้อยกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งจากการศึกษาและสำรวจข้อมูล พบว่าในพื้นที่ EEC มี น้ำทิ้ง” หรือน้ำเสียที่มีศักยภาพสามารถนำมาบำบัดเอากลับมาใช้ใหม่ได้ จาก 2 แหล่งใหญ่ คือ น้ำเสียจากการอุปโภคบริโภคทั้งในภาคชุมชนและภาคบริการ และน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรม โดยคาดการณ์ว่าภายในปี 2580 จะมีน้ำเสียเกิดขึ้นประมาณ 859,280 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน (313.64 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี) หากสามารถรวบรวมมาบำบัดและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ จะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนใหม่ในพื้นที่ EEC ในปริมาณที่มากพอสมควร และยังมีราคาถูกกว่าการทำน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด"

ตัวอย่าง จ.ชลบุรี มีน้ำเสียจากชุมชนที่เข้าสู่ระบบบำบัดส่วนกลางค่อนข้างมาก เนื่องจากมีสถานประกอบการ โรงแรม ที่พักอาศัย อาคารสำนักงานค่อนข้างมาก ข้อดีคือน้ำเสียของภาคอุปโภคบริโภค ชุมชน และภาคบริการมีการรวบรวมน้ำเสียเข้าสู่ระบบบำบัดมากถึง 80% ซึ่งถ้ามีการปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้งเพิ่มเติมให้กลายเป็นน้ำรีไซเคิลตามมาตรฐานสากล ก็จะสามารถส่งเสริมให้นำน้ำกลับมาใช้ทดแทนน้ำประปาบางส่วนได้เป็นอย่างดี และยังจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการลดการใช้น้ำต้นทางได้อีก 5-15% หากมีการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมสุขภัณฑ์ประหยัดน้ำอย่างจริงจัง

นั่นหมายความว่านอกจากจะลดปริมาณน้ำทิ้ง เพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคและสถานประกอบการอีกด้วย!

ทั้งนี้การจัดการระบบบำบัดน้ำเสียที่เหมาะสมสำหรับชุมชนและอุตสาหกรรม มี 3 แนวทางเพื่อการนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ของเมืองได้แก่

 แนวทางที่ 1 คือระบบบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีปริมาณน้ำเสียค่อนข้างมาก หากเพิ่มระบบการปรับสภาพน้ำ ก็จะสามารถนำน้ำที่ได้กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ของเมือง แนวทางที่ 2 คือ ระบบบำบัดน้ำเสียแบบกลุ่ม (Cluster Treatment) เป็นระบบบำบัดน้ำเสียขนาดเล็ก เหมาะกับชุมชนที่มีพื้นที่จำกัด มีน้ำเสียเข้าสู่ระบบบำบัด 500-1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เป็นระบบที่เหมาะกับพื้นที่ EEC และสามารถดำเนินการได้ทันที ส่วนแนวทางที่ 3 ระบบบำบัดน้ำเสียแบบ Individual เป็นโมเดลสำหรับสถานประกอบการแต่ละอาคาร ทว่าข้อจำกัดของระบบนี้คืออาคารในปัจจุบันมีเพียงท่อประปาท่อเดียว ไม่มีท่อแยกสำหรับน้ำรีไซเคิล

แต่ในอนาคตการสร้างเมืองใหม่สมาร์ทซิตี้สามารถทำได้ทั้ง 3 รูปแบบ ซึ่งอาคารใหญ่ๆ อย่างโรงแรม อาคารธุรกิจหรือห้างสรรพสินค้า การใช้น้ำจำนวนมากจะมาจากสุขภัณฑ์ ถ้ามีการออกแบบแยกระบบท่อน้ำรีไซเคิลกับท่อน้ำประปาออกจากกันก็จะเป็นการส่งเสริมการใช้น้ำรีไซเคิลในอาคารได้อีกจำนวนมาก

ตัวอย่างความสำเร็จมีให้เห็นแล้วในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีน เป็นต้น อย่างกรณีในกรุงโตเกียวมีการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ปริมาณมาก ประสบความสำเร็จและยั่งยืน มีการดำเนินการมานานกว่า 10 ปี ทั้งนี้อาคารใหม่ในพื้นที่มีการออกแบบกำหนดให้แยกระบบท่อน้ำรีไซเคิลกับท่อน้ำประปาออกจากกัน

 การคาดการณ์ศักยภาพปริมาณน้ำต้นทุนที่ประหยัดได้ในพื้นที่ EEC พิจารณาได้ 2 กรณีคือ กรณีแรกเมื่อภาคอุตสาหกรรมลดได้ 15% ภาคอุปโภคบริโภคและภาคบริการลดได้ 10% ภาคเกษตรลดได้ 10% และมีศักยภาพของต้นทุนน้ำรีไซเคิลของเมืองที่มีปริมาณน้ำเสียมากกว่า 4 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อวัน จากบ่อบำบัดน้ำเทศบาล 7 แห่ง พบว่าจะสามารถประหยัดน้ำต้นทุนได้มากกว่า 600 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือคิดเป็น 19.43% ในปี 2580 

กรณีที่สอง เมื่อภาคอุตสาหกรรมลดได้ 10% ภาคอุปโภคบริโภคและภาคบริการลดได้ 10% ภาคเกษตรลดได้เพียง 5% และมีศักยภาพของต้นทุนน้ำรีไซเคิลของเมืองที่มีปริมาณน้ำเสียมากกว่า 4 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อวัน จากบ่อบำบัดน้ำเทศบาล 7 แห่ง พบว่าจะสามารถประหยัดน้ำต้นทุนได้ถึง 465 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือ 16.13% ในปี 2580 จะเห็นว่าน้ำต้นทุนที่ประหยัดได้นี้จะช่วยลดปัญหาน้ำขาดแคลนในพื้นที่ EEC เมื่อมีการพัฒนาเมืองค่อนข้างสมบูรณ์แบบ แต่ถ้าจะให้สัมฤทธิผลอย่างจริงจัง จะต้องพิจารณาครอบคลุมทั้งมิติด้านกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ และสังคมด้วย

ด้านกฎหมายเสนอให้มีการผลักดันข้อกฎหมายใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ลดการใช้น้ำและนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ในพื้นที่ EEC ประกอบด้วย พ.ร.บ.ส่งเสริมการประหยัดน้ำ เช่น ส่งเสริมการใช้สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ ฯลฯ พ.ร.บ.ส่งเสริมการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ และ พ.ร.บ.การกักเก็บน้ำฝนในอาคารและสถานประกอบการ 

ด้านเศรษฐกิจนั้นเป็นการมองเรื่องของความคุ้มทุนที่ไม่เพียงช่วยลดปริมาณน้ำทิ้ง ยังได้น้ำประปาที่ราคาถูกเมื่อเทียบกับค่าน้ำประปาที่ใช้อยู่ปัจจุบัน โดยมาตรการเหล่านี้คือด้านเทคนิคและกฎหมาย ด้านเศรษฐศาสตร์และสังคม ต้องไปด้วยกันทั้งสามมิติ

เพื่อว่าแต่นี้ไปน้ำเสียจะต้องไม่ปล่อยทิ้งสู่แหล่งน้ำอย่างเปล่าประโยชน์

โดย... กลุ่มวารีวิทยา