สปสช. อาจถูกฟ้องถึง 1.5 ล้านล้านบาท (จบ)

สปสช. อาจถูกฟ้องถึง 1.5 ล้านล้านบาท (จบ)

ถ้าเป็นเรื่องระหว่างเอกชนกับเอกชน ถือเป็นเรื่องทางแพ่งที่ผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีให้ผู้ถูกกล่าวหาคืนเงินทั้งหมด

ที่เป็นค่ารายหัวให้พวกเขาได้ตามกฎหมาย ปพพ.ว่าด้วยลาภมิควรได้ แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ใช่มีเจตนาทุจริตเพราะถ้ามีเรื่องเจตนาทุจริตเข้ามาเกี่ยวข้องเรื่องทางแพ่งจะกลายเป็นเรื่องฉ้อฉล และเรื่องทางอาญาจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงทันที

ตามกฎหมาย พรบ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ได้กำหนดชัดเจนในคดีที่เกี่ยวกับการกระทำที่เป็นการใช้อำนาจฝ่ายเดียว ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหรือคำสั่งหรือการกระทำอื่นใด ตามาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) ซึ่งกำหนดว่า...

(1) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใด เนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น หรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ....

การกระทำของ สปสช. เข้าองค์ประกอบทุกข้อ ใน ม. 9 วรรคหนึ่ง (1) อย่างชัดเจนไม่ต้องสงสัยสปสช.ใช้อำนาจฝ่ายเดียวมาตลอด กระทำการเกินขอบเขตอำนาจมาตลอด ไม่ได้รับความยินยอมจากประชาชนในการเอาค่ารายหัวมาใช้นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด และไม่มีบทบัญญัติหรือข้อกฎหมายใดให้อำนาจ การกระทำของ สปสช.จึงขัดต่อกฎหมายมาตั้งแต่ต้นแม้ไม่มีเจตนาทุจริต (หรืออาจมีแต่ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์) สปสช. ก็ไม่มีสิทธิที่จะเอาเงินค่ารายหัวของประชาชนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนรับบริการกับหน่วยบริการและไม่ได้รับบริการจากโรงพยาบาลรัฐปีละประมาณ 28 ล้านคนนี้ไปใช้ได้

สิ่งที่ สปสช.ต้องทำคือคืนเงินจำนวนนี้ให้ประชาชน 28 ล้านคน ตลอดระยะเวลา 18 ปีที่ผ่านมา เพราะแม้ไม่ต้องส่งคืนคลังตามกฎหมายที่เป็นข้อยกเว้น (ทั้งหมดมี 4 องค์กรอาทิ ไทย พีบีเอส และ สสส. ที่อยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษนี้) แต่ก็ต้องส่งคืนเจ้าของเงินคือประชาชนที่ไม่ได้ใช้สิทธินั่นหมายถึง สปสช. บังอาจเอาเงินของประชาชนจำนวนมหาศาล จากการคำนวณคร่าวๆ เฉลี่ยค่ารายหัวรายละ 3,000 บาทต่อคนต่อปี จำนวน 28 ล้านคน ระยะเวลา 18 ปี ก็น่าจะไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านล้านบาทไม่รวมดอกเบี้ยและผลประโยชน์อื่นที่อาจทบรวมอีกเป็นเท่าตัวเป็น 2 หรือ 3 ล้านล้านบาท ก็เป็นได้

ที่จริง ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ก็ปรากฎเป็นข่าวอยู่บ่อยๆถึงการนำเงินงบประมาณรายจ่ายไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม แต่เมื่อไม่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีจึงไม่สามารถยกเป็นข้อกล่าวอ้างว่ามีการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริตภายใน สปสช. ได้แต่แค่นี้ก็เป็นเงินมหาศาล ใกล้เคียงกับครึ่งหนึ่งของงบประมาณประเทศทั้งปีอยู่แล้วการฟ้องร้องดำเนินคดี สปสช.เพื่อขอเงินคืนนี้ คนใดใน 28 ล้านคน สามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้เลย และประชาชนคนอื่นสามารถเข้าชื่อเป็นการฟ้องหมู่หรือ class action ได้ทั้งหมดการสืบพยานเป็นระบบไต่สวนที่ตุลาการเจ้าของสำนวนจะไต่สวนสอบถามจำเลย คือ สปสช. เป็นหลักถ้าศาลปกครองมีคำสั่งให้คืนเงินทั้งหมดกับประชาชนที่ไม่ได้ใช้สิทธิ 28 ล้านคน ระยะเวลา 18 ปี เป็นเงินกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ก็ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นกับระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ

ที่จริงเรื่องนี้เคยแสดงความเห็นหลายครั้งว่า การบริหารจัดการเงินกองทุนของ สปสช.นี้ไม่ถูกต้อง และไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายสิ่งที่ต้องแก้ไขคือ

1.ควรจัดให้มีการลงทะเบียนผู้ยากไร้ที่มีคุณสมบัติมีสิทธิได้รับบริการฟรี ที่อาจจะอิงกับการลงทะเบียนผู้รับสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 14.5 ล้านคนที่มีอยู่แล้ว และรับลงทะเบียนเพิ่มตามความเป็นจริง

2.งบประมาณค่ารายหัวทั้งหมดที่คำนวณจาก 48 ล้านคนนั้น ให้ยกไปให้กองทุนพื่อคนยากไร้ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ค่ารายหัวของประชาชนที่ลงทะเบียนจะเพิ่มจากรายละ 3,600 บาทต่อคนต่อปี เป็นประมาณ 10,000 ต่อคนต่อปี เป็นการยกระดับการให้บริการที่องค์การอนามัยโลกต้องการ

3.เรื่องนี้เป็นเรื่องบริการภาครัฐเพื่อสวัสดิการประชาชนที่ด้อยโอกาสเสียเปรียบทางสังคม จึงควรทุ่มทรัพยากรให้หน่วยบริการของรัฐเต็มที่ อย่าให้ขาดทุน ต้องควักเนื้อเอาเงินบำรุงมาใช้ตลอด เงินบำรุงควรเป็นเงินสำรองเพื่อฉุกเฉินจำเป็นในบางสถานการณ์ ไม่ใช่นำมาใช้เป็นเงินหมุนเวียนเป็นประจำ

4.การโยกหรือเฉลี่ยเงินกองทุนทั้ง 8กองทุนไม่ควรทำ เพราะจะไม่สามารถพิจารณาประสิทธิภาพการใช้เงินของแต่ละกองทุนได้ กองทุนที่เงินเหลือก็สามารถเก็บไว้ใช้ปีต่อไปที่งบประมาณตั้งน้อยลง ตามที่กฎหมายกำหนดไม่ต้องคืนคลัง ส่วนที่ไม่พอก็เป็นเรื่องที่ต้องตั้งงบประมาณปีต่อไปเพิ่มให้ครอบคลุมส่วนที่ขาดจากปีที่ผ่านมา

5.เหนือสิ่งอื่นใด จะต้องไม่มีการใช้เงินเพื่อการอื่นนอกเหนือจากวัตถุประสงค์ของ สปสช.ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่บัญญัติไว้

ข้อ 2. นี้เป็นเรื่องสำคัญ ต้องไม่ทำให้เข้าใจว่าค่ารายหัวประชาชนที่ลงทะเบียนจะเหมือนเดิม แต่ต้องให้เข้าใจถูกต้องว่าจะเพิ่มจากผู้ที่ไม่ได้ใช้สิทธิ เป็นหลักประกันว่าการบริการจะไม่ลดตามค่ารายหัว แต่อาจเพิ่มบริการได้อีกเมื่อมีเงินงบประมาณรายหัวเพิ่มขึ้น

ทุกอย่างต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ฟ้องหรือไม่ฟ้อง ค่อยว่ากันอีกทีขอฝากคณะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข กมธ. สาธารณสุขสภาผู้แทน กมธ.สาธารณสุขวุฒิสภา และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายสาธารณสุข ด้วย