World after COVID-19 รับมือกุญแจฝ่าวิกฤติธุรกิจ

World after COVID-19 รับมือกุญแจฝ่าวิกฤติธุรกิจ

สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลให้หลายธุรกิจต้องปิดตัวลง

หลายธุรกิจดำเนินต่อไปแบบกระท่อนกระแท่น กว่าจะกลับมาตั้งหลักได้ก็จวนอยู่จวนไปเหมือนกัน มีการทำแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่าง 1,500 ราย พบว่า มีเพียง 12% เท่านั้น ที่เชื่อว่าตนเองได้มีการเตรียมพร้อมสำหรับผลกระทบของ COVID-19 ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น้อยมาก

จากสถิติดังกล่าว ธุรกิจจึงต้องย้อนกลับมาสำรวจตนเองว่า COVID -19 กิจการของเราและบริษัทคู่ค้ามีความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ดีแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การตัดสินใจ การสื่อสารภายในและภายนอกองค์กร การบริหารจัดการเงินทุน บุคลากร และทรัพยากร รวมถึงการปรับตัวให้เข้ากับ New Normal เพื่อที่จะได้ระมัดระวังตัวมากขึ้น เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าวิกฤติครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ จะรุนแรงมากแค่ไหน แล้วจะมีอีกกี่ New Normal ที่เราต้องปรับตัว

โดยสิ่งที่ผู้ประกอบการควรจำให้ขึ้นใจเลยก็คือ เรื่องการบริหารต้นทุนและกระแสเงินสด เพราะสองเรื่องนี้เป็นต้นตอของปัญหา หากสามารถแก้ไขได้ก็จะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน การบริหารงานแบบ “Shared Services” เป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่ช่วยให้เราสามารถลดต้นทุนในการดำเนินงานได้ถึงร้อยละ 10 - 15 เลยทีเดียว เป็นการโฟกัสที่แก่นของการบริหาร และกระจายสิ่งที่ไม่ใช่ Core-Elements ของธุรกิจออกไป

นอกจากนี้ ยังควรเพิ่มการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นการลดต้นทุนในระยะยาว รวมถึงลดความผิดพลาดของมนุษย์ (Human Error) ได้อีกด้วย อย่างในประเทศสหรัฐอเมริกามีการใช้ CloudMedx แพลตฟอร์ม AI ที่สามารถช่วยให้โรงพยาบาลสามารถคาดการณ์ระยะเวลาการเข้าพัก การใช้เตียง อุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงความต้องการด้านบุคลากรได้ หรือแม้แต่ AskSophie แชทบอท AI ที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถประเมินตนเองเกี่ยวกับความเสี่ยงของ COVID-19 ได้ และยังเป็นตัวช่วยของแพทย์ในการวินิจฉัยโรคอื่น ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์ที่อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้

และสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ ธุรกิจต้องเตรียมพร้อมรับมือหากต้องเผชิญกับปัญหา ได้แก่ การเตรียมความพร้อมของทีมงาน การรับรู้ข่าวสารอย่างถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็ว การทำงานร่วมกันของแต่ละทีม การสื่อสารกับนักลงทุน และการเรียนรู้จากข้อผิดพลาด อันนำมาสู่การแก้ไขและพัฒนาแผนการป้องกันและการรับมือในอนาคตไปพร้อม ๆ กัน เพราะทุกวันนี้วิกฤตของธุรกิจสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายทาง ไม่จำเป็นต้องเป็นโรคระบาดเสมอไป

จะเห็นได้ว่า การเกิดขึ้นของวิกฤติครั้งนี้ เป็นสิ่งที่เข้ามาเตือนใจทุกคน ให้ตระหนักถึงความเสี่ยงของธุรกิจที่สามารถเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ และอาจมีความรุนแรงมากพอที่จะพลิกธุรกิจจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ภายในพริบตาเดียว ดังนั้นองค์กรจึงต้องมีแผนการจัดการและติดตามความเสี่ยง รวมถึงเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นรอบทิศทาง

พบกันใหม่คราวหน้า และหากท่านใดที่สนใจแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือมีไอเดียใหม่ที่น่าสนใจ สามารถส่ง E-mail เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียกันได้นะครับ