ความเสี่ยงโลกกับการวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจเอสเอ็มอี

ความเสี่ยงโลกกับการวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจเอสเอ็มอี

ถึงไม่บอกก็คงจะเดาได้ว่า ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจเอสเอ็มอีในปัจจุบัน คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้กับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในระดับโลก

ด้วยผลของปรากฏการณ์โลกาภิวัตน์ที่ทำให้โลกแทบจะไม่มีพรมแดนอีกต่อไป

เมื่อเร็วๆ นี้ WEF หรือ World Economic Forum ได้จัดทำรายงานสรุปประเด็นความเสี่ยงของโลก 5 ลำดับแรก ที่ประเมินสำหรับปี 2019 ไว้ดังนี้

ความเสี่ยงที่ประเมินจาก โอกาสที่จะเกิดขึ้น มีในระดับสูง ได้แก่ 1.ความเสี่ยงจากภูมิอากาศที่แปรปรวนในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 2.ความเสี่ยงที่ความพยายามลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากความร่วมมือของประเทศต่างๆ ทั่วโลกไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย 3.ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากภัยพิบัติธรรมชาติที่รุนแรง 4.ความเสี่ยงจากการใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จหรือข้อมูลปลอม และ 5.ความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีทางไซเบอร์

ส่วนความเสี่ยงที่ประเมินจาก ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ต่อโลก หากเกิดปรากฏการณ์เหล่านี้ใน 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1.ความเสี่ยงที่เกิดจากการตัดสินใจอาวุธประเภทมีอำนาจทำลายล้างสูง 2.ความเสี่ยงที่ความพยายามลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากความร่วมมือของประเทศต่างๆ ทั่วโลกไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย 3.ความเสี่ยงที่เกิดจากภูมิอากาศโลกแปรปรวน 4.ความเสี่ยงจากภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำ และ 5.ความเสี่ยงที่เกิดจากภัยพิบัติธรรมชาติที่มีความรุนแรง

สำหรับเอสเอ็มอีที่พอจะคุ้นเคยกับการวิเคราะห์ความเสี่ยง คงพอทราบแล้วว่า ความเสี่ยงต่างๆ มักจะถูกประเมินใน 2 มิติ คือ โอกาสที่ความเสี่ยงนั้นจะเกิดกับธุรกิจมีมากน้อยเพียงใด และ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะสร้างผลกระทบที่รุนแรงเพียงใดต่อธุรกิจ

หากธุรกิจ ยังไม่มีการประเมินความเสี่ยงไว้ล่วงหน้า เมื่อความเสี่ยงนั้นๆ เกิดเป็นจริงขึ้น ธุรกิจก็จะไม่สามารถป้องกันหรือรับมือกับเหตุการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอาจทำให้ธุรกิจได้รับความเสียหายอย่างที่ไม่เคยคาดคิดไว้

ความเสี่ยงที่ WEF ได้ประเมินไว้ แม้จะเป็นความเสี่ยงในระดับโลก แต่ก็น่าจะเป็นข้อมูลที่ธุรกิจเอสเอ็มอี อาจลองนำมาวิเคราะห์ดูดว่า เมื่อเกิดความเสี่ยงเหล่านั้นขึ้นมาจริงๆ ธุรกิจจะหาทางออกอย่างไร

ยกตัวอย่างเช่น ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การเกิดน้ำท่วม ซึ่งประเทศไทยเคยมีประสบการณ์ผ่านมาแล้ว หากเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เอสเอ็มอี จะต้องเตรียมตัวรับอย่างไร

แม้ว่าในทุกความเสี่ยง จะมีโอกาสแฝงอยู่เสมอ ทำให้การประเมินหรือคาดการณ์ความเสี่ยง จะต้องได้รับการมองในทั้ง 2 ด้านเสมอ คือ ความสูญเสียของธุรกิจ และโอกาสที่จะขยายธุรกิจหรือขยายตลาด

การเตรียมพร้อมในการรับหรือลดผลกระทบจากความเสี่ยงต่างๆ อาจประเมินได้ทั้งในรูปแบบของทรัพย์สินทางกายภาพ เช่น อาคารสำนักงาน คลังสินค้า หรือแม้กระทั่งที่ดินทางการเกษตร หรือความเสียหายต่อธุรกิจ เช่น หากลูกค้าหรือคู่ค้า ได้รับผลกระทบ จะส่งผลอย่างไรต่อธุรกิจของเรา เป็นต้น

ความเสี่ยงเหล่านี้ ทำให้เกิดความพยายามในภาคธุรกิจเองที่พยายามจะเข้ามามีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบต่างๆ เช่น ในกรณีของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ธุรกิจอาจอาสาสมัครที่จะลดการใช้พลังงาน หรือปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียน ในการดำเนินธุรกิจ

หรือการนำระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy) มาพัฒนาใช้เพื่อลดของเสีย หรือทำให้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์สามารถนำมาใช้ซ้ำ นำมาใช้ใหม่ หรือนำมาเปลี่ยนสภาพให้ใช้งานอื่นๆ ได้ เพื่อลดการปล่อยขยะมลพิษสู่โลก

สถานการณ์ โควิด-19 ที่ธุรกิจกำลังเผชิญอยู่ก็เช่นกัน หลายคนคงไม่เคยคาดคิดหรือเตรียมตัวมาก่อนว่า จะรับกับวิกฤติที่เกิดขึ้น หรือจะเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสทางธุรกิจได้อย่างไร

แต่ก็มีตัวอย่างของการปรับตัวหลายๆ อย่าง หลังความพยายามที่จะต่อสู้กับสถานการณ์วิกฤติ ทำให้เห็นได้ว่า ความคล่องตัวและความยืดหยุ่นทางธุรกิจสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ สิ่งที่จะแตกต่างไปก็คือ เกิดความยืดหยุ่นแบบไม่ได้เตรียมรับ หรือสามารถปรับตัวได้ทันทีหรือก่อนที่วิกฤติจะเกิดขึ้น ซึ่งมีทั้งด้านที่เกิดความเสียหายใหญ่หลวง และในด้านที่กลายเป็นโอกาสมหาศาลแบบไม่ทันรู้ตัว

สมมติว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า เกิดโรคระบาดในระดับโลกขึ้นมาอีก เอสเอ็มอีทั้งหลายจะเตรียมรับอย่างไร นอกจากจะมีความหวังว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้ว คงไม่เกิดขึ้นมาอีก

โลกในยุคต่อไป น่าจะเป็นช่วงที่อะไรก็ตามที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้น สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ หากธุรกิจไม่มีความพร้อมหรือไม่มีการประเมินความเสี่ยงไว้ก่อนล่วงหน้า