“รัฐ เอกชน ชุมชน” จับมือ 3 ประสาน ฟื้นสมดุลนิเวศ “ป่าเขาพระ

“รัฐ เอกชน ชุมชน” จับมือ 3 ประสาน  ฟื้นสมดุลนิเวศ “ป่าเขาพระ

ป่าเขาพระยาเดินธง ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี เป็นผืนป่าที่มีความสำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย

เป็นป่าต้นน้ำของลุ่มน้ำป่าสัก ที่เอื้อประโยชน์ต่อภาคการเกษตร อุตสาหกรรม รวมทั้งเป็นแหล่งต้นน้ำ ที่หล่อเลี้ยงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ เทียบกับเมื่อ 4 ปีที่แล้ว จากสภาพป่าที่เสื่อมโทรมเป็นเขาหัวโล้น สภาพอากาศแห้งแล้งมีไฟป่าเกิดขึ้นเกือบทุกปี แต่ในปัจจุบันแทบจะไม่มีไฟป่าเกิดขึ้นในพื้นที่เลย และที่สำคัญชุมชนในพื้นที่เริ่มเข้าใจในการฟื้นฟูของซีพีเอฟกับกรมป่าไม้ มีการสื่อสารและมองไปข้างหน้าด้วยกัน

ก่อนจะมาถึงวันนี้มีกระบวนการของการมีส่วนร่วมของชุมชนโดยรอบป่า การสร้างเครือข่ายทำให้เราได้หยุดกิจกรรมที่เป็นการทำลายทรัพยากรเพื่อให้ป่าสามารถฟื้นฟูกลับมาอุดมสมบูรณ์ พร้อมที่จะอำนวยประโยชน์ให้กับชุมชนได้ต่อไปในอนาคต เทียบได้กับสถานการณ์โรคระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID – 19 ที่ทำให้ต้องหยุดการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ไปเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน เป็นช่วงที่ทรัพยากรธรรมชาติได้รับการฟื้นฟู

สภาพของป่าเขาพระยาเดินธงในวันนี้ เกิดจากกระบวนการอนุรักษ์และฟื้นฟู ซึ่งเป็นความร่วมมือ 3 ประสาน โดย ภาครัฐ คือ กรมป่าไม้ ภาคเอกชน คือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และชุมชนในพื้นที่ ดำเนินโครงการ “ซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” ร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า 5,971 ไร่ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 จนถึงปีนี้ (ปี 2563) เข้าสู่ปีที่ 5 ของการดำเนินโครงการ

159378299127

สภาพผืนป่าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เพราะมีปัจจัยที่ช่วยเร่งให้การฟื้นตัวของผืนป่าที่นี่เกิดขึ้นเร็วกว่าการที่ปล่อยให้ป่าฟื้นตัวเองตามธรรมชาติ จากวิธีการที่ซีพีเอฟและกรมป่าไม้นำมาใช้นั้น เรียกว่าเป็น นวัตกรรมด้านการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม โดยใช้รูปแบบการปลูกฟื้นฟูป่า 4 รูปแบบ คือ 1) การปลูกป่าในพื้นที่ที่เสื่อมโทรมมาก จะใช้วิธีการปลูกแบบพิถีพิถัน ตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์พืช ที่จะใช้ในการปลูก การใส่ปุ๋ยชีวภาพ มีการกำจัดวัชพืช มีการจัดทำระบบน้ำหยดทั่วทั้งแปลง 2) การปลูกป่าเชิงนิเวศ จะเป็นการปลูกโดยวิธีการปลูกเลียนแบบธรรมชาติ เพิ่มความชุ่มชื่นในดินด้วยการปลูก ต้นกล้วย และใช้กล้าไม้ที่เติบโตได้ดีในพื้นที่ มีการคลุมฟางที่โคนต้นและใช้น้ำหมักชีวภาพเป็นการเสริมธาตุอาหาร ในดิน 3) พื้นที่ที่มีบางส่วนเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม จะใช้วิธีการปลูกป่าแบบการปลูกเสริมป่า โดยที่ไม่เป็นการทำลายไม้เดิมที่อยู่ในพื้นที่ 4) การส่งเสริมการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติ พื้นที่ที่มีแม่ไม้และลูกไม้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่ไม่สามารถสืบพันธุ์ เติบโตเป็นไม้ใหญ่ หรือไม่สามารถกระจายทั่วพื้นที่ จึงต้องกำจัดเถาวัลย์ที่ปกคลุมเรือนยอดเพื่อเปิดให้แสงส่องส่องถึงลูกไม้ที่อยู่พื้นล่าง

 ในขั้นตอนการเลือกพันธุ์ไม้ที่จะใช้ในการปลูกฟื้นฟูนั้น ได้มีการศึกษาชนิดพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมกับประเภทของป่า ที่เป็นป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้งพันธุ์ไม้ที่ขึ้นได้ดีในพื้นที่ เช่น พฤกษ์ คาง ปออีเก้ง งิ้วป่า ทองหลางป่า ปอสำโรง ปอขาว ถ่อน สะเดา เขลง พันธุ์ไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ประดู่ป่า มะค่าโมง พะยูง แดง พันธุ์ไม้ที่ทนแล้ง เช่น มะขามป้อม ขันทองพยาบาท คงคาเดือด เป็นต้น โดยเมื่อปี พ.ศ.2562 ต้นไม้ที่ปลูกในพื้นที่เขาพระยาเดินธง สามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เรายังมองกันว่าความยั่งยืนของการดูแลป่า หัวใจสำคัญ คือ ประชาชน สำหรับภาคเอกชนโดย ซีพีเอฟ ได้สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนทำให้ชุมชนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างเหมาะสม สร้างแหล่งอาหารชุมชนให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ เช่น โครงการปลูกผักปลอดสารเคมีและเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ในธนาคารเมล็ดพันธุ์ เพื่อกระจายให้แก่สมาชิกในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง การอนุบาลปลาในบ่อเพื่อปล่อยสู่แหล่งน้ำสาธารณะ เป็นต้น

ปัจจัยสู่ความสำเร็จของโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าแห่งนี้มาจากการเรียนรู้ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และการติดตามผลการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันโครงการนี้สามารถเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้กับผืนป่าแห่งอื่นๆ ของประเทศด้วย

 นอกจากความร่วมมือเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในโครงการดังกล่าวแล้ว กรมป่าไม้ ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมปลูกต้นไม้ตามโครงการและกิจกรรมปลูกต้นไม้และปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ภายใต้ชื่อ “รวมใจไทย ปลูกต้นไม้ เพื่อแผ่นดิน สืบสานสู่ 100 ล้านต้น” พร้อมทั้งลงทะเบียนการปลูกต้นไม้ในเว็บไซต์กรมป่าไม้ http://plant.forest.go.th และสามารถขอรับกล้าไม้จากหน่วยเพาะชำกล้าไม้ในพื้นที่ของกรมป่าไม้ ได้ที่ http://bit.ly/2SJD8HB

โดย...

ชาตรี รักษาแผน

ผู้อำนวยการส่วนภาคีเครือข่ายฟื้นฟูพื้นที่สีเขียว

สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้