วิกฤติละตินอเมริการอบใหม่: บทเรียนสำหรับไทยและอาเซียน (3)

วิกฤติละตินอเมริการอบใหม่: บทเรียนสำหรับไทยและอาเซียน (3)

แม้ว่าคนไทยจะเผชิญการเลิกจ้างอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเกิดขึ้นที่องค์การค้าของกระทรวงศึกษาธิการ เลิกจ้างพนักงานเกือบพันคน

แต่สถานการณ์น่าจะดีกว่ากลุ่มประเทศละตินอเมริกา จำนวนการว่างงานสูงสุดในไทยอาจแตะระดับ 5 ล้านคน

ค่าเงินของประเทศในละตินอเมริกาอ่อนค่าและดิ่งอย่างรวดเร็ว ต่างจากค่าเงินสกุลเอเชียและไทยบาทที่ยังคงแข็งค่าต่อเนื่องจากการไหลเข้าของการลงทุน แม้ในสถานการณ์วิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลกจากการล็อกดาวน์ควบคุมการแพร่ระบาดโรคไวรัสโควิด-19

หนี้สินทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในอาร์เจนตินา เวเนซูเอลา บราซิล อัตราการว่างงานเป็นตัวเลข  2 หลักทั้งสิ้น อาร์เจนตินากำลังล้มละลายกันทั้งประเทศอีกรอบหนึ่ง

สถานการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นในไทยเมื่อ 23 ปีที่แล้ว

เราอย่าได้ประมาทว่า สถานการณ์แบบนี้จะไม่วนกลับมาเกิดในประเทศไทยหรือภูมิภาคเอเชียอีก แต่สถานการณ์อาร์เจนตินาตอนนี้ไม่ใช่หนี้เพิ่มขึ้น 2 เท่า แต่เป็นหนี้เพิ่มขึ้นหลายสิบเท่า

ปัจจุบัน รัฐบาลอาร์เจนตินามีหนี้ต่างประเทศจำนวนกว่า 2 ล้านล้านบาท และล่าสุดรัฐบาลอาร์เจนตินาเพิ่งผิดนัดชำระหนี้ (Default) จ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้จำนวนกว่า 16,000 ล้านบาทโดยก่อนหน้านี้รัฐบาลได้เจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้หลายรอบ เพื่อขอจ่ายดอกเบี้ยลดลงกว่า 60% และยืดการชำระคืนหนี้ออกไปอีก 2 ปี ถ้ารัฐบาลอาร์เจนตินาไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้ สถาบันการเงินในยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้รับผลกระทบแน่นอน

การผิดนัดชำระฯครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 9 ในประวัติศาสตร์ของประเทศ หลังจากที่เคยประสบกับเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้ไปแล้ว 8 ครั้ง นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากสเปนในปี ค.ศ. 1816 หรือเมื่อ 204 ปีที่แล้ว

เรื่องนี้ อาจเป็นบทเรียนให้แก่หลายประเทศ เพื่อเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากประเทศที่เคยประสบปัญหา เพื่อที่จะช่วยหลีกเลี่ยง และไม่เดินตามรอยประเทศละตินอเมริกาเหล่านี้

ประเทศไทยในตอนนี้ยังดูห่างไกลจากการเป็น อาร์เจนตินา แต่ วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ การว่างงาน การบิดเบือนหลักการเพื่อดำเนินนโยบายในการเอื้อประโยชน์บนภาระของลูกหลานไทย วิกฤตการณ์ทางการเมืองมาจากรัฐธรรมนูญที่มีปัญหา จะค่อยๆ บ่อนเซาะ “ประเทศไทย” ให้อ่อนแอลงในทุกด้าน และ จะเดินตามประเทศละตินอเมริกาในที่สุด

เราหลีกเลี่ยงมันได้ หากศึกษาบทเรียนจากกลุ่มประเทศละตินอเมริกา จุดเริ่มต้นของความล่มสลาย ความเปราะบางทางเศรษฐกิจและสังคม วิกฤตการณ์ทางการเมือง ของกลุ่มประเทศเกิดมาจากหลายสาเหตุหลักคือ

ประการแรกมรดกบาปจากยุคล่าอาณานิคม ประวัติศาสตร์ของการกดขี่ ความข่มขื่น การเข่นฆ่า การลุกขึ้นสู้เพื่ออิสระภาพและความเป็นธรรมร่วม 300-400 ปีจากเจ้าอาณานิคม ไล่เรียงตั้งแต่ เม็กซิโก คิวบา ปานามา เอลซัลวาเดอร์ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส นิการากัว เวเนซูเอลา โคลัมเบีย โบลิเวีย อาร์เจนตินา บราซิล ชิลี เปรู อุรุกวัย

ประชาชนของประเทศเหล่านี้ล้วนเผชิญชะตากรรมเดียวกัน การอภิวัฒน์เพื่อปลดปล่อยของเหล่ารัฐบุรุษแห่งละตินอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น ซิมอน โบลิวาร์ก็ดี ซาน มาร์ตินก็ดี ฟรานซิสโก เดอ มิรันดา ก็ดี แม้ต่อสู้จนได้อิสรภาพระดับหนึ่ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการสถาปนาระบอบสหพันธรัฐประชาธิปไตยแบบสหรัฐ ดินแดนทางเหนือของทวีปอเมริกาได้

นอกจากนี้ มีวีรบุรุษแบบ “มิเกล ฮิเดลโก อี คอสติญา” และ “โฮเซ มาเรียอา โมโรเลส” ของเม็กซิโก ผู้ก่อการต่อสู้เพื่อเอกราชจากเจ้าอาณานิคมสเปน ทั้ง 2 ท่านนี้ถูกจับประหารชีวิตโดย “กษัตริย์สเปน” ผู้นำสูงสุดของจักรวรรดิสเปน เจ้าของระบอบการปกครองเผด็จการกดขี่ ทั้ง 2 ท่านเป็นเพียงพระจากเมืองเล็กๆที่มีความกล้าหาญและมีแนวคิดแบบประชาธิปไตย

ต่อมาจึงเกิดวีรชนอีกท่านหนึ่ง นาม “อิตูร์บิเด” เจ้าของกองทัพอภิวัฒน์ “กองทัพแห่งคำมั่นสัญญา 3 ประการ” และ แผนการแห่งอิกัวลาซึ่งต้องการให้เม็กซิโกเป็นเอกราช มีเอกภาพระหว่างผู้อยพพชาวสเปน ผู้ที่เกิดในเม็กซิโกและชาวพื้นเมือง ท่านผู้นี้ประกาศเอกราชได้สำเร็จในวันที่ 27 ก.ย.1821

กลุ่มผู้นำเหล่านี้ นอกจากไม่สามารถสถาปนาระบอบประชาธิปไตยเช่นเดียวกับกลุ่มบิดาผู้ก่อตั้งประเทสหรัฐ หรือ กลุ่ม American Founding Fathers แล้วก็เกิดสงครามต่อสู้เแย่งชิงกันเองในกลุ่มผู้นำอีก

ในที่สุด แทนที่ระบอบประชาธิปไตยจะถูกสถาปนาขึ้นมาให้เข้มแข็ง การปกครองแบบอำนาจนิยมยังคงดำเนินต่อไปเพียงแต่เปลี่ยนตัวคนเล่นบทผู้นำเท่านั้นเอง คือ เปลี่ยนจากการปกครองเผด็จการของอุปราชที่ส่งมาจากสเปน เป็นการปกครองแบบเผด็จการของกลุ่มผู้เรียกร้องเอกราช ที่สถาปนาตัวเองขึ้นมาแทนที่อุปราชทั้งหลาย เจ้าอาณานิคมใช้วิธีการปรามปรามชาวพื้นเมืองอย่างรุนแรงและในหลายพื้นที่เข้าข่ายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ส่งเสริมระบบค้าทาสให้เฟื่องฟูในทวีปอเมริกา นำแรงงานทาสมาจากแอฟริกาเพื่อมาทำงานให้กับชนชั้นสูงผู้มั่งคั่งและผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมอเอาไว้ในมือ การผูกขาดอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจและการครอบงำทางความคิดและวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องยาวนานร่วม 300 ปี ได้ทิ้งมรดกบาปแห่งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจแบบสุดขั้วขึ้นในหลายประเทศ จนวันนี้และในอนาคตก็ยังยากที่จะแก้ไขได้

ตอนหน้า เราจะพูดถึงสาเหตุหลักอีก 4 ประการที่นำมาสู่ เขาวงกตแห่งวิกฤตการณ์ซ้ำซากของภูมิภาค ที่ควรเป็นบทเรียนสำคัญให้ ไทย และ เอเชีย เพื่อไม่ให้เดินซ้ำรอยบนความทุกข์ยากของประชาชน และเดินอยู่บนเส้นทางหายนะของประเทศชาติ