นวัตกรรมแห่ง กม.: เมื่อกรรมสิทธิ์ไม่ศักดิ์สิทธิ์ในโลกยุค 4.0

นวัตกรรมแห่ง กม.: เมื่อกรรมสิทธิ์ไม่ศักดิ์สิทธิ์ในโลกยุค 4.0

การประกอบธุรกิจในปัจจุบันไม่อาจอาศัยแต่เพียงเงินทุนได้อีกต่อไป ในกรณีที่เจ้าของธุรกิจประสงค์จะขยายธุรกิจ

นอกจากการระดมทุนผ่านทางตลาดทุนหรือช่องทางอื่นๆ แล้ว ยังอาจกู้ยืมเงินจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อขยายธุรกิจหรือเพื่อให้ธุรกิจเกิดสภาพคล่องและสามารถดำเนินการต่อไปได้

ในระบบกฎหมายเก่า เจ้าหนี้ตามสัญญากู้ยืมมักบริหารความเสี่ยงของตนด้วยการเรียกเอา “หลักประกัน” จากลูกหนี้ ไม่ว่าจะเป็น “ทรัพย์สิน” หรือเป็นบุคคล “ผู้ค้ำประกัน” ระบบกฎหมายไทยได้รองรับธุรกรรมดังกล่าวเอาไว้ในกฎหมายหลายฉบับ เช่น การจำนำหรือจำนองให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การจำนองเครื่องจักรให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.จดทะเบียนเครื่องจักร 2514 การจำนองเรือให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การจำนองเรือและบุริมสิทธิทางทะเล 2537 เป็นต้น

ในการทำธุรกรรมประเภทการจำนำนั้น เจ้าของทรัพย์สินจะต้องส่งมอบทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้ ทำให้ไม่สามารถนำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้ ยิ่งถ้าหากทรัพย์สินนั้น ใช้ในการประกอบธุรกิจก็จะทำให้เกิดค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ ตัวเจ้าหนี้เองก็ต้องมีต้นทุนในการดูแลรักษาทรัพย์สิน รวมถึงกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพราะแทนที่ทรัพย์สินดังกล่าวจะถูกนำไปใช้เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป กลับต้องไปอยู่ในความครอบครองของเจ้าหนี้ ที่ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินดังกล่าวเช่นกัน

เพื่อแก้ปัญหา รัฐบาลจึงได้ตรา พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ 2558 ขึ้น ซึ่งกำหนดว่าผู้ให้หลักประกันไม่จำเป็นจะต้องส่งมอบทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้อีกต่อไป ทำให้ผู้ให้หลักประกันสามารถนำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ต่อได้ในธุรกิจ อย่างไรก็ดี พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจฯ ก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์สิทธิในหลักประกันอีกประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญในระบบเศรษฐกิจไม่แพ้กัน นั่นคือ “Acquisition Financing Transaction” ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีคำแปลเป็นภาษาไทยที่เป็นทางการ ผู้เขียนจึงขอใช้คำดังกล่าวเพื่อสื่อถึงธุรกรรมนี้

ตามหลักกฎหมายต่างประเทศ และตามหลักการของ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจฯ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในระบบเศรษฐกิจ จึงได้มีการบัญญัติหลักการการบังคับทรัพย์หลักประกันโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศาล โดยเจ้าหนี้สามารถบังคับให้หลักประกันหลุดเป็นสิทธิ หรือนำหลักประกันออกขายก็ได้ ทำให้เจ้าหนี้สามารถได้รับ “เงิน” คืนมาจากการบังคับทรัพย์หลักประกันอย่างรวดเร็ว แน่นอน และไม่มีต้นทุนในการดำเนินกระบวนพิจารณาทางศาล ในกรณีที่มีข้อพิพาทจนต้องขึ้นสู่ชั้นศาล พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจฯ ก็ได้กำหนดให้ศาลนั่งพิจารณาคดีติดต่อกันทุกวัน และให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ถือเป็นที่สุดเพื่อลดภาระต้นทุนด้านระยะเวลาที่คู่พิพาทจะต้องแบกรับ และนี่คือข้อดีของสิทธิในหลักประกัน

หลายครั้งหลายคราวที่เจ้าหนี้มีประกันเหนือทรัพย์สินชิ้นเดียวกันจึงเกิดข้อพิพาทขึ้นว่า “ใครมีสิทธิดีกว่า” ในกรณีนี้ กฎหมายได้วางหลักเพื่อแก้ปัญหาโดยการกำหนดลำดับ บุริมสิทธิเพื่อกำหนดว่าเจ้าหนี้คนใด ภายใต้เงื่อนไขใด จะมีสิทธิดีกว่าและได้รับชำระหนี้ก่อนจะเห็นได้ว่าข้อพิพาทระหว่างเจ้าหนี้นี้เป็นข้อพิพาทระหว่าง สิทธิในหลักประกันด้วยกันเองโดยไม่เกี่ยวข้องกับกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด เนื่องมาจากหลักการที่รับรู้กันทั่วไปอยู่แล้วว่ากรรมสิทธิ์คือสิทธิที่ดีที่สุด

จากที่กล่าวมา กรรมสิทธิ์กับสิทธิในหลักประกันดูเหมือนจะเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกัน แต่ในโลกธุรกิจยุคปัจจุบัน หลายครั้งที่เกิดธุรกรรมซึ่งนำ 2 สิ่งนี้เข้ามาปะปนกันอย่างแยกไม่ออก เช่นที่ปรากฏในธุรกรรมการเช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่ง เป็นต้น ในการเช่าซื้อและลีสซิ่งนั้น ผู้ให้เช่าซื้อหรือผู้ให้เช่าแบบลีสซิ่งจะจัดหาทรัพย์สินที่ลูกหนี้ต้องการมา จากนั้นจึงให้ลูกหนี้ได้ใช้ทรัพย์สินดังกล่าวโดยลูกหนี้จะชำระค่าทรัพย์สินเป็นงวดๆ หลังจากชำระครบถ้วนทุกงวดแล้ว กรรมสิทธิ์จึงจะตกเป็นของลูกหนี้ในกรณีของเช่าซื้อ หรืออาจตกลงให้กรรมสิทธิ์ตกเป็นของลูกหนี้หรือไม่ก็ได้ในกรณีของลีสซิ่ง จะเห็นได้ว่าตลอดช่วงเวลาของการเริ่มทำธุรกรรมจนกระทั่งลูกหนี้ชำระหนี้งวดสุดท้าย กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวยังคงเป็นของเจ้าหนี้อยู่โดยตลอด

ทั้งธุรกรรมการหน่วงกรรมสิทธิ์ในหลากหลายประเภท ธุรกรรมการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งนี้ ล้วนแล้วแต่อยู่ในนิยามของธุรกรรมประเภท Acquisition Financing Transactionเพียงแต่ธุรกรรมเหล่านี้ไม่ก่อให้เกิด สิทธิในหลักประกันตามกฎหมายไทย เนื่องจากเจ้าหนี้ยังคงมี กรรมสิทธิ์เหนือทรัพย์สินนั้นอยู่ อย่างไรก็ตามจากลักษณะและแนวปฏิบัติของการทำธุรกรรมประเภทให้เช่าซื้อและให้เช่าแบบลีสซิ่ง ลูกหนี้เป็นผู้ครอบครองทรัพย์สิน ในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้และเจ้าหนี้จำเป็นต้องยึดทรัพย์สินคืน หากลูกหนี้ไม่ยินยอมส่งมอบก็จะก่อให้เกิดข้อพิพาทซึ่งกลายเป็นภาระต้นทุนแก่เจ้าหนี้โดยไม่สมควร

นอกจากนี้ หากพิจารณาจากมุมของเจ้าหนี้ สิ่งที่เจ้าหนี้ต้องการคือการได้รับชำระเงินคืน ไม่ใช่การบังคับเอาทรัพย์สินกลับคืนมาเพราะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ อีกทั้งทรัพย์สินดังกล่าวจะกลายเป็นทรัพย์สินมือ 2 ที่ผ่านการใช้งานแล้ว ทำให้มูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สินด้อยค่าลง หากมีลูกหนี้ผู้ไม่ยอมชำระหนี้เป็นจำนวนมาก แม้จะยินยอมส่งมอบทรัพย์สินคืนให้แก่เจ้าหนี้ก็ตามธุรกิจของเจ้าหนี้ย่อมประสบกับปัญหาสภาพคล่อง และเกิดปัญหาต่อการดำเนินธุรกิจในระยะต่อไปอาจกล่าวได้ว่า เจ้าหนี้ต้องการเงินไม่ใช่ทรัพย์สินที่ตนมีกรรมสิทธิ์อยู่กลับคืนมา กล่าวคือเมื่อกฎหมายไทยยังไม่ยอมรับให้เจ้าหนี้ผู้มี กรรมสิทธิ์สามารถมีสิทธิในหลักประกันได้ ก็ยังไม่ตอบโจทย์ธุรกรรม Acquisition Financing Transaction เช่น ให้เช่าซื้อ/ให้เช่าแบบลีสซิ่ง ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้เจ้าหนี้เหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงข้อดีของสิทธิในหลักประกันดังที่กล่าวไปข้างต้นได้เลย ซึ่งในประเด็นดังกล่าว กฎหมายต่างประเทศ เช่น UNCITRAL Model Law of Secured Transactions ล้วนรองรับหลักการนี้แล้ว กฎหมายยุคเก่าที่เคยตั้งคำถามว่า “มีกรรมสิทธิ์อยู่แล้ว จะต้องการสิทธิในหลักประกันเหนือทรัพย์สินที่ตนเองเป็นเจ้าของได้อย่างไร?” อาจจะถึงคราวต้องเปลี่ยนแปลง

ในการประกอบธุรกิจ ยุค 4.0 เจ้าหนี้ที่มี “กรรมสิทธิ์” กลับไม่ต้องการใช้ประโยชน์จาก “กรรมสิทธิ์” อีกต่อไป แต่ต้องการให้ตนมี “สิทธิในหลักประกัน” เหนือทรัพย์สินนั้นแทนแม้ว่าหากพิจารณาจากมุมมองทางกฎหมายแล้ว อาจดูเหมือนเจ้าหนี้ดังกล่าวกำลังประสงค์จะให้สิทธิของตนนั้น “ด้อยลง” แต่คำถามที่ผู้ออกแบบกฎหมายต้องพิจารณาก็คือ สิ่งใดจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และระบบเศรษฐกิจของประเทศมากกว่ากัน.

โดย...

ดร.ณัชชา สุขะวัธนกุล

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

กมลณิช สวัสดิ์พาณิชย์

นิติกรชำนาญการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง