กฎหมายบังคับใช้แต่ทำไมเรายังไม่คาดเข็มขัดนิรภัย

กฎหมายบังคับใช้แต่ทำไมเรายังไม่คาดเข็มขัดนิรภัย

เมื่อปีที่ผ่านมา ค่ายโทรทัศน์ใหญ่ของเกาหลีใต้ KBS ประกาศแบนมิวสิควีดิโอเพลง Kill This Love ของ Blackpink

ด้วยเหตุผลว่าใน MV มีฉากละเมิดกฎหมายจราจร โดยศิลปินไม่คาดเข็มขัดนิรภัย เป็นที่สนใจทั้งในเกาหลีใต้และกลุ่มผู้ติดตามศิลปินเกาหลีในไทย

ตัวอย่างนี้สะท้อนว่า ประเทศเกาหลีใต้ไม่เพียงแต่เคร่งครัดการใช้เข็มขัดนิรภัยเมื่อขับขี่บนถนนเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงมาตรการเฝ้าระวังทางสังคม การให้ความสำคัญและความร่วมมือจากภาคส่วนอื่นๆ ด้วย

ในประเทศไทย การคาดเข็มขัดนิรภัยแม้มีการรณรงค์มาเป็นระยะเวลานาน อีกทั้งมีบทลงโทษตามกฎหมายใน พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งระบุว่าหากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับตั้งแต่ 500-5,000 บาท ครอบคลุมทั้งคนขับและผู้โดยสารทุกที่นั่ง แต่ที่ผ่านมาหากไม่ใช่ช่วงกวดขันเข้มข้น เช่น 7 วันอันตราย การคาดเข็มขัดนิรภัยมักไม่ถูกให้ความสำคัญ เห็นได้จากอัตราการคาดเข็มขัดนิรภัยในประเทศอยู่ในระดับต่ำ ไม่สอดคล้องกับกฎหมายที่เข้มข้น

ผลการสำรวจในโครงการศึกษาและประเมินผลการบังคับใช้กฎหมายคาดเข็มขัดนิรภัยเพื่อความปลอดภัยทางถนน โดยทีดีอาร์ไอพบว่าผู้คาดเข็มขัดนิรภัยส่วนใหญ่คือผู้ขับขี่ ส่วนผู้โดยสารเบาะหลังโดยเฉพาะรถแท็กซี่และรถตู้ที่โดยสารในเมือง เฉลี่ยราว 50% ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ทั้งที่ประชาชนมากกว่าครึ่งทราบดีถึงประโยชน์ของการคาดเข็มขัดนิรภัย โดยผู้ใช้รถใช้ถนน 52% ทราบถึงผลเสียในการไม่คาดเข็มขัดนิรภัยเป็นอย่างดี และราว 62% มองว่าเข็มขัดนิรภัยมีความสำคัญในการเดินทางอย่างมาก แต่การรับรู้กลับไม่ส่งผลถึงพฤติกรรมมากนัก

สาเหตุประการแรกเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มข้นสม่ำเสมอ เพราะมักเน้นเฉพาะช่วงเทศกาล และการทำงานที่ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกันในแต่ละพื้นที่จังหวัด ทำให้เข็มขัดนิรภัยเป็นอุปกรณ์ที่คนมักหลงลืมไม่ให้ความสำคัญตลอดเวลา อีกทั้งในรายการตรวจสภาพรถโดยกรมขนส่งทางบก ไม่มีอุปกรณ์เข็มขัดนิรภัยอยู่ในรายการบังคับตรวจทั้งในแบบบันทึกการตรวจรับรองสภาพรถ และแบบคำขอจดทะเบียนรถ ซึ่งอาจหมายความว่ารัฐไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าเข็มขัดนิรภัยนั้นสำคัญเช่นเดียวกับอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยอื่นๆ ในรถ

ผลสำรวจยังพบอีกว่า ภาครัฐและภาคส่วนที่รณรงค์สร้างการรับรู้ขาดการสื่อสารให้ข้อมูลต่อเนื่อง เพราะประชาชนราว 85% ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับเข็มขัดนิรภัยน้อยมากและมีความถี่ต่ำ ซึ่งไม่มากพอที่จะส่งผลให้เกิด พฤติกรรมทางสังคมหรือ ธรรมเนียมปฏิบัติต่อการคาดเข็มขัดนิรภัย 

ภาครัฐจำเป็นต้องส่งสัญญาณที่ชัดเจนโดยปรับในเชิงโครงสร้างทั้งนโยบายและการบังคับใช้เข็มขัดนิรภัยที่ชัดเจนจากส่วนกลาง และกำหนดขั้นตอนการตรวจจับในทุกพื้นที่ ทุกช่วงเวลา รวมทั้งปรับปรุงมาตรการการตรวจสภาพรถ จดทะเบียนรถ โดยจัดให้เข็มขัดนิรภัยอยู่ในรายการคู่มือตรวจสภาพรถ และตัวรถต้องมีเทคโนโลยีเตือนการคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง

อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้มาตรการต่างๆ โดยรัฐ จำเป็นต้องพิจารณาความปลอดภัยควบคู่กับพฤติกรรมเดิมของผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างรอบด้าน เพราะในบางกรณีแม้ผู้โดยสารต้องการคาดเข็มขัดนิรภัย แต่อาจทำไม่ได้ในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะกรณีของรถตู้ที่ผู้ให้บริการมักรับผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่งและนั่งเบียดเสียดกัน ทำให้ไม่สามารถคาดเข็มขัดนิรภัยได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยจึงต้องมีการควบคุมดูแลทั้งเรื่องจำนวนที่นั่งและการคาดเข็มขัดนิรภัยควบคู่กัน

ทั้งนี้ ผู้เขียนเห็นว่าการส่งสัญญาณและการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้นจากรัฐนั้นไม่เพียงพอให้ประชาชนเห็นความสำคัญและเกิดพฤติกรรมคาดเข็มขัดนิรภัย เรื่องนี้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากภาคสังคมและสื่อต่างๆ เห็นได้จากกรณีตัวอย่างสถานีโทรทัศน์ KBS ของเกาหลีใต้ที่กล่าวไปในเบื้องต้น

หากสื่อมวลชนไทยให้ความร่วมมือส่งเสริมพฤติกรรมคาดเข็มขัดนิรภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มผู้โดยสารเบาะหลัง ผู้โดยสารรถแท็กซี่ ผู้โดยสารรถตู้และมินิบัสที่มักใช้ความรู้สึกมาประเมินความเสี่ยง เพื่อตัดสินใจคาดหรือไม่คาดเข็มขัดนิรภัย (เช่น การนั่งเบาะหน้าหรือการเดินทางไกลเสี่ยงมากกว่าจึงต้องคาดเข็มขัดนิรภัย เป็นต้น) จะช่วยสร้างภาพจำตอกย้ำความสำคัญเกี่ยวกับการใช้เข็มขัดนิรภัยในชีวิตประจำวันของผู้ชม นอกเหนือจากการใช้มาตรการบังคับและบทลงโทษตามกฎหมายเพียงอย่างเดียว

โดยสรุป หากจะตอบคำถามว่ากฎหมายบังคับใช้แต่ทำไมเรายังไม่คาดเข็มขัดนิรภัย คำตอบคือ ประเทศไทยยังขาดการบังคับใช้ที่สม่ำเสมอ แต่การบังคับด้วยกฎระเบียบนั้นไม่ใช่คำตอบทั้งหมด ซึ่งยังต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วน รวมถึงเราทุกคนควรช่วยกันส่งเสริมพฤติกรรมการคาดเข็มขัดนิรภัยกับคนรอบข้าง โดยเริ่มปฏิบัติด้วยตัวเองและเตือนให้คนใกล้ชิดใช้งานทุกครั้งในการเดินทาง ซึ่งจะเป็นกระบวนการทางสังคมแทนการมุ่งหวังจากกฎหมายและรัฐเพียงอย่างเดียว

โดย... ณปภัช สิริเกษมชัย