มองไปข้างหน้ากับการปรับตัวของธุรกิจหลัง New Normal

มองไปข้างหน้ากับการปรับตัวของธุรกิจหลัง New Normal

จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วแบบไม่ทันตั้งรับ ส่งผลกระทบในวงกว้าง กระทบทั้งเศรษฐกิจและสังคม

แทบจะเรียกได้ว่านี่คือวิกฤติครั้งใหญ่ของโลก และยังเป็นการเปลี่ยนแปลงที่พลิกวิถีการใช้ชีวิตของผู้คน สังคม แบบหน้ามือเป็นหลังมือ กลายเป็นวิถีใหม่ (New Normal) ส่งผลให้ธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนไป ใครที่สามารถปรับตัวได้เร็วก็หมายถึงการอยู่รอดและเดินหน้าต่อของธุรกิจ สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการควรเร่งทำคือ ทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงของวิถีผู้คนจากนี้ไป 

ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่าธุรกิจที่ไม่ประสบปัญหาจนชะงักและยังสามารถเติบโตได้เป็นอย่างดีคือ ธุรกิจที่ใช้ออนไลน์เป็นหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจ เพราะออนไลน์กลายเป็นช่องทางเดียวที่เข้าถึงตัวผู้บริโภคแบบตรงกลุ่มและทันท่วงที เข้าถึงคนในทุกกลุ่มทุกช่วงอายุ ดังนั้นผลที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ ดิจิทัลได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว และเมื่อผู้บริโภคยิ่งคุ้นชินกับการใช้ดิจิทัลมากเท่าไร ก็จะยิ่งเป็นโอกาสทางธุรกิจมากเท่านั้น 

ข้อมูลจากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่าในช่วง มี.ค.- เม.ย. การซื้อขายบนแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นกว่าต้นปีไม่ต่ำกว่า 400% ขณะเดียวกันในช่วงของการกักตัว(Quarantine) ธุรกิจเดลิเวอรี่ที่ใช้การสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์กลับคึกคักสวนกระแสที่เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า พฤติรรมและการใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน  

กรณีของบางธุรกิจที่มีหน้าร้านและเน้นประสบการณ์การใช้บริการต่างๆ ที่จุดขาย เช่น ร้านชาบู ที่หน้าร้านต้องปิดลงชั่วคราวจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด เกิดเป็นความท้าทายใหม่ๆ ที่ทำให้ผู้ประกอบการได้คิดปรับวิธีการให้บริการและประสบการณ์แบบส่งตรงถึงบ้าน สร้างความสะดวกในการรับประทานอาหารผ่านการจัดแคมเปญหม้อไฟฟ้าที่มาพร้อมส่วนประกอบอาหารต่างๆ ในการรับประทานชาบู ด้วยการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ พร้อมกับการใช้บริการเดลิเวอรี่ เพิ่มความสบายในการรับสินค้าด้วยเวลาอันรวดเร็วตามความต้องการในขณะนั้นของผู้บริโภค ผู้บริโภคจึงได้รับสินค้าในเวลาอันสั้นง่ายๆ ที่บ้าน เป็นการพลิกวิกฤติเป็นโอกาสกับยอดขายที่มาแบบถล่มทลายจนกลายเป็นกระแสขึ้นมา

ในบางอุสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างธุรกิจโรงแรม กรณีของโฮสเทลเล็กๆ ที่เน้นกลุ่มนักท่องเที่ยว และได้รับผลกระทบโดยตรงในช่วงดังกล่าวเนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาพัก แต่ด้วยคอนเซ็ปต์ของโฮสเทลเองนั้นในตอนก่อตั้งได้มีการจัดสรรครัวไว้ เพื่อเพิ่มประสบการณ์ในช่วงที่มีการเข้าพัก ด้วยการสอนทำอาหารไทยซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งของโฮสเทล มาวันนี้เจ้าของได้เปลี่ยนจากครัวสำหรับจัดกิจกรรมสอนทำอาหารสำหรับผู้เข้าพักเป็น Cloud Kitchen ใจกลางเมือง เพื่อให้ร้านอาหารชื่อดังต่างๆ เข้ามาใช้ครัวในการทำอาหารเพื่อการขายอาหารแบบเดลิเวอรี่ ตอบโจทย์แนวทางในการทำธุรกิจที่จะเปลี่ยนไปในอนาคตสำหรับธุรกิจร้านอาหารที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น และลดการขยายสาขาที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันลง และหันมาใช้รูปแบบ Cloud Kitchen ในการลดต้นทุนทางธุรกิจเพื่อสร้างยอดขาย แต่ยังตอบโจทย์ Food Delivery ที่กำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เห็นได้ชัดเจนว่าการสร้างโอกาสจากการปรับตัวของธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญสำหรับธุรกิจ และที่สำคัญการทำธุรกิจบนออนไลน์ไม่ใช่แค่เพียงแค่การสร้างโอกาส หรือยอดขายที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้ประกอบการสามารถเก็บข้อมูลของผู้บริโภคเพื่อนำมาปรับใช้ในการปรับปรุงด้านต่าง ๆ ในธุรกิจ และใช้ประโยชน์ในการทำการตลาดต่อไปในอนาคตได้อีกด้วย ซึ่งเหล่านื้คือพฤติกรรมผู้บริโภคและรูปแบบของธุรกิจที่จะเปลี่ยนไปในช่วง New Normal ซึ่งเป็นประโยชน์และโอกาสแก่ผู้ประกอบการในการนำไปใช้เพื่อปรับตัว พัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

[เกี่ยวกับผู้เขียน สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับ 2) จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปริญญาโทด้านพัฒนาเศรษฐกิจ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) เป็นผู้คว่ำหวอดในธุรกิจการเงินธนาคารกว่า 30 ปี ก่อนดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร ได้รับความไว้ใจในการรับผิดชอบดูแลลูกค้าผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ผ่านสภาพเศรษฐกิจในช่วงวิกฤติฟองสบู่มาได้ ทำให้มีเงินทุนลงไปในระบบเศรษฐกิจของประเทศผ่านผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ หลังเมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการรับผิดชอบดูแลสายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ช่วยให้คนมีที่อยู่อาศัยประมาณ 6 แสนครัวเรือน สร้างธุรกิจสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยให้มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ของธนาคารพาณิชย์ ปัจจุบันรับผิดชอบลูกค้า SME เป็นผู้ริเริ่มโครงการ SCB SME Academy ชุมชนความรู้ทางธุรกิจเพื่อบ่มเพาะศักยภาพเอสเอ็มอีแบบ 360 ช่วยสร้างผู้ประกอบการของประเทศให้แข็งแรงส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศมีการพัฒนาอย่างมั่นคง]