เรื่องของการสนับสนุนให้คนไทยใส่ผ้าไทย

เรื่องของการสนับสนุนให้คนไทยใส่ผ้าไทย

คำว่าผ้าไทย เป็นคำที่มีความหมายหลากหลาย เริ่มจากผ้าไทยน่าจะหมายถึง ผ้าฝ้าย กับผ้าไหม คือไม่ใช่วัสดุสังเคราะห์

การใส่ผ้าไทย ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ชุดแบบนางนพมาศ หรือไม่จำเป็นต้องเป็นเสื้อลูกไม้กับผ้าถุง ผู้ชายก็ไม่จำเป็นต้องเป็นชุดเหมือนจะไปวัด

ถ้าวัตถุประสงค์ของการรณรงค์ใส่ผ้าไทยคือการเสริมสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ และการอนุรักษ์ความเป็นไทย ในมุมมองวงจรชีวิตผ้าและเครื่องนุ่งห่ม เราก็ควรสนับสนุนของที่ผลิตได้แบบเริ่มต้น (from scratch) ในประเทศ

ดังนั้น หากย้อนกลับมามองภาพจำของชุดไทย เสื้อผ้าลูกไม้อาจจะไม่ใช่ของที่ผลิตได้ในประเทศ เพราะผ้ามักจะมาจากจีน และอินเดียหรืออยู่ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รายได้ไม่ตกไปในมือชาวบ้าน

ผ้าที่ผลิตตั้งแต่ต้นในประเทศคือผ้าฝ้ายและผ้าไหม วัตถุดิบของเสื้อผ้าแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน

ผ้าฝ้าย

การปลูกฝ้ายผลิตแถบภาคกลางตอนบน ภาคเหนือและบางส่วนของภาคอิสานได้แก่ สุโขทัย เพชรบูรณ์ พะเยา แพร่ น่าน นครสวรรค์ เลย ลพบุรี ชัยภูมิ และสระแก้ว จากนั้นฝ้ายอาจจะได้รับการเข็นมือและทอมือเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือชาวบ้านอาจจะขายเป็นกระสอบเพื่อผลิตแบบอุตสาหกรรม มีธุรกิจขนาดเล็กมากมายที่ทอผ้ายผลิตผ้าเอง ตัดเย็บและออกมาเป็นเสื้อ ผ้า ผ้าซิ่น สามารถซื้อหาได้ เช่น กลุ่มทอฝ้ายต่างๆ ซึ่งค้นหาได้ใน social media กระบวนการนี้ยังมีความซับซ้อนในการผลิตเป็นเครื่องนุ่งห่ม หลายๆ ผู้ผลิตมุ่งเน้นการผลิตแบบไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและใช้วัสดุเคมีให้น้อยที่สุด เช่นการปลูกครามเพื่อนำใบมาต้มย้อมครามผ้าฝ้าย การนำส่วนต่างๆ ของพืชที่ให้สีต่างกันมาย้อมฝ้าย และการทอผ้าด้วยมือ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่สืบต่อมาจากบรรพบุรุษซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องจัดหาเครื่องนุ่งห่มด้วยตัวเองในสมัยโบราณ

ผ้าไหม

ประเทศไทยมีความมหัศจรรย์ในเรื่องผ้าไหมอยู่มาก เป็นประเทศที่ยังคงมีคนเลี้ยงหนอนไหมด้วยการปลูกต้นหม่อนหลังจากฤดูเก็บเกี่ยวทำนาเสร็จสิ้นลง จากนั้นก็ทอผ้าอยู่ใต้ถุนบ้าน มัดหมี่ขึ้นลายจะทำเองหรือจ้างก็แล้วแต่ ย้อมสี และทอผ้าเอง ปีหนึ่งๆ อาจจะได้ผ้าไหมไม่มาก ถือเป็นงานอดิเรก อาจจะเก็บไว้ใส่เอง ให้ลูกหลาน หรือขายเป็นรายได้พิเศษ และมีอีกหลายเจ้าที่เป็นธุรกิจอุตสาหกรรมใหญ่ มีการเลี้ยงไหม มีคนทอผ้าไหมให้ตามที่เจ้าของกำหนดลายและสี ส่วนใหญ่ของผ้าไหมผลิตในภาคอิสาน

ทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหม ยังมีชาวบ้านที่ทอมือโดยซื้อด้าย (ไหมหรือฝ้าย) มาย้อมและผลิตจนมีชื่อเสียงเช่นผ้าเกาะยอ ผ้าคูบัว โดยยังคงส่งต่อลายอันเป็นเอกลักษณ์จากบรรพบุรุษมาเรื่อยๆ และยังมีการผลิตผ้าแบบมัดย้อมบาติกทางใต้ซึ่งก็จัดเป็นผ้าไทยได้

โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนรักผ้าไทย ทั้งผ้าฝ้ายทอมือและผ้าไหมทอมือที่ชาวบ้านทอมากๆ และด้วยการเฟื่องฟูของ social media ในปัจจุบัน ผู้ซื้อสามารถเข้าถึงผู้ผลิตในระดับต้นทางหรือวิสาหกิจชุมชนได้อย่างไม่ยาก และคิดว่าผ้าฝ้ายและผ้าไหมทอมือนี้แหละเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีที่สุด มีพ่อค้าคนกลางน้อยที่สุด สามารถอนุรักษ์ความเป็นพื้นถิ่นไทยได้ในหลายๆ ที่ และเป็นสิ่งที่ภาครัฐควรสนับสนุน ทั้งช่องทางการขาย การสร้างอัตลักษณ์ผ้าไทยที่ควรชัดเจนก่อนการรณรงค์ รวมทั้งการให้ความรู้ที่จะทำให้การผลิตเช่นการย้อม ไม่สร้างมลพิษในระดับท้องถิ่น อย่างไรก็ดี เนื่องจากการผลิตอะไรก็ตามด้วยมือทำให้ทำได้ในปริมาณน้อย มีต้นทุนสูง เช่น สีธรรมชาตินั้นหาได้ยากและมีราคาสูงกว่าสีอุตสาหกรรม ดังนั้น ทางเลือกนี้เหมาะกับผู้ที่เต็มใจจ่ายเงินเพิ่มมากกว่าเสื้อจากผ้าใยสังเคราะห์ และอาจจะไม่สามารถใช้ได้กับทุกคนในประเทศ

เสื้อผ้าเสมือนผ้าไทย

หากท่านไปเดิมสำเพ็ง หรือตลาดนัดตามชุมชนต่างๆ เสื้อผ้าส่วนใหญ่มาจากการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตได้เยอะๆ ท่านอาจจะเจอกับกระโปรงหรือกางเกงผ้าฝ้ายสังเคราะห์ (ฝ้ายผสมเส้นใยพลาสติก) ที่พิมพ์ลายเลียนแบบการทอ หรือพิมพ์เป็นลายไทย ผ้าถุงพิมพ์ลายโบราณต่างๆ ที่มีราคาย่อมเยากว่าผ้าฝ้ายแท้ทอมือ หรือผ้าไหมแท้ทอมือ เสื้อผ้าเหล่านี้ราคาถูกกว่า และอาจจะดูแลรักษาง่ายกว่า ก็พอจะสนับสนุนในการรณรงค์ใส่ผ้าไทยถึงแม้ว่าจะเป็น “เสมือนไทย” เพราะหากคิดถึงประโยชน์ว่า ถ้าผู้คนซื้อหามาใส่เพราะความชอบในความเป็นไทย วันหนึ่งเค้าจะซื้อผ้าไทยที่แท้จริงเมื่อพร้อมเอง

ข้อเสนอต่อภาครัฐ

ผู้เขียนอยากเสนอให้ภาครัฐที่รณรงค์ให้ใส่ผ้าไทยในที่ทำงาน ได้ให้ความรู้เรื่องข้างต้นถึงความหมายที่แท้จริงของคำว่าผ้าไทย ไปพร้อมๆกัน รวมทั้งเสนอให้จัดหาแบบเสื้อผ้าที่ทันสมัยใส่สบาย แล้วตัดด้วยผ้าไทย ทดแทนการใส่สูทผูกไทด์ ซึ่งไม่เหมาะสมกับประเทศเขตร้อน และในทางอ้อมหน่วยงานก็ต้องเปิดแอร์ให้เย็นๆเนื่องจากใส่เสื้อผ้าแบบชาวตะวันตก สิ้นเปลืองทรัพยากรและมีส่วนต่อการเพิ่มก๊าซเรือนกระจก แน่นอนชาวบ้านทั่วไปคงไม่สามารถจะใส่เสื้อราชปะแตนตัดด้วยไหมเหมือนกับคณะรัฐมนตรีได้ทุกวันเวลามาทำงาน เสนอว่าคนที่มีความพร้อมจะใส่ผ้าไหมก็ได้ แต่สำหรับคนหมู่มากผ้าฝ้ายปลูกโดยชาวบ้านและทอมือ หรือผ้าบาติก ผ้าพิมพ์ลายไทยเป็นทางเลือกที่ดี สามารถจัดหาได้ในปริมาณมาก ใส่ได้บ่อยค่ะ

โดย... จีมา ศรลัมพ์