ก้าวไปให้ไกลกว่า GDP ในยุคหลังโควิด-19

ก้าวไปให้ไกลกว่า GDP ในยุคหลังโควิด-19

GDP (จีดีพี) วัดความสำเร็จของเศรษฐกิจ ความเจริญทางสังคมเราได้จริงหรือ?

ถ้าประเทศมีตัวเลข GDP ที่สูง แต่สังคมยังคงมีความเหลื่อมล้ำ คนบางกลุ่มยังต้องดิ้นรนหาเช้ากินค่ำ การมีความสุขไปวันวันยังเป็นเรื่องยากตัวเลข GDP ที่สูงนั่นก็อาจไร้ความหมายกับคนในประเทศ  ยิ่งในยุควิกฤตการณ์โควิด-19 ทั่วโลกต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายด้านทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและความมั่นคง

แม้ว่า GDP เป็นตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่มันไม่สามารถสะท้อนชีวิตของประชาชนและการใช้ชีวิตผู้คนในสังคมได้อย่างแท้จริงทุกมิติ GDP ไม่ได้วัดหรือประเมินมูลค่าสิ่งที่อยู่นอกกลไกตลาด อาทิ ความสุข ความสุนทรียภาพ คุณค่าของความสัมพันธ์ ความมั่นคงในชีวิต สุขภาพ กิจกรรมส่วนตัว

หลายฝ่ายพยายามปรับปรุงตัวชี้วัดใหม่ เช่น ความพยายามวัดความอยู่ดีมีสุขประชาชาติ หรือ National Wellbeing ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีการกล่าวถึงมาหลายปีแล้วว่าเป็นเครื่องมือสำหรับผู้ตัดสินใจเชิงนโยบายและพลเมืองในการวัดความก้าวหน้าของสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ที่ควรจะนำมาใช้เสริมหรือทดแทน GDP

ในทางวิชาการ OECD ได้พัฒนาแนวคิดเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีหลายมิติโดยได้นิยามถึง เศรษฐกิจแห่งความอยู่ดีมีสุข” (Economy of Well-being) ว่าเป็นเศรษฐกิจที่ขยายโอกาสที่มีให้กับผู้คน  โอกาสเหล่านี้เป็นผลลัพธ์ที่ดีสำหรับประชากรรวมถึงคนจนด้วย ช่วยลดความไม่เท่าเทียม และสร้างความมั่นใจด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างยั่งยืน

เศรษฐกิจแห่งความอยู่ดีมีสุขยังเป็นการให้โอกาสผู้คนเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและช่วยให้พวกเขาตระหนักถึงโอกาสเหล่านั้น การพัฒนาด้วยแนวคิดนี้ ผู้กำหนดนโยบายจึงไม่เพียงแต่ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีแบบชั่วคราวเท่านั้น แต่ลงทุนในศักยภาพของผู้คน (Human Capital) ในฐานะตัวขับเคลื่อนหลักสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว รวมถึงช่วยสร้างความยืดหยุ่นและเสถียรภาพทางสังคม (societal resilience and stability) อีกด้วย

ทั้งยังเพิ่มศักยภาพคนให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวพร้อมๆ กันนั้นยังเป็นการปกป้องประชาชนได้ดีขึ้น วิกฤติต่างๆ นโยบายเพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจแห่งความอยู่ดีมีสุข

จากสถานการณ์โควิด- 19 ส่งผลให้พลวัตทางเศรษฐกิจทั่วโลกต้องเปลี่ยนแปลง ประเทศไทยจะต้องเติบโตบนจุดแข็ง ยุทธศาสตร์เราต้องก้าวไปให้ไกลกว่า GDP หรือ“Moving Beyond GDP” ต้องปรับเปลี่ยนไปสู่การเติบโตอย่างสมดุล (Balanced Growth) มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ และเน้นการเติบโตอย่างสมดุล เคารพสิ่งแวดล้อมและมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ประเทศไทยจะต้องเร่งสร้างและพัฒนาชุดตัวชี้วัดใหม่ให้กับประเทศที่คำนึงถึงการเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน เช่น เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals:SDGs) หรือความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross Domestic Happiness: GDH)

ในขณะที่เร่งผลักดันวาระเชิงนโยบายหลากหลายวาระที่สำคัญเช่น

  • ผลักดันการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (Bio-Circular-Green Economy)หมายถึงเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) และเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green economy)
  • พัฒนาระบบนิเวศเพื่อเข้าสู่สังคมไร้เงินสด(Cashless Society)
  • ยกระดับอุตสาหกรรม (Reinventing Industry)มุ่งเน้นมูลค่าสูง ผลิตภาพสูงและการสร้างงาน รวมถึงการใช้เทคโนโลยี เช่น เน้นเกษตรอัจริยะการแบ่งปันเครื่องจักรใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเกษตร เกษตรยั่งยืน อาหารปลอดภัย อาหารสุขภาพ อาหารออแกนิกอาหารฟังก์ชั่น (functional food) การกระจายที่มาและแหล่งท่องเที่ยว ท่องเที่ยวสุขภาพ ท่องเที่ยวระดับพรีเมี่ยมการค้าปลีกออนไลน์การค้าที่ตอบโจทย์รายบุคคลมากขึ้น(Personalized)และอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจท้องถิ่นเศรษฐกิจฐานราก (Local economy)พัฒนาสินค้า GI ผสานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมสู่สินค้าประจำท้องถิ่น งานคราฟท์ อาหารพื้นถิ่น การค้าท้องถิ่น การท่องเที่ยวท้องถิ่น
  • ยกระดับเครื่องยนต์แห่งอนาคต (Future growth engine)โดยพัฒนาเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอนาคต EEC, AI, Blockchain economy, 5G/IoT/Smart economy, Creative​ Economy​​
  • ลดความเหลื่อมล้ำ ผ่านการเพิ่มโอกาสอย่างทั่วถึงและใช้สวัสดิการแบบตรงจุด
  • สร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ให้คุณค่ากับการรักษาฐานทรัพยากรธรรมชาติและดูแลคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
  • สร้างให้เกิดธรรมาภิบาลทั้งในภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม
  • การผนึกกำลังทางสังคม เพิ่มการมีส่วนร่วมของคนในการขับเคลื่อนสังคม การปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับคุณค่าและประโยชน์ของศิลปวัฒนธรรม เชื่อมโยงการใช้องค์ความรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมแขนงต่าง ๆ การส่งเสริมค่านิยมคุณค่าความเป็นมนุษย์ วิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบที่ดี อาทิ สังคมแห่งความรัก ความเอื้ออาทรแบ่งปันช่วยเหลือในยามวิกฤต สุนทรียศาสตร์ การสร้างสมดุลของชีวิต ควบคู่ไปกับมิติการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมของประเทศ

“เศรษฐกิจแห่งความเป็นอยู่ที่ดี” จะทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและความเป็นอยู่ที่ดี ควบคู่ไปกับเกิดกลไกการทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของผู้คนและสังคมห้วงเวลายามวิกฤตนี่ก็นับเป็นห้วงเวลาของโอกาสแห่งการเปลี่ยนแปลง ประเทศไทยเราควรก้าวไปข้างหน้าไปให้มากกว่า GDP ได้แล้ว

โดย...

ประกาย ธีระวัฒนากุล

สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)

https://www.facebook.com/thailandfuturefoundation/