บริษัทดำรงอยู่เพื่อ...?

บริษัทดำรงอยู่เพื่อ...?

คำถามคลาสสิกหนึ่งเวลาสอนหนังสือทางด้านบริหารธุรกิจคือบริษัทดำรงอยู่เพื่อใครหรือเพื่ออะไร?

ในอดีตจะถูกสอนกันมาว่าสาเหตุของการดำรงอยู่ขององค์กรธุรกิจคือเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้น ดังนั้น ในอดีตเวลานึกถึงเป้าหมายสูงสุดขององค์กรเอกชนต่างๆ ก็มักจะหนีไม่พ้นเรื่องของการสร้างผลตอบแทนสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้น อย่างไรก็ดี ในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมาแนวคิดในเรื่องสาเหตุของการดำรงอยู่ขององค์กรเอกชนเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ถึงแม้ผู้ถือหุ้นยังมีความสำคัญอยู่ แต่ก็เริ่มมีคำถามที่ท้าทายต่อสาเหตุของการดำรงอยู่ขององค์กรธุรกิจออกมามากขึ้น

หลายปีที่ผ่านมา แนวคิดที่สำคัญประการหนึ่งในด้านกลยุทธ์และการบริหารจัดการที่เป็นที่สนใจกันมากขึ้นนั้นคือ เรื่องของการกำหนด Purpose ขององค์กร ซึ่ง Purpose นั้นจะแตกต่างจากวิสัยทัศน์พันธกิจวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายต่างๆ ที่เป็นที่คุ้นเคยกัน แต่จะเน้นว่าองค์กรธุรกิจดำรงอยู่และก่อให้เกิดประโยชน์ (หรือImpact) ต่อชีวิตของ Stakeholders กลุ่มต่างๆ รวมทั้งสังคมในระดับต่างๆ ได้อย่างไร

ปัจจุบัน องค์กรชั้นนำระดับโลกหลายๆ แห่งเริ่มกำหนด Purpose ของตนเองให้ชัดเจนขึ้นมา อาทิ Lego จะระบุว่า Purpose ของตนเอง คือเพื่อ Inspire and develop builders of tomorrow หรือสถาบันการเงินอย่าง ING จะระบุว่าตนเองดำรงอยู่เพื่อ Empowering people to stay ahead in life and in business

มีงานวิจัยทั้งจาก EY และ PwC ในเรื่องของการกำหนด Purpose ต่างชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ผู้บริหารองค์กรต่างๆ เชื่อและเห็นถึงความสำคัญในการกำหนด Purpose โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่คนรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดการทำงานมากขึ้น พนักงานรุ่นใหม่จะไม่ได้มองการทำงานเพื่อรายได้หรือการเติบโตอย่างเดียว แต่มองหาความหมายในการทำงานที่จับต้องได้ รวมทั้งอยากจะทำงานในองค์กรที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง

สำหรับ Purpose สำคัญที่องค์กรต่างๆ มุ่งเน้นนั้นผลการวิจัย ได้มีการจัดเรียงว่า องค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญกับเรื่องใดมากที่สุดและพบว่า อันดับ 1 ได้แก่ การสร้างคุณค่าแก่ลูกค้า อันดับ 2 คือการก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและชุมชน อันดับ 3 คือการคิดค้นและพัฒนาสิ่งใหม่ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง อันดับ 4 คือการทำให้พนักงานได้ทำงานที่มีคุณค่าและความหมายส่วนเรื่องการสร้างผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นนั้นตกไปอยู่อันดับที่ 5

ประจวบกับยุคโควิดก็ได้ทำให้องค์กรชั้นนำหลายๆ แห่งได้หันมาให้ความสนใจกับการช่วยเหลือและก่อให้เกิดคุณค่าในด้านต่างๆ ให้กับลูกค้าชุมชนหรือผู้ประสบความเดือดร้อนต่างๆ มากขึ้นเลยเริ่มมีกระแสออกมาที่ชัดเจนมากขึ้นว่า เมื่อผ่านพ้นยุคโควิดแล้ว องค์กรธุรกิจต่างๆ ควรจะต้องมุ่งเน้นในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องและทบทวนสาเหตุของการดำรงอยู่ของตนเองและให้ความสำคัญกับเรื่องของPurpose กันมากขึ้น

ขณะเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว ในอเมริกา มีกลุ่ม CEO ของบริษัทชั้นนำระดับโลกในอเมริการมารวมตัวกันและเรียกว่า Business Roundtable ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันในเรื่อง Purpose of a Corporation ที่จากในอดีต Business Roundtable ได้เคยแถลงว่าสาเหตุการดำรงอยู่ขององค์กรธุรกิจคือ เพื่อผู้ถือหุ้น แต่เมื่อปีที่แล้วได้ปรับเปลี่ยนแถลงการณ์ใหม่และระบุไว้อย่างชัดเจนเลยว่า องค์กรธุรกิจทุกแห่งถึงแม้จะมีหน้าที่ตอบสนองต่อความต้องการที่แตกต่างกันแต่พื้นฐานหลักๆ นั้น องค์กรจะดำรงอยู่และตอบสนองต่อทั้งลูกค้าพนักงาน Suppiers ชุมชนและผู้ถือหุ้น

ผู้บริหารองค์กรควรจะลองนึกในมุมหนึ่งว่า องค์กรของตนเองดำรงอยู่เพื่ออะไร (ที่ไม่ใช่การสร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นเพียงอย่างเดียว) จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนสังคมลูกค้าหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้อย่างไร และจากนั้นก็ใช้ Purpose นั้นเป็นแกนหลักทั้งในการกำหนดกลยุทธ์และการบริหารในด้านต่างๆ

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องระวังก็เหมือนกับแนวคิดทางด้านการจัดการอื่นๆ นั้นคือ ถึงแม้จากการวิจัยและสอบถามผู้บริหารองค์กรต่างระบุว่า Purpose เป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อองค์กรเป็นอย่างมาก แต่ความท้าทายสำคัญคือทำอย่างไรไม่ให้ Purpose ขององค์กรเป็นเพียงถ้อยคำสวยหรูที่แปะไว้ข้างผนังเท่านั้น แต่องค์กรจะต้องได้ใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง