อย่าให้อดีตทำร้ายตนเอง

อย่าให้อดีตทำร้ายตนเอง

การมีความทรงจำเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ บางคนใช้ความทรงจำให้เป็นประโยชน์

กล่าวคือใช้ความทรงจำเพื่อประโยชน์ในการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นในการดำรงชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อหาความสุขจากการนึกถึงอดีต อย่างไรก็ดี มีคนอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยที่หมกมุ่นอยู่กับความทรงจำโดยเฉพาะในเรื่องที่ไม่น่าจดจำ วันๆ มีแต่ความทุกข์เพราะจมปลักอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและบางคนรู้สึกเป็นทุกข์อย่างเกินพอดีเกี่ยวกับความผิดพลาดของตัวเองในอดีตและจมอยู่กับความรู้สึกนั้น

มนุษย์มิได้เกิดมาเพื่อแบกทุกข์ หากควรมีชีวิตที่เป็นสุขตามควร การเข้าใจสาเหตุของความทุกข์โดยเฉพาะในเรื่องการหมกมุ่นอยู่กับความผิดพลาดของตนเองในอดีตจนรู้สึกสงสารตนเองอาจช่วยให้มีความสุขขึ้นบ้างกระมัง

ในการดำเนินชีวิตประจำวัน หากเราสังเกตก็จะพบคนประเภทดังกล่าวอยู่ไม่น้อย ตัวเราเองก็เถอะ ถ้าไม่ระวังให้ดีอาจตกไปอยู่ในหลุมดำนี้ได้อย่างไม่จำกัดเพศ ไม่จำกัดฐานะทางเศรษฐกิจ และสังคมหรือแม้แต่อายุด้วยซ้ำ

การจมปลักอยู่กับความรู้สึกสงสารตัวเองเป็นปฏิกิริยาหนึ่งของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตอย่างไร้ประโยชน์ที่สุดเพราะมันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย มันเป็นอารมณ์ที่เสมือนน้ำวนซึ่งสามารถดูดเจ้าของความทุกข์ให้ดำดิ่งลงไปเรื่อยๆ ตราบที่ยังคงจมปลักอยู่กับการนึกถึงความผิดพลาดในอดีต ใจก็ไม่สบาย และร่างกายก็อาจพลอยไม่สบายไปด้วย (“ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว”) การที่หมกมุ่นคิดว่าตนเองมีคุณค่าน้อยก็จะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ความคิด ความอ่านเป็นอัมพาต เพราะใจวกวนอยู่กับอดีต จนผลักไสการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นและอาจนำไปสู่ความป่วยทางจิตได้

ทุกคนสามารถอยู่ในสภาวการณ์ของความรู้สึกเช่นนี้ได้ หากไม่วัดใจตัวเองให้ดี เมื่อรู้ว่าตนเองอยู่ในข่ายก็ต้องรีบออกมาจากหลุม ดังสุภาษิตที่ว่า “เมื่อรู้ว่าตนเองอยู่ในหลุมก็ต้องหยุดการขุดทันที”

ในหลายสิบปีที่ผ่านมา ความรู้สึกสมเพชตัวเองดังกล่าวได้แปรเปลี่ยนรูปเป็นการรู้สึกว่าตกเป็นเหยื่อของความอยุติธรรม เรื่องผิวสี เชื้อชาติ เพศ ฯลฯ ทุกเรื่องน่าเห็นใจอย่างควรแก้ไข การขุดค้นประวัติศาสตร์ของเรื่องดังกล่าว ก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำทางวิชาการแต่การหมุกมุ่นและจมปลักอยู่แต่เรื่องเหล่านี้จะทำให้สังคมแตกแยกมากยิ่งขึ้นและคนจำนวนมากจะยิ่งไร้ความสุขในปัจจุบันยิ่งขึ้น

เรื่อง “ขุดค้น” นี้ทำได้หลายระดับ ย้อนหลังไปร้อยปี พันปี หรือตอนอยู่กันในถ้ำ เมื่อ 50,000 ปีก่อน บรรพบุรุษของเราอาจสร้างความอยุติธรรมขึ้นจริงอย่างตั้งใจและไม่ตั้งใจ แต่ถ้าสังคมทำให้เรื่องเหล่านี้กลายเป็นความรู้สึกสมเพชตัวเองแบบเป็นหมู่คณะของบางกลุ่มแล้ว จะไม่ทำให้เกิดประโยชน์มากนักเพราะอาจนำไปสู่ความแปลกแยกของผู้คนและการแตกแยกของสังคมในที่สุด

ในระดับบุคคล คนบางส่วนมีความรู้สึกขมขื่นอยู่ในใจตอนเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่โดยอาจเป็นผลพวงจากการเลี้ยงดู บ้างก็จมปลักในความคิดที่โทษพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย พี่น้อง สิ่งแวดล้อม ฯลฯ หรือแม้แต่โทษยีนส์ที่ตนได้รับมา ไม่ว่าจะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม การคิดเช่นนี้ไม่เกิดประโยชน์เพราะมันได้เกิดขึ้นแล้วในอดีต ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ไม่ว่าจะหมกมุ่นคิดจนทุกข์ใจเท่าใดก็ตามที

ภายใต้ความจริงเช่นนี้จะมีความสุขได้ก็จากการปรับความคิดและปรับทัศนคติของตนเองเท่านั้น กล้องถ่ายรูปชนิดปรับโฟกัสได้ เวลาที่ถ่ายภาพนั้น สิ่งที่ถ่ายมิได้ขยับเคลื่อนเข้าออก เพื่อให้ภาพชัด หากผู้ถ่ายต้องปรับโฟกัสที่กล้องให้ภาพชัดฉันใดก็ฉันนั้น คนจะมีความสุขได้ก็จากการปรับใจ ปรับทัศนคติของตนเองภายใต้สภาพที่เป็นอยู่ มิใช่คาดหวังว่าสิ่งแวดล้อมในชีวิตต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้ตนเองมีความสุข

การไม่ครุ่นคิด หมกมุ่นอยู่กับสิ่งไม่พึงปรารถนาที่เกิดขึ้นในอดีตจนกลายเป็นความรู้สึกสมเพชตนเองนั้นถือได้ว่าเป็นกฎทองข้อหนึ่ง (การดำรงชีวิตคือการรู้จักทำมาหากิน ส่วนการดำเนินชีวิตคือการรู้จักก้าวเดินในชีวิตอย่างปลอดภัย ไร้ปัญหาและเจริญรุ่งเรือง)ของการมีสุขภาพจิตที่ดี ถ้ายอมรับว่าชีวิตคนเรานั้นไม่มีความเพอเฟ็ค ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของตัวเราหรือของคนอื่นๆ ก็ตาม เราก็จะไม่เห็นสิ่งผิดพลาดในอดีตนั้นใหญ่โตเกินไป มันจะมีประโยชน์อะไรถ้า“เราจะไม่มีความสุขในปัจจุบัน เพียงเพราะว่าครั้งหนึ่งในอดีตเราไม่มีความสุข”

การบ่นว่าพร้อมกับจมปลักอยู่กับอดีตไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ เพราะนอกจากการหมกมุ่นกับอดีตทำให้เกิดทุกข์แล้ว ยังเป็นการเพิ่มเติมความทุกข์อีกด้วยจนเป็นการมีชีวิตที่ทำร้ายตนเอง

Charlie Munger เพื่อนของWarren Buffett มหาเศรษฐีระดับโลก ผู้มอบแง่คิดดีๆ ให้ชาวโลกอยู่เสมอ บอกว่า เมื่อใดก็ตามที่คุณคิดว่าสถานการณ์หรือบุคคลใดเป็นผู้ทำลายชีวิตคุณแล้ว เมื่อนั้นก็แสดงว่าแท้จริงแล้วตัวคุณนั่นแหละเป็นตัวการ.......การมีความรู้สึกว่า คุณคล้ายกับเป็นเหยื่ออยู่เสมอเป็นหนทางที่นำมาซึ่งความเลวร้ายอย่างสมบูรณ์แบบในการดำเนินชีวิต

ทัศนคติเป็นตัวการที่สำคัญยิ่งในการนำไปสู่การมีพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ถ้ามีทัศนคติเป็นลบว่าโลกเป็นโลกของ“การแก่งแย่งชิงดี เราชิงทำก่อนเมื่อใดเราก็ได้ประโยชน์ก่อนเมื่อนั้น” เราก็จะเห็นพฤติกรรมอันไม่น่าพึงปรารถนาแบบหนึ่งแต่ถ้าหากเห็นเชิงบวกว่าโลกเป็นสิ่งที่อุดมด้วยความงดงามจากมนุษย์(โดยออกนอกเส้นทางก็มีบ้าง) พฤติกรรมก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่งทัศนคติที่เป็นบวกจะนำไปสู่การสร้างสรรค์เสมอถ้ามีทัศนคติแบบคิดแต่โทษผู้อื่น หมกมุ่นอยู่ในบางเรื่องของอดีตที่ไม่สมใจจนเกิดความทุกข์และรู้สึกสมเพชตนเองแล้วพฤติกรรมก็จะเป็นอีกลักษณะหนึ่งทัศนคติจึงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

บริษัทใหญ่หลายแห่งจ้างคนในลักษณะ“hire for attitude, train for skill” เนื่องจากทัศนคติเปลี่ยนแปลงได้ยาก(อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาหนึ่ง)หากมิได้เกิดจากข้างในพลังข้างนอกก็มีอิทธิพลในระดับหนึ่งเท่านั้นส่วนskillหรือทักษะนั้นเปลี่ยนแปลงได้เสมอ

ทัศนคติเป็นสิ่งที่เราเลือกได้เช่นเดียวกับความรู้สึกบางคนอาจเห็นว่าเป็นสิ่งเล็กๆ แต่ความจริงก็คือมันสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้