จุดยืนของชาวพุทธ ในวิกฤตการณ์ทางสังคม !!

จุดยืนของชาวพุทธ ในวิกฤตการณ์ทางสังคม !!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา นับถอยหลังอีกไม่กี่วัน ก็จะเข้าเขตอธิษฐานจำพรรษาของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา

 เป็นการประกาศเข้าเขตฤดูฝนประจำปี 2563 อย่างเป็นทางการ จึงมีประเพณีนิยมของชาวพุทธที่จักบรรพชา-อุปสมบทเข้าพรรษาและพร้อมใจกันไปประกอบศาสนกิจ ถวายเทียนพรรษา ผ้าอาบน้ำฝนแด่พระสงฆ์ในแต่ละวัดท้องถิ่นที่มีความศรัทธา

เรื่อง ความศรัทธา ความเชื่อ ความคุ้นเคย ที่นำไปสู่การ กระทำบ่อยๆ ด้วย กาย วาจา ใจ จนเป็นนิสัย สร้างลักษณะอุปนิสัย และยกระดับเป็นชะตาชีวิต จึงออกจะดูเป็นเรื่องคล้ายๆ กัน แต่แท้จริงมีลักษณะธรรมที่ต่างกัน แม้ว่าในบางกรณี ความศรัทธา ความเชื่อ และความคุ้นเคย จะเป็นไปในแนวเดียวกัน

พระพุทธศาสนาของเรา มีจุดมุ่งหมายชัดเจน เพื่อชี้นำความศรัทธา ไปสู่การประพฤติปฏิบัติ จึงวางหลักการและข้อปฏิบัติให้สอดรับได้อย่างไม่ซับซ้อน สามารถเข้าใจได้ไม่ยาก เพื่อนำไปสู่การศึกษาปฏิบัติได้จริง ที่ไม่ผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติ

การศึกษาในพระพุทธศาสนา จึงวางหลักการและจุดมุ่งหมายสัมพันธ์สอดรับเป็นหนึ่งเดียวกัน ที่เรียกว่า อรรถธรรมสัมพันธ์ เพื่อการศึกษาที่มุ่งสู่ความเข้าใจในความเป็นธรรมดา อันปรากฏมีอยู่อย่างเป็นปกติในธรรมชาติ

พระพุทธศาสนาจึงไม่ขัดแย้งกับวิถีธรรมชาติ ชาวพุทธจึงต้องเข้าใจในธรรมชาติ เพื่อนำมาสู่การดำรงชีวิตอย่างมีความสมดุล ที่ประกันการประพฤติปฏิบัติขั้นพื้นฐาน ด้วย ศีลธรรม จริยธรรม และคุณธรรม ในฐานะสัตว์ที่เข้าถึงความประเสริฐได้

ชาวพุทธจึงต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างพื้นฐานที่สมดุลให้กับชีวิต ด้วยการถือประพฤติปฏิบัติตามแนวทางที่ไม่ขัดแย้งกับธรรมชาติ ด้วยการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ทุกสรรพสิ่งเสมอกันในธรรมชาติตามหลักสามัญลักษณะธรรม

การสร้างภูมิปัญญาของพุทธศาสนาจึงมุ่งไปสู่การศึกษาปฏิบัติ เพื่อการเข้าใจ การเข้าถึงในพระไตรลักษณ์ ที่ว่าด้วย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อันเป็นจุดรวมรู้ลงสู่ความปกติ เพื่อเป็นหลักประกันว่า ไม่วิปลาสในการคิด การเห็น เพื่อการไม่วิบัติจากธรรม

เมื่อไม่วิปลาสในสัญญาจำหมาย ไม่วิปลาสในความคิดนึก ก็จักไม่วิปลาสในทิฏฐิ ให้เกิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งหลักสำคัญยิ่งต่อการศึกษาปฏิบัติในพระพุทธศาสนาจักต้องเริ่มต้นด้วย สัมมาทิฏฐิ ทั้งในทางโลกียธรรมและโลกุตรธรรม

คงจะไม่มีอะไรประเสริฐเท่ากับ การมีความเห็นชอบถูกต้องตรงตามความเป็นจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติ ดังที่เรียกความจริงอันควรไม่เป็นโทษดังกล่าวว่า สัจธรรม

สัจธรรมได้แปรรูปเป็น สุภาษิต อันเป็นมงคลต่อชีวิต เมื่อชาวพุทธรู้จักพูดจาเป็นไปตามสุภาษิต หลีกเลี่ยง ทุภาษิต

คนพาล กับ บัณฑิต จึงถือลักษณะการพูดที่ต่างกัน ดังสามารถชี้ชัดได้ว่า ใครเป็นพาล ใครเป็นบัณฑิต เมื่อเอาสุภาษิตหรือทุภาษิตเข้าไปจับวัด อันจะสอดคล้องกับการกระทำที่เป็นไปตาม กุศล อกุศล บาปหรือบุญ

การคิด พูด ทำ จึงเป็นเครื่องหมายของคนว่าเป็นไปในประเภทใด หากคิดดี พูดดี ทำดี ความดีก็ย่อมเป็นผลคืนกลับตอบสนองผู้กระทำหรือผู้เป็นเจ้าของ ในทางตรงข้ามกับฝ่ายไม่ดีก็เช่นเดียวกัน เราจึงประกาศการคิด พูด ทำ ด้วยศีลธรรมและจริยธรรมขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะเบญจศีล-เบญจธรรม ที่บัดนี้เริ่มจืดจางไปจากจิตใจของคนในสมัยปัจจุบัน

ดังปรากฏเรื่องราววิปลาสคลาดเคลื่อนไปจากสัจธรรมที่ควรถือปฏิบัติ ไปจากสุภาษิตที่ควรกล่าว ด้วยคนในสังคมให้ความสำคัญกับวัตถุธรรมเป็นใหญ่เหนืออำนาจสัจจนิยม จนนำไปสู่ภาวะสังคมสิ่งแวดล้อมที่สัมพันธ์กับชีวิตของคนเราซึ่งเป็นสัตว์สังคม

เราต้องยอมรับว่า แท้จริงในทุกวิกฤติการณ์ของสังคมมนุษยชาติ ย่อมมีเหตุมาจาก ความวิบัติในด้านศีลธรรม มีความวิปลาสในจริยธรรม คุณธรรม ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติด้านใดๆ ดังเช่น ไวรัสโควิด-19 จึงสะท้อนให้เห็นถึงความมีอยู่จริงของภัยทั้งสามที่มีปรากฏในทุกกาลสมัย เมื่อหมู่ชนในยุคนั้นเสื่อมศีล ผิดธรรม ขาดสติปัญญาความเพียรชอบ ไม่มีความศรัทธาในกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ดำเนินชีวิตไปบนพื้นฐานความเชื่อ ความคุ้นเคย ที่ไม่สอดคล้องกับความศรัทธา ที่ค้ำชูด้วยสติปัญญา

จริงๆ แล้ว คงไม่ใช่เรื่องที่แปลกกับการประพฤติผิดศีลธรรม บกพร่องจริยธรรมในสังคมปัจจุบัน ที่ให้คุณค่าในเรื่องดังกล่าวน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับด้านอื่นๆ ซึ่งหากหมู่ชนดังกล่าวมิได้แสดงตน ประกาศตนว่านับถือพุทธศาสนา

แต่เมื่อคนเหล่านั้น ประกาศตน แสดงตนว่ามีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชีวิต ประจำชาติจึงย่อมนำไปสู่ความแปลกใจของมหาชนชาวโลกว่า

ทำไมชาวพุทธ คิด พูด ทำ เช่นนั้น

ทำไมต้องเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นในประเทศที่มีหมู่ชนนับถือพุทธศาสนา ฯลฯ

จึงควรอย่างยิ่งที่พุทธศาสนิกชน โดยเฉพาะพระภิกษุในพุทธศาสนา จะได้ตื่นขึ้นมามองดูโดยรอบ เพื่อมองหาจุดยืนแท้จริงของเราในฐานะ ชาวพุทธ ประเทศพุทธศาสนา เพื่อการไม่เป็นโมฆบุคคล โมฆประเทศ ในสายตาของวิญญูชนชาวโลกผู้เป็นบัณฑิต

 

 

เจริญพร