เราควรเรียนรู้อะไรจากโรคระบาดโควิด-19

เราควรเรียนรู้อะไรจากโรคระบาดโควิด-19

การที่รัฐบาลไทยสามารถรับมือควบคุมสถานการณ์โรคระบาดได้ค่อนข้างดีจนถึงขณะนี้ เพราะการแพทย์เราค่อนข้างเข้มแข็ง รัฐบาลและประชาชนฟังแพทย์

 แต่ก็ไม่ควรประมาทเพราะสงครามนี้ยังไม่จบ และเราไม่ควรคาดหมายแบบง่ายๆ ว่าเมื่อโรคระบาดชนิดนี้สงบลง และมีวัคซีนที่ใช้ป้องกันได้ผลใน 2 ปีข้างหน้า ไทยจะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมและวิถีชีวิตการบริโภคนิยมกลับไปเหมือนเดิมหรือใกล้เคียงเดิมได้

โรคระบาดโควิด-19 เป็นปัญหาที่เชื่อมโยงกับวิกฤติการทำลายสิ่งแวดล้อมและวิกฤติระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมข้ามชาตินั้นเป็นตัวการ การนิยมเอาสัตว์ป่ามาเลี้ยงร่วมกับสัตว์เลี้ยงเพื่อทำเป็นธุรกิจอาหาร ทำให้ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ต่างๆ (โควิด-19 เป็นชื่อสายพันธุ์หนึ่ง) ถ่ายทอดจากสัตว์บางชนิด เช่น ค้างคาวสู่สัตว์ชนิดอื่นและติดต่อไปถึงคน ในอนาคตยังอาจมีไวรัสที่ทำให้เกิดโรคระบาดตัวอื่นได้อีก และหรือจะมีปัญหาวิกฤติระบบนิเวศ ที่รุนแรงเท่ากับหรือมากกว่าโควิด-19

ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมซึ่งได้พัฒนาเป็นทุนข้ามชาติ(โลกาภิวัตน์) ที่ทำให้คนเดินทางติดต่อสัมพันธ์กันมาก ยังเอื้ออำนวยต่อการแพร่ระบาดได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็วมาก เพราะผู้คนเดินทางจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่งกันมากมาย

ปัญหาคนติดเชื้อมีมากที่สุดในเมืองใหญ่ที่มีการพัฒนาทุนนิยมอุตสาหกรรมสูง มีการทำอุตสาหกรรม การค้า การบริการมาก ประชากรเข้ามาเรียนหนังสือ ทำงานในเมืองใหญ่มาก อยู่กันอย่างแออัดยัดเยียด เพราะค่าที่ดินที่อยู่อาศัยราคาสูง ขณะที่คนส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ได้ค่าจ้างพอยังชีพหรืออยู่อย่างเป็นหนี้สิน รัฐบาลประเทศทุนนิยมอุตสาหกรรมส่วนใหญ่รวมทั้งสหรัฐฯ อังกฤษในยุคนี้หันไปเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น พลังงาน การคมนาคม การขนส่ง การสื่อสาร เพื่อทำให้อุตสาหกรรมเติบโตมาก และลงทุนเรื่องการสาธารณสุขพื้นฐานน้อยลง เมื่อเกิดปัญหาโรคระบาด มีคนป่วยพร้อมกันจำนวนมากจึงรับมือได้ไม่ดีพอ ทั้งยังมีการกระจายทรัพย์สินและรายได้มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ทำให้โรคระบาดโจมตีย่านชุมชนแออัด ย่านที่พักคนจน คนที่ติดเชื้อและเสียชีวิตส่วนใหญ่คือคนจนโดยเฉพาะคนสูงอายุที่มีภูมิต้านทานต่ำและมีสุขภาพไม่ค่อยดีอยู่แล้ว (เนื่องจากความยากจน การขาดการดูแลทางด้านสาธารณสุขจากรัฐที่ดีพอ)

ในประเทศไทยก็เริ่มติดจากเมืองใหญ่คือกรุงเทพฯ ภูเก็ต คนติดเชื้อกลุ่มแรกๆ คือคนที่กลับจากทำงาน เที่ยว หรือไปเรียนต่างประเทศ และคนที่ทำงานใกล้ชิดกับคนต่างประเทศ เช่น คนขับรถรับส่งนักท่องเที่ยว คนขายของ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ไกด์นำเที่ยว ส่วนหนึ่งก็เป็นคนมีภูมิลำเนาต่างจังหวัดและหรือเมื่อติดเชื้อมาแล้วยังไม่รู้ตัวก็นำไปเผยแพร่ในที่ชุมชน เผยแพร่ต่อไปญาติพี่น้องในต่างจังหวัด ใน 3 จังหวัดภาคใต้ คนติดเชื้อเริ่มมาจากคนที่ไปเข้าร่วมพิธีทางศาสนาในประเทศอื่น กลับมาเผยแพร่ ต่อกว่ารัฐบาลไทยจะตัดสินใจปิดประเทศ ปิดเมือง ค่อนข้างช้าไปกว่าบางประเทศด้วยซ้ำ ต่อเมื่อรัฐบาลฟังพวกแพทย์ที่แนะนำอย่างแข็งขัน ไทยจึงเริ่มควบคุมสถานการณ์ค่อนข้างดีโดยเปรียบเทียบ

แต่ไทยยังมีโอกาสเสียหายทางเศรษฐกิจมาก เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการลงทุน การค้า และธุรกิจท่องเที่ยวกับต่างประเทศมาก(เกินไป) เมื่อนักท่องเที่ยวไม่มา ธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวทั้งการบิน โรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้า การขนส่งนักท่องเที่ยว ก็ขาดทุน เลิกจ้าง คนตกงานหรือมีรายได้ลดลงจำนวนมาก เห็นได้ชัดจากเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมเช่นภูเก็ต พัทยา อุตสาหกรรมที่พึ่งวัตถุดิบชิ้นส่วนจากต่างประเทศมาผลิตหรือประกอบเพื่อส่งออกไปขายต่างประเทศ เช่น รถยนต์ เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ก็ซบเซา การปิดเมือง ปิดสถานบริการ เรียกร้องไห้คนอยู่บ้านก็ทำให้อุตสาหกรรมการค้าและกิจการบริการหลายอย่างซบเซา คนที่ตกงาน และมีรายได้ลดลง ก็ขาดรายได้ ขาดอำนาจซื้อ ต้องใช้จ่ายกันอย่างระมัดระวัง เศรษฐกิจชะลอตัว/ตกต่ำตามกันไปเป็นลูกโซ่

เมืองเล็กในต่างจังหวัดของไทย ซึ่งพัฒนาทุนนิยมอุตสาหกรรมน้อยกว่าเมืองใหญ่ ประชาชนทำการเกษตร โดยเฉพาะในหลายแห่งชุมชนและหรือผู้นำเจ้าหน้าที่อสม. มีความเข้มแข็ง จะมีปัญหาโรคระบาดและรับมือกับสถานการณ์ได้ดีกว่ากรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยว เมืองชายแดน

ไทยเป็นประเทศขนาดกลางค่อนข้างใหญ่ มีประชากรและพื้นที่เพาะปลูกได้ใหญ่ราวที่ 19 ของโลก เรามีศักยภาพที่สามารถเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ แบบลดการพึ่งพาทุนนิยมอุตสาหกรรมข้ามชาติลง เหลือเท่าที่จำเป็น และที่ให้ประโยชน์คุ้มค่าจริงๆ (ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายสุขภาพ) หันมาปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีผลิตภาพ และความเข้มแข็งแบบพึ่งตนเองระดับประเทศเป็นสัดส่วนที่สูงขึ้นได้ เช่น ปฏิรูปเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร เน้นการพัฒนาเกษตรและอุตสาหกรรมขนาดย่อม ช่วยให้คนมีงานทำ มีเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองในระดับจังหวัดและภูมิภาคได้มากขึ้น 

ให้องค์กรบริหารระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล บริหารจัดการทรัพยากร งบประมาณ การบริหารต่างๆ ด้วยตนเองได้มากขึ้น เอาที่ดินรัฐหรือซื้อจากเอกชนที่มีที่แปลงใหญ่มากไปมาจัดสรรที่ดินแปลงย่อยรายละ 1 ไร่ ให้คน 10 ล้านครอบครัวทำเกษตรแบบผสมผสาน พัฒนาเรื่องระบบน้ำขนาดเล็ก เรื่องการผลิต การตลาด ระบบสหกรณ์ ฯลฯ จะช่วยให้คนมีงานทำ มีรายได้ พอยังชีพได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้จริง ส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้นทางเศรษฐกิจ ที่รัฐอาจออกพันธบัตรระระยาวมาให้การสนับสนุนได้ 

รวมทั้งการปฏิรูปการศึกษา สาธารณสุขในต่างจังหวัด จะได้ผลยั่งยืนมากกว่าการให้เงินอุดหนุนธุรกิจท่องเที่ยว การค้า บริการ อุตสาหกรรมแบบเก่า เพราะเศรษฐกิจแบบทุนนิยมข้ามชาติจะฟื้นตัวได้ช้าและน้อย ไม่อาจกลับมารุ่งเรืองขนาดเดิมได้อีกอย่างน้อย 2-3 ปีขึ้นไป และยังคงสร้างปัญหาต่างๆ (เช่นความเหลื่อมล้ำ/ความยากจน สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ)แบบที่สร้างมาแล้ว การปฏิรูปเศรษฐกิจแนวใหม่จะแก้ปัญหาคนมาอยู่เมืองใหญ่อย่างแออัดยัดเยียดมากเกินไป ทำลายธรรมชาติสภาพแวดล้อมมากไป ลดความเสี่ยงจากโรคระบาด วิกฤติเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และจะเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้ดีกว่า