ว่าด้วยเรื่อง #การขอตำแหน่งทางวิชาการ

ว่าด้วยเรื่อง #การขอตำแหน่งทางวิชาการ

“สำหรับบทความที่จะได้อ่านครั้งนี้ เป็นนักเขียนรับเชิญที่ไม่ใช่เรื่องยุโรปนะคะ แต่อยากให้ได้ลองอ่านทัศนะของนักเขียนท่านนี้

ด้วยความที่อยู่วงการศึกษา มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์และวัฒนธรรม ในฐานะนักวิชาการประจำมหาวิทยาลัยที่มี่ชื่อเสียง จากออสเตรเลีย” อ.อาจารี ถาวรมาศ 

ทอล์กออฟเดอะทาวน์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วในฟีดข่าวเฟสบุ๊คมีเสียงบ่น เรื่องเกณฑ์การขอตำแหน่งทางวิชาการที่เพิ่งประกาศออกมาในราชกิจจานุเบกษา ในฐานะของคนที่ผ่านการขอตำแหน่งทางวิชาการ ทั้งจากมหาวิทยาลัยในเมืองไทยและออสเตรเลีย เห็นเพื่อนฝูงบรรดาอาจารย์ๆ ทั้งหลายเขียนถึงเรื่องนี้แล้วจึงขอเล่าประสบการณ์ให้ฟังกัน

ก่อนได้งานเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยที่ออสเตรเลีย เราเคยขอตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) ที่จุฬาฯหลังจากสอนมาได้ 3 ปีกว่า เมื่อ 13 ปีก่อนตอนที่ยื่นเอกสาร จุฬาฯยังใช้เกณฑ์เก่าของเกณฑ์เก่าอีกที หลักๆ ก็คือต้องมีเอกสารประกอบการสอน 1 วิชา และผลงานวิจัยที่ได้ตีพิมพ์ในวารสาร พร้อมทั้งเช็คลิสต์เอกสารปลีกย่อยตามสไตล์ไทยแลนด์ 

ความรู้สึกตอนนั้นคือ เอกสารที่ใช้ในการขอตำแหน่ง มันหยุมหยิม ยุ่งยากมากกว่าตัวผลงานที่เราต้องส่งไปเสียอีก (more about the ‘form’ than the ‘content’) ในเอกสารที่ส่งไป ไม่มีเอกสารไหนเลยที่เปิดโอกาสให้เราได้เขียนถึงความสำคัญของสิ่งที่เราได้ค้นพบในงานวิจัย หรือเทคนิควิธีการพัฒนาหลักสูตรให้ก้าวหน้าทันกับโลก การมีส่วนร่วมในการพัฒนาความรู้ความสามารถของนิสิต หรือแม้แต่การพัฒนาตัวเองในด้านต่างๆที่แสดงให้เห็นว่า performance ของเราพัฒนาจากตำแหน่งปัจจุบันไปสู่ตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้นแล้ว

และถึงแม้ว่าเอกสารเช็คลิสต์ต่างๆ จะรัดกุมตามแบบราชการไทย แต่กระบวนการอื่นๆที่ตามมา เช่น รายชื่อและคุณสมบัติของผู้ประเมินผลงาน จำนวนผู้ประเมินงาน รวมถึงระยะเวลาที่ใช้ในการขอตำแหน่งก็ไม่มีประกาศออกมาอย่างแน่ชัด บางเคสรอกันนานคนส่งก็ลืมไปแล้วว่าเคยส่ง เห็นว่าเคสส่วนใหญ่ที่ล่าช้าก็เป็นเพราะผู้ประเมินผลงานเอางานของผู้สมัครไปดองไว้เฉยๆเป็นปีๆโดยไม่คิดจะหยิบมาอ่าน

สรุปแล้วเราใช้เวลาถึง 2 ปีในการขอตำแหน่ง จำได้ว่าตอนนั้นเริ่มสอนที่ออสเตรเลียแล้วแวะกลับมาเมืองไทย มาทักทายเหล่ามิตรสหายที่คณะฯ อาจารย์หัวหน้าภาคฯ ในตอนนั้นได้กรุณาแจ้งให้ทราบว่าได้ตำแหน่ง ผศ.แล้ว ฟังแล้วก็ดีใจอยู่ลึกๆ แต่สุดท้ายก็ไม่รู้จะเอาตำแหน่งไปทำอะไรดี จะเอาไปใช้เทียบตำแหน่งในออสเตรเลียก็ไม่ได้ เพราะใช้คนละระบบกัน

มหาวิทยาลัยที่เราสอนอยู่ตอนนี้ ที่ออสเตรเลีย เพิ่งเริ่มใช้เกณฑ์การขอตำแหน่งทางวิชาการใหม่ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เกณฑ์ใหม่ที่ว่านี้เป็นผลงานของสภาบริหารในมหาวิทยาลัยที่มีสมาชิกหลักมาก จากเหล่าคณาจารย์ที่ได้รับการเลือกตั้ง จากประชาคมในมหาวิทยาลัยทุกระดับ ทั้งอาจารย์ใหม่และอาจารย์อาวุโส เกณฑ์นี้จำแนกงานวิชาการออกเป็น 5 ส่วน(เรียกโดยรวมว่า scholarship) ตามวิธีคิดของนักทฤษฏีการศึกษาชาวอเมริกันที่ชื่อ Ernest LeRoy Boyer[1] คือ Research, Teaching, Integration, Application, Leadership & Citizenship คะแนนในแต่ละด้านแบ่งเป็น 3 ระดับคือ ผ่าน (achieved) ดี (good) และ ดีมาก (outstanding) ผู้สมัครแต่ละคนสามารถประเมินคะแนน performance ทางวิชาการของตัวเองตามเกณฑ์ทั้ง 5 นี้ และจะต้องเก็บคะแนนให้ครบตามที่กำหนดไว้ในแต่ระดับ โดยไม่จำเป็นต้องทำคะแนนให้ครบทุกด้าน เพียงแต่มีด้านใดด้านหนึ่งที่ได้คะแนน outstanding และจะต้องมีคะแนนอย่างน้อยผ่าน (achieved) ในด้าน Leadership & Citizenship ที่รวมถึงการเป็นสมาชิกที่ปฏิบัติหน้าที่และทำคุณประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัย

จะเห็นได้ว่าเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นมานี้ให้ความสำคัญกับความถนัดหรือจุดเด่นในการทำงานด้านต่างๆ ของอาจารย์แต่ละคน กล่าวคือ ถ้าอาจารย์สอนเก่ง แต่ทำวิจัยไม่เก่งมาก ก็ยังสามารถทำคะแนน outstanding ในส่วนของ Teaching ได้ ถึงแม้จะได้คะแนนในส่วน Research อาจจะน้อยลงมาหน่อย อาจารย์บางคนชอบทำวิจัยบุกเบิกในภาคธุรกิจหรือทำงานพัฒนาชุมชนต่างๆนอกมหาวิทยาลัยก็จะได้คะแนนในส่วน Application สูงกว่าด้านอื่นๆ อย่างไรก็ดี เนื่องจากคะแนนรวมจะต้องได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนด จะเก่งแต่เพียงด้านเดียวก็ยังไม่พอ ต้องมีคะแนนย่อยๆมาเสริมในแต่ละด้านให้ได้สมดุลย์ด้วย

สิ่งที่นำมาพิจารณาในการขอตำแหน่งแต่ละระดับก็แตกต่างกันไปแล้วแต่สาขาวิชา indicator หรือข้อชี้วัดในแต่ละด้านเขียนระบุไว้คร่าวๆ ไม่มีข้อกำหนดตายตัวว่าจะต้องตีพิมพ์กี่เปเปอร์ หรือได้ h-index เท่าโน้น เท่านี้ ถึงจะได้ตำแหน่ง มีเพียงข้อแม้พิเศษสำหรับระดับ D และ E หรือ Associate Professor และ Professor คือจะต้องได้คะแนนด้าน Leadership & Citizenship ตั้งแต่ ดี (good) ขึ้นไปจนถึง ดีมาก (outstanding) เท่านั้น คะแนนบังคับตรงจุดนี้มีความหมายว่า คนที่จะเป็น Associate Professor หรือ Professor ได้จะต้องแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการบริหารและเป็นผู้นำในการทำงานให้กับมหาวิทยาลัย รวมทั้งเป็น mentor คอยช่วยเหลือและให้คำแนะนำกับอาจารย์ในระดับที่ต่ำกว่าด้วย

ในขั้นตอนการสมัคร ผู้สมัครทุกคนจะต้องส่งเอกสารให้กับฝ่ายบุคคลในเวลาที่กำหนด เพราะมหาวิทยาลัยจะทำการประเมินปีละครั้งเท่านั้น ในการประเมินจะมีคณะกรรมการทั้งหมด 7 คน มีคณบดีเป็นประธาน คณะกรรมการก็ไม่ใช่ผู้ทรงคุณวุฒิจากที่ไหน แต่เป็นอาจารย์ในคณะเดียวกันที่อยู่ในระดับที่สมัครหรือสูงกว่า มีตัวแทนอาจารย์จากคณะอื่น 1 คน และมีตัวแทนจากสหภาพอาจารย์อีก 1 คนเข้าร่วมด้วย ฝ่ายบุคคลจะแจ้งกับผู้สมัครชัดเจนว่ามีใครอยู่ในคณะกรรมการบ้าง เพื่อที่ว่าถ้าผู้สมัครมีปัญหากับคนใดคนนึงเป็นพิเศษ ก็สามารถแจ้งขอให้พิจารณาเปลี่ยนตัวคณะกรรมการได้ คณะกรรมการจะต้องไม่ทำงานอยู่ในภาคเดียวกันกับผู้สมัคร ถ้าเป็นตำแหน่งในระดับ D และ E จะมีคณะกรรมการสองชุด ชุดนึงมาจากคณะต้นสังกัด และอีกชุดนึงเป็นกรรมการร่วมกันของทั้งมหาวิทยาลัย คณะกรรมการจะต้องอ่านเอกสารของผู้สมัครและให้คะแนนตามการประเมินของตน มีกำหนดการนัดให้ผู้สมัครมาสัมภาษณ์ตัวต่อตัวเป็นเวลา 20 นาที (ต่อหน้าคณะกรรมการทั้ง 7 คน) หลังจากนั้นคณะกรรมการจะประชุมกันอีกครั้งเพื่อประเมินหาคะแนนสุดท้ายของผู้สมัครแต่ละคน 

ผลการประเมินตำแหน่งทางวิชาการในแต่ละปี มีกำหนดแน่นอน ส่วนใหญ่ส่งใบสมัครกันเดือนมิ.ย. สัมภาษณ์ราวๆ เดือน ต.ค.แล้วประกาศผลให้ผู้สมัครทราบพร้อมๆ กันตามระดับที่สมัครในช่วงเดือน ต.ค.ถึง พ.ย. ผู้สมัครที่ได้รับการประเมินให้ผ่านจะได้รับตำแหน่งใหม่พร้อมเงินเดือนพร้อมกันในวันที่ 1 ม.ค.ของทุกปี

ดูแล้วก็มีความยากง่ายแตกต่างกันไปในแต่ละระบบแต่ละประเทศ นอกจากเรื่องการตั้งเกณฑ์ที่เน้นความสามารถทางวิชาการในด้านที่แตกต่างกันแล้ว ระบบการสรรหาคณะกรรมการผู้ประเมินผลงาน การกำหนดขั้นตอนการดำเนินการ และความโปร่งใสในการประเมินผลงานก็แตกต่างกันไปอีกด้วย สิ่งหนึ่งที่ดูจะเป็นอุดมการณ์หลักที่เห็นได้ชัดในระบบการทำงานที่ออสเตรเลีย ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการขอตำแหน่ง แต่เป็นโดยรวมทุกเรื่อง น่าจะเป็นการ decentralise ให้หรือการกระจายอำนาจการตัดสินใจให้ local members หรือสมาชิกในชุมชนเดียวกันมีอำนาจในการตัดสินใจด้วยตัวเอง โดยมีกรอบกว้างๆ ที่ทุกคนในองค์กรเห็นพ้องต้องกันเป็นหลัก อย่างไรก็ดี ระบบ decentralise แบบนี้จะต้องอาศัยจริยธรรมในการทำงานและระบบการตรวจสอบกันเองที่เข้มแข็ง การให้สิทธิพิเศษในการพิจารณาผลงานหรือการหยวนๆ เรื่องบางเรื่องให้กับพวกพ้องลูกศิษย์ลูกหา หรือเพื่อนร่วมงานที่ตัวเองรู้จัก คือ ศัตรูตัวร้ายที่บ่อนทำลายประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือของระบบแบบนี้

สิ่งสำคัญของการเขียนเอกสารขอตำแหน่งทางวิชาการในออสเตรเลีย ก็คือ การสร้าง narrative หรือการเรียบเรียงเรื่องราวและไอเดียต่างๆ ให้สอดคล้องเป็นเนื้อเดียวกัน ในบริบทที่เราต้องการนำเสนอ มีเหตุผลสนับสนุนซึ่งกันและกัน และชี้ให้เห็นจุดเด่นของตัวเราหรืองานของเราอย่างเป็นระบบ เช่น ถ้าเราได้ตีพิมพ์งานกับนักวิชาการอีกหนึ่งคนในวารสารชื่อดังฉบับหนึ่ง เราก็ต้องอธิบายลงรายละเอียดว่า งานของเรามีคุณค่าต่อวงการวิชาการอย่างไร ในฐานะผู้เขียนร่วมเรา contribute เรื่องอะไรบ้าง และเรื่องนั้นๆ ตรงกับความถนัดในงานวิจัยของเราอย่างไร แน่นอนว่าเราสามารถใช้impact factor หรือ H-index เป็นข้อมูลสนับสนุนสิ่งที่เราพูดถึงได้ แต่การนำเสนอตัวเลขเหล่านั้นเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีเรื่องเล่า หรือคำอธิบายประกอบ ก็ไม่สามารถทำให้ผู้อ่านเห็นภาพการทำงานในองค์รวมของเราได้ นอกจากนั้น narrative หรือเรื่องเล่าในใบสมัครของเราจะต้องชัดเจนและอ่านง่ายเข้าใจง่าย ไม่จำเป็นต้องทำงานในสายงานเดียวกันก็อ่านได้รู้เรื่อง ใครเขียนเรียงความยาวๆ เยิ่นเย้อมาจนผู้อ่าน หาประเด็นที่สำคัญไม่ได้ ก็ทำใจได้เลยว่า โอกาสผ่านน้อยมาก

นอกจากนั้น ผู้สมัครต้องทำให้คณะกรรมการเห็นว่าผลงานและการพัฒนาตัวเองในด้านต่างๆ ของเรามี trajectory หรือเส้นทางที่มุ่งตรงไปสู่ยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในแบบเฉพาะของเราอย่างไร เรียกได้ว่าถึงทำผลงานได้หรูเริ่ดสะแมนแตนแต่เขียน narrative จูงใจคนไม่ได้ โอกาสที่จะได้ตำแหน่งสูงๆ ทางวิชาการก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ในด้านของหลักฐานที่ยกมาสนับสนุนก็ต้องชัดเจนและเป็นรูปธรรม ไม่ใช่ I think I hope หรือใส่ adjective กับ adverb เยอะๆ เพื่อสร้างความหรูหราหมาเห่า เพราะคณะกรรมการที่เป็นผู้ประเมินผลงานของเรานั้น แม้ว่าจะมาจากต่างสาขาวิชา แต่ส่วนใหญ่ก็มาจากคณะเดียวกัน มีเกณฑ์การทำงานที่ใกล้เคียงกัน เหมือนไก่เห็นตีงู งูเห็นนมไก่ จะเอาเกณฑ์สายวิทย์มาอ้างถึงในสายมนุษย์ศาสตร์ก็รังแต่จะมีแต่คนยิ้มอ่อนให้ อย่างที่รู้ๆ กันบางสาขาแม้ว่าจะมีงานตีพิมพ์เป็น 10 ชิ้น มี H-index สูงๆ แต่ถ้ารายชื่อผู้ตีพิมพ์เป็นผู้เขียนร่วมอยู่ในลำดับท้ายๆ เช่นลำดับที่ 10 11  12 งานเหล่านั้นก็แทบจะไม่ได้แสดงความสามารถของผู้สมัครเท่าไรนัก บางสาขาอาจจะต้องตีพิมพ์ 4 - 5 เปเปอร์ต่อปีถึงจะเรียกได้ว่าปกติ แต่บางสาขาแค่ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติปีละครั้งก็ผ่านเกณฑ์แล้ว เรื่องการเลือกวารสารก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ ถ้าวารสารที่ตีพิมพ์เป็นวารสารที่รู้กันในวงวิชาการว่า ไม่ใช่วารสารคุณภาพดี ถึงจะตีพิมพ์ไป 10 เปเปอร์ก็แทบจะไม่มีความหมายต่อการประเมินตำแหน่งวิชาการ หรือถ้าใครได้ตีพิมพ์หนังสือ คณะกรรมการก็จะตรวจเช็คว่าได้ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ไหน เพราะหนังสือที่ตีพิมพ์จากสำนักพิมพ์ที่ไม่มี peer review ที่ได้มาตรฐาน หรือแม้แต่ตีพิมพ์จากมหาวิทยาลัยหน่วยงานต้นสังกัดของตัวเองก็แทบจะไม่สามารถนับรวมเป็นหลักฐานในการขอตำแหน่งได้

เขียนเล่าไว้ซะยาวเลย เผื่อว่าคณะกรรมการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (กพอ.) ของไทยและผู้เกี่ยวข้องจะมีโอกาสได้อ่านและได้นำไปพิจารณาปรับปรุงระบบการขอตำแหน่งของไทยในอนาคตต่อไป บางเรื่องที่มันตึงเกินไปก็อาจจะต้องทำให้มันยืดหยุ่นลงบ้าง ส่วนบางเรื่องที่หย่อนมาตลอดก็อาจจะต้องทำให้ท้าทายขึ้นกว่าเดิม ด้วยความรักและเป็นห่วงจากนักวิชาการออสเตรเลียที่เกิดและเติบโตในเมืองไทย

[*Boyer, E. L. (1990) Scholarship reconsidered: Priorities of the professoriate. Carnegie Foundation for the Advancement of Teaching.]

โดย...

ดร.ชวาลิน เศวตนันทน์

ภาควิชาภาษาและวัฒนธรรมต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยแมคควอรี่ ซิดนีย์ ออสเตรเลีย

[email protected]