การบริหารทรัพยากรป่าไม้ภายใต้วิถีแนวคิดใหม่

การบริหารทรัพยากรป่าไม้ภายใต้วิถีแนวคิดใหม่

ป่าไม้ คือทรัพยากรที่สำคัญของชาติ ที่นับวันจะถูกทำลาย ลดน้อยลงและยังผลไปถึงระบบนิเวศทางธรรมชาติ

ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องตรากฎหมายมากมาย อาทิ “พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ”, “พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติฯ” หรือ “พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ” โดยหลงลืมไปว่าการอนุรักษ์ที่ยั่งยืนกว่าการ “หวง” หรือ “ห้าม” คือการทำให้ประชาชนในท้องที่นั้นๆ ร่วมกันดูแลรักษาภายใต้หลักการพึ่งพากันและกันระหว่าง “ธรรมชาติ” และมนุษย์

กฎหมายหลายฉบับต่างสนับสนุนหลักการรวมศูนย์อำนาจในการจัดการป่าไม้ อันมีหน่วยงานที่มีภารกิจด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรงหลายหน่วยงานรับผิดชอบ ก่อเกิดเป็นนโยบายเอาคนออกจากป่า ด้วยการขีดเส้นกำหนดเขตป่าอนุรักษ์ กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายกับประชาชน โดยหลงลืมไปว่าพื้นฐานสังคมชนบทไทยชาวบ้านล้วนอาศัยพึ่งพาป่าเพื่อใช้เป็นแหล่งปัจจัย 4 อัน ได้แก่ แหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตมาเป็นเวลานาน

ในปี 2562 พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ ได้รับการแก้ไข โดยให้ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับผืนป่าผ่านการทำมาหากินได้ โดย พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ มีการเพิ่มเติมรายละเอียดเพื่อเปิดทางให้การนำทรัพยากรไม้ อาทิ ไม้มีค่า สามารถนำไปใช้ประโยชน์ง่ายขึ้น ผ่านการส่งเสริมการปลูก โดยประเด็นของการเปลี่ยนแปลงหลักๆ นั้นเน้นการเปิดโอกาสให้เอกชนและประชาชน สามารถใช้ประโยชน์จากไม้หวงห้ามได้มากขึ้น

แต่ทั้งนี้ผู้ที่กลับได้ประโยชน์ในผืนป่ากลับกลายเป็น “นายทุน” นำไปสู่การเรียกร้องของเครือข่ายชุมชนที่ต้องการกฎหมายที่มารับรองสิทธิในการจัดการป่าของชุมชน โดยใช้กลไก "การอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่าและบริหารจัดการพื้นที่ป่าไปพร้อมๆ กัน" ผ่านกฎหมายใหม่ที่ชื่อว่า พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562”(หลังจากใช้เวลาในการผลักดันกว่า 26 ปี)

สาระสำคัญหลักๆ คือ "ประชาชนมีส่วนร่วม สร้างประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืน ยังผลต่อระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ภายใต้กรอบแห่งกฎหมายที่มีบทลงโทษที่ชัดเจน" ซึ่งผู้เขียนขอจำแนกออกเป็นประเด็นดังนี้

1.คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้ : จากเดิมภาครัฐเป็นกำลังหลักในการดูแลป่า แต่ พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับนี้ ได้แบ่งพื้นที่พิเศษออกเป็น 2 ส่วน ตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย คือส่วนเพื่อการอนุรักษ์และส่วนเพื่อการใช้ประโยชน์ ซึ่งส่วนที่ 2 นี้ จะเน้นให้คนในชุมชนที่อาศัยอยู่ใกล้พื้นที่ป่าเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการป่าในพื้นที่ได้มากขึ้นกว่าเดิมให้เป็นไปตามความต้องการของชุมชนจริงๆ สร้างกลไกการอยู่ร่วมกัน สามารถปลูกต้นไม้ ปลูกป่าในพื้นที่ป่าชุมชน รวมไปถึงเก็บพืชผลของป่าออกมาใช้สอยในครัวเรือนได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกจับกุมเหมือนแต่ก่อน

2.ภายใต้กติกาชุมชนและกฎหมาย : นอกจากชาวบ้านจะสามารถเก็บของป่าออกมาไว้ใช้ในครัวเรือนแล้ว ยังสามารถนำผลผลิตจากป่าไปใช้ประโยชน์เพื่อการค้าได้ สามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชน พัฒนาวิสาหกิจชุมชน สร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้ชุมชน เพียงแค่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและกติกาที่ชุมชนตกลงร่วมกัน หากฝ่าฝืนปล่อยปละละเลยทำให้พื้นที่ป่าชุมชนนั้นเสียหาย จะมีผลทางกฎหมาย คือชุมชนนั้นจะถูกเพิกถอนสิทธิในป่าชุมชนทันที และหากความเสียหายนั้นเกิดจากการรุกล้ำไปใน “ส่วนป่าอนุรักษ์” เช่นนี้จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 เดือนถึง 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอจัดตั้งป่าชุมชนไว้ชัดเจน โดยให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ (คกก.) ช่วยบริหารจัดการป่าชุมชนใน 3 ระดับจากหลายภาคส่วน ประกอบด้วย คกก.นโยบายป่าชุมชน คกก.ประจำจังหวัดฯ และ คกก.ระดับพื้นที่ฯ ลดทอนช่องว่างทางกฎหมายจากการใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม “พ.ร.บ.ป่าสงวน”, “พ.ร.บ.ป่าไม้” หรือ “พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่นั้นๆ” บังคับใช้ไม่ครอบคลุม

3.ระบบนิเวศที่สมบูรณ์อย่างยั่งยืน : ป่าไม้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้อยใหญ่ หากชุมชนช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ให้มีความอุดมสมบูรณ์ ก็จะทำให้ระบบนิเวศเกิดความสมดุล และเกิดความหลากหลายทางชีวภาพตามมา แก้ปัญหาภัยแล้งช่วยให้เกิดฝนตกตามฤดูกาล สามารถนำน้ำมาใช้เพาะปลูกสร้างผลผลิตทางการเกษตร และเก็บไว้ใช้อุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ สอดคล้องกับหลักการสากล ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อันมุ่งเน้นเรื่องประชาคมนิเวศ ความรุ่งเรือง การมีส่วนร่วม และสันติภาพ รวมไปถึงอยู่ภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

“ป่าชุมชน” จึงเป็นตัวอย่างในการเปลี่ยนวิถีแนวคิดการจัดการป่า ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานให้ “คน” ได้ใช้ประโยชน์ และ “ป่า” ก็อยู่รอดและยั่งยืน ซึ่งสัมพันธ์กับข้อเท็จจริงที่ว่าเมื่อการดำรงชีวิตของชุมชนขึ้นอยู่กับความอยู่รอดของป่า ก็จะทำให้ชุมชนต้องหวงแหนและอนุรักษ์ป่าที่เปรียบเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำโดยไม่จำเป็นต้องมีใครมาบังคับ อันเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระทางภาครัฐ และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในคราวเดียวกัน ตอบโจทย์การเป็นกฎหมายในยุค 4.0

โดย... 

ว่องวิช ขวัญพัทลุง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์