นวัตกรรมต้นทุนต่ำ เกิดได้ด้วยความร่วมมือ

นวัตกรรมต้นทุนต่ำ เกิดได้ด้วยความร่วมมือ

ในช่วงแรกของการแพร่ระบาดของ VOCID-19 ดูเหมือนว่าจะมีเพียงสถานพยาบาลไม่กี่แห่งที่มีศักยภาพและความสามารถในการรับมือกับโรคนี้

หนึ่งในนั้นคือ สถาบันบำราศนราดูล สังกัดกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แสดงว่ากระบวนการให้บริการของโรงพยาบาลทั่วไปไม่เหมาะสมกับผู้ป่วยที่มีเชื้อดังกล่าว นั่นเพราะว่าการติดต่อเกิดขึ้นได้ง่ายจากสารคัดหลั่ง และการไอจาม ทำให้ต้องแยกพื้นที่เฉพาะออกจากการให้บริการผู้ป่วยทั่วไป

ถ้าเราพิจารณากระบวนการให้บริการของโรงพยาบาล อาจแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะคือ การบริการผู้ป่วยนอก (OPD) การบริการผู้ป่วยใน (IPD) และการบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน (Emergency) ซึ่งแยกแตกต่างกันในรายละเอียด คนทั่วไปมักจะคุ้นชินกับการบริการผู้ป่วยนอก เมื่อเกิดอาการไม่สบายก็จะเข้าโรงพยาบาลตรวจเช็คอาการ รับการวินิจฉัยเบื้องต้น และรับยากลับไปดูแลตัวเองต่อที่บ้าน สำหรับคนไข้ที่หนักถึงขั้นทรุดและต้องอยู่ภายใต้การดูแลรักษาต่อเนื่องอย่างใกล้ชิด ก็จะต้อง admit หรือนอนต่อในโรงพยาบาลเป็นการเข้าสู่การบริการผู้ป่วยใน ส่วนผู้ป่วยจากอุบัติเหตุร้ายแรงหรือเจ็บป่วยหนักกระทันหันก็จะเข้าสู่การบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน

กรณีของ COVID-19 การบริการทั้ง 3 ส่วนจะดำเนินการควบรวมกันเป็นบริการเดียว และต้องแยกพื้นที่ควบคุมเชื้อเป็นการเฉพาะออกจากผู้ป่วยโรคอื่น ดังนั้นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ บุคลากร และสถานที่พร้อม จำเป็นต้องยกระดับปรับปรุงกระบวนการใหม่ พร้อมกับแก้ไขวิธีการตรวจวินิจฉัยที่ต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ ที่สำคัญจะต้องเว้นระยะห่างหรือกันพื้นที่แยกระหว่างผู้ป่วย กลุ่มเสี่ยง และผู้ที่สงสัยว่าตัวเองจะติดเชื้อ กับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ไม่ใช่แค่สวมใส่หน้ากากอนามัยเท่านั้น หากแต่ต้องสวมชุดป้องกัน มีผนังกั้น ควบคุมความดัน และพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยที่แม่นยำและรู้ผลได้รวดเร็ว

สิ่งที่น่าสนใจนอกจากการปรับปรุงกระบวนการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลต่างๆ ยังมีความร่วมไม้ร่วมมือ ร่วมคิดร่วมสร้าง ร่วมแบ่งปันของคนในสังคม โดยเฉพาะในประเทศไทย เกิดแนวคิดใหม่ๆ ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ทั่วไปมาพัฒนาให้เป็นนวัตกรรมต้นทุนต่ำ (Low cost innovation) สิ่งที่ไม่เคยเห็นและดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ในอดีต ก็สามารถทำมันขึ้นมาได้ในช่วงเวลาอันสั้นที่ต้องแข่งกับเวลาและการแพร่ระบาดที่เริ่มรุนแรงขึ้น

โดยไม่ต้องรอพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งนอกจากมีราคาที่สูงแล้ว ในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็ขาดแคลนไม่สามารถหาได้ง่าย เพราะทุกประเทศก็มีการระบาดและติดเชื้อ ดีที่สุดคือการพึ่งพาตัวเอง ดังนั้นวัสดุอุปกรณ์อะไรที่ไม่เพียงพอก็ต้องระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันในการสนับสนุนโรงพยาบาลในการช่วยเหลือผู้ป่วยจากโควิด นวัตกรรมหรือสิ่งใหม่ที่ร่วมด้วยช่วยกันพัฒนาขึ้นมานั้นแบ่งได้ตามลักษณะการใช้งานในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการ ทั้งนี้นอกจากเป็นการเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการรองรับผู้ป่วยในจำนวนที่มากขึ้นในเวลาเดียวกันแล้ว ยังทำให้ลดเวลาในการให้บริการในขั้นตอนต่าง ๆ ลง ซึ่งสำคัญที่สุดคือการลดเวลาที่เป็นคอขวด ได้แก่ การสอบประวัติ คัดกรองขั้นต้น เพื่อแยกแยะหาผู้ติดเชื้อจริงและคัดแยกผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องได้ในทันที ดังนี้

ขั้นตอนก่อนเข้าโรงพยาบาล หลายคนมีความสงสัยและกังวลใจว่าตัวเองจะติดเชื้อหรือไม่ และเพื่อไม่ให้ผู้ที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงแห่กันเข้ามาโรงพยาบาลหรือต้องเสียเงินเสียทองตรวจสอบตัวเอง ภายหลังจึงมีการพัฒนา Web App หรือ Mobile App เพื่อให้คนทั่วไปที่อาจสงสัยว่าตัวเองจะติดโควิดหรืออยู่ในข่ายกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ได้ตอบแบบสอบถาม แล้วจะได้รับคำตอบว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรต่อไป โดยไม่ต้องตื่นตกใจที่จะเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาล

ขั้นตอนกระบวนการตรวจวินิจฉัยขั้นต้น สำหรับกลุ่มเสี่ยงหรือผู้ที่มีอาการชัดเจน นอกจากการซักประวัติแล้ว ปัจจุบันก็มีชุดตรวจที่รู้ผลได้อย่างรวดเร็ว (Rapid test) พัฒนาขึ้นมา อาทิ Chula COVID-19 Strip Test ภายใต้แนวคิด “จุฬาฯ พารอด” รู้ผลเร็วเพียง 10 นาที ใน 4 ขั้นตอน หรือ Rapid Test Kit ที่ใช้หลักการ Immunochromatography (ICT) ที่พัฒนาขึ้นมาโดย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยผู้ที่มีผลบวกจะได้รับการส่งต่อไปกระบวนการตรวจละเอียดเพื่อยืนยันซ้ำในห้อง Lab ต่อไป

ขั้นตอนการวินิจฉัยและรักษาโดยแพทย์ พยาบาล และผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์อื่น ๆ นวัตกรรมที่มีและพัฒนาขึ้นมา อาทิ ห้องควบคุมเชื้อความดันลบ (สำหรับผู้ป่วย) ห้องปลอดเชื้อความดันบวก (สำหรับบุคลากรการแพทย์) แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ ที่มีน้ำหนักเบา ควบคุมเชื้อ และเข้าเครื่อง X-Rayได้ ที่พัฒนาขึ้นโดย มูลนิธิ SCG เครือซิเมนต์ไทย เป็นต้น

ขั้นตอนสำหรับผู้ป่วยที่ต้องเข้าพักรักษาต่อเนื่องในโรงพยาบาล ก็จะต้องจัดให้อยู่ในพื้นที่พิเศษ ภายในห้องควบคุมเชื้อ นวัตกรรมที่เกิดขึ้น อาทิ หุ่นยนต์ Pinto ที่ใช้ในการแจกจ่ายอาหารและยา ควบคุมระยะไกล ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องเข้าไปใกล้ชิดผู้ป่วย อุปกรณ์ครอบศรีษะผู้ป่วยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในช่วงที่แพทย์ทำการรักษา

ขั้นตอนกระบวนการสร้างความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ จะเห็นได้ว่ามีทั้งวิศวกรในบริษัทเอกชน นักวิจัยและพัฒนาจากมหาวิทยาลัย และทีมแพทย์ของโรงพยาบาล ร่วมด้วยช่วยกัน อีกทั้งยังมีการระดมทุนจากภายนอกเพื่อนำเงินบริจาคจากหลายช่องทางมาผลิตวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ตามแนวคิด Open Innovation นอกจากนั้นยังมีแนวคิดใหม่ในการนำโรงแรม สถานที่ที่เหมาะสม มาทำโรงพยาบาลสนาม หรือสถานที่กักตัว รวมถึง App ในการ Track and Trace ในชื่อ “ไทยชนะ” เพื่อช่วยในการติดตามผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยงได้ง่าย

และสิ่งสุดท้ายที่ทุกคนเฝ้ารอและอยากให้ประสบความสำเร็จอย่างที่สุดคือ การวิจัยและพัฒนายาหรือวัคซีน ซึ่งต้องใช้เวลานานและไม่แน่ใจว่าจะใช้ได้ผลหรือไม่ จึงมีแนวคิดในการนำพลาสมาจากผู้ป่วยที่หายดีและแข็งแรงแล้วมาใช้พัฒนายาจากภูมิคุ้มกัน นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆที่แสดงให้เห็นว่านวัตกรรมเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของหลายฝ่าย และต้องใช้ทักษะความสามารถหลายด้าน

จนถึงปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขของไทยถือว่ามีประสบการณ์ในการปรับตัวและรับมือกับสภาวะการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้อย่างดี และน่าจะถือได้ว่าเป็น Best Practice ได้ในหลายเรื่องแก่ประเทศอื่นๆ สิ่งที่ท้าทายหลังจากนี้คงเป็นเรื่องของการสร้างสมดุลระหว่างการควบคุมการแพร่ระบาดกับการเปิดให้คนในประเทศได้ใช้ชีวิตและทำงานให้ใกล้เคียงปกติที่สุด อีกทั้งยังต้องเตรียมการทยอยเปิดให้คนต่างชาติจากประเทศที่มีผู้ติดเชื้อน้อยเช่นกันสามารถเข้ามาทำงาน ติดต่อธุรกิจ และถึงขั้นเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่จำกัดได้ในระยะต่อไป