ทิศทางตลาดหุ้นไทยในครึ่งปีหลัง

ทิศทางตลาดหุ้นไทยในครึ่งปีหลัง

ในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ในระยะที่ 2

 ซึ่งได้แก่ การลดดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 2-4% การขยายระยะเวลางดการผ่อนชำระต่ออีก 3 เดือน และการขยายระยะเวลาลดค่างวดลงอย่างน้อย 30% ไปอีก 6 เดือน เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ออกคำสั่งให้ธนาคารพาณิชย์งดการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในงวดปี 2563 และงดการซื้อหุ้นคืนหรือไถ่ถอนตราสารหนี้ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 หรือชั้นที่ 2 ก่อนครบกำหนด รวมถึงให้จัดทำแผนการบริหารจัดการเงินกองทุนระยะเวลา 1-3 ปี สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความกังวลของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อาจเห็นสัญญาณการเพิ่มขึ้นของหนี้สงสัยจะสูญปริมาณมหาศาลในช่วงครึ่งปีหลังนี้

หากดูตัวเลขของจำนวนลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารทั้งหมด มีจำนวน 16.37 ล้านราย คิดเป็นยอดภาระหนี้ 6.84 ล้านล้านบาท (ข้อมูลจากเว็บไซต์ธปท. ณ วันที่ 15 มิ.ย.2563) แบ่งเป็นสินเชื่อรายย่อย 3.87 ล้านล้านบาท (56.6% ของยอดภาระหนี้) สินเชื่อ SMEs 2.21 ล้านบาท (32.3% ของยอดภาระหนี้) และสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ 0.77 ล้านบาท (11.2% ของยอดภาระหนี้) ซึ่งยอดหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือดังกล่าวนี้ คิดเป็น 46.6% ของปริมาณสินเชื่อทั้งระบบ (ณ สิ้นปี 2562) ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงมาก หากมีเพียง 5% ของยอดพักชำระหนี้ที่ไม่สามารถกลับมาจ่ายหนี้ได้ จะคิดเป็น NPLs ในปริมาณถึง 3.4 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับ NPLs ในระบบ ณ สิ้นปี 2562 ที่ 4.6 แสนล้านบาท จะคิดเป็นการเพิ่มขึ้นของ NPLs ถึง 73.9% แน่นอนว่าธนาคารแห่งประเทศไทยผู้ซึ่งรวบรวมข้อมูลชุดนี้ ย่อมเป็นกังวล จึงออกมาเคลื่อนไหวดังกล่าวข้างต้น

การเคลื่อนไหวของธนาคารแห่งประเทศไทยครั้งนี้ จะสร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมาก เนื่องจากธนาคารพาณิชย์เปรียบเสมือนตัวแทนของเศรษฐกิจ แม้ว่าในทางบัญชี อาจจะยังไม่เห็นการเพิ่มขึ้นของ NPLs ในไตรมาส 2 หรือ 3 ที่จะถึงนี้ เนื่องจากลูกหนี้ส่วนมากยังคงพักชำระหนี้อยู่ แต่ธนาคารพาณิชย์คงไม่อาจหลีกเลี่ยงการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญได้ ดังนั้นในปีนี้และปีหน้า กำไรของธนาคารพาณิชย์จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ความสามารถในการจ่ายเงินปันผลลดลงเช่นกัน

หุ้นอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่น่าจะฟื้นตัวในระยะอันใกล้นี้คือ หุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ได้แก่ โรงแรม สายการบิน สนามบิน และธุรกิจบริการบางอย่างที่เน้นลูกค้าต่างชาติ แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศทั่วโลกที่สามารถจัดการกับการระบาดของ COVID-19 ได้ดีมาก ทำให้ประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศเป็นเวลาเกือบ 1 เดือนแล้ว ทว่า การแพร่ระบาดของไวรัสยังคงไม่สามารถควบคุมได้ในอีกหลายประเทศ ทำให้การเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามานั้นยังไม่สามารถทำได้ โดยเฉพาะประเทศในแถบอเมริกา ยุโรป และรัสเซีย ที่ยังคงมีการระบาดอย่างต่อเนื่อง สำหรับมาตรการ Travel Bubble หรือการจับคู่ประเทศให้สามารถเดินทางไปมาหากันได้โดยไม่ต้องกักตัว 14 วันนั้น อาจต้องมีการทบทวนรายชื่อประเทศอย่างรอบคอบ และอาจกินเวลานานกว่าที่คาด เนื่องจากเริ่มเห็นการระบาดรอบที่ 2 ในประเทศจีน เกาหลี และออสเตรเลีย ที่เดิมสามารถควบคุมเชื้อได้ค่อนข้างดี ดังนั้น ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวภายในประเทศเพียงอย่างเดียว ซึ่งโดยปรกติแล้วการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวไทยต่ำกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติหลายเท่าตัว มาตรการของรัฐบาลที่ออกมาให้กระตุ้นการท่องเที่ยว โดยการช่วยสนับสนุนเงินค่าที่พักและค่าเดินทางบางส่วนนั้น อาจช่วยเหลือผู้ประกอบการได้บ้าง แต่ผลประกอบการคงไม่กลับมาเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 12 เดือนข้างหน้า หรือจนกว่าจะมีวัคซีน

อย่างไรก็ตามหลังจากที่ตลาดหุ้นปรับฐานลงมาจากระดับ 1,450 จุด มาอยู่บริเวณ 1,350 จุด ในปัจจุบัน ทำให้ระดับ Valuation เริ่มกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง เพราะต้องอย่าลืมว่า ในขณะนี้มีปริมาณเงินจำนวนมหาศาลถูกอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้ค่าพีอีที่เหมาะสมของตลาดถูกปรับขึ้นสูงกว่าในอดีต การเข้าลงทุนในช่วงนี้จึงควรเน้นลงทุนหุ้นในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 น้อย หรือได้รับผลบวก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจเกษตรและอาหาร กลุ่มสื่อสาร และกลุ่มโรงไฟฟ้า เป็นต้น