เสียงสะท้อนจากไกด์ไทย ความท้าทายใหม่ยุคหลังโควิด-19

เสียงสะท้อนจากไกด์ไทย ความท้าทายใหม่ยุคหลังโควิด-19

การท่องเที่ยว คืออุตสาหกรรมหนึ่งที่ทำรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาล

 ขณะที่อาชีพมัคคุเทศก์คือหัวใจสำคัญของการท่องเที่ยว เปรียบได้กับ “ตัวแทน” ของคนไทยทั้งหมดที่จะคอยดูแล ต้อนรับ อำนวยความสะดวก ให้ข้อมูลความรู้ ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวตลอดทริป และสำหรับประเทศไทย อาชีพนี้ถูกจัดไว้เป็นอาชีพสงวนสำหรับคนไทยเท่านั้น ตามพระราชกำหนดบริหารจัดการคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ด้วยความน่าสนใจของอาชีพที่อิสระในการท่องโลกกว้าง มีผลตอบแทนงดงาม และจากการที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีรายได้ที่แพร่สะพัดและเติบโตขึ้นทุกปี จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้อาชีพมัคคุเทศก์จะเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

โดย ผศ.ดร.กัลยา สว่างคง คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม และ RDI มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เปิดเผยว่าจากข้อมูล ณ เดือน มี.ค.2563 พบว่ามีผู้จดทะเบียนมัคคุเทศก์กับกรมการท่องเที่ยวแล้วทั้งสิ้น 82,600 คน แต่จากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกมากกว่า 4 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตทั่วโลกแล้วอย่างน้อย 303,082 ราย ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเป็นวงกว้างจากมาตรการการรับมือในระดับสากล ส่งผลให้ภาคธุรกิจบางส่วน รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกหยุดชะงัก จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังประเทศไทยสูงถึง 42 ล้านคน แต่เมื่อผ่านไตรมาสแรกของปีกลับพบว่าตัวเลขลดลง โดยข้อมูลเดือน ก.พ.- มี.ค.2562 หากไม่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะเป็นช่วงเวลาที่นักท่องเที่ยวเดินทางมายังประเทศไทยมากที่สุด

กราฟแสดงจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างเดือนมกราคม ปี 2562 – เดือนมีนาคม ปี 2563

159298188769

ที่มา: กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (2563)

สอดคล้องกับข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่ระบุว่าไทยเป็นประเทศที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 มากที่สุด เพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยคิดเป็น 22% ของจีดีพี ส่งผลให้แรงงานภาคการท่องเที่ยวถูกเลิกจ้าง ขาดรายได้ไม่ต่ำกว่า 2.3 ล้านคน (กองเศรษฐกิจท่องเที่ยวและกีฬา, 2563)

มักคุเทศก์จำนวนหนึ่งได้เปิดเผยว่า วิกฤติการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ใช่วิกฤตการณ์สาธารณสุขครั้งแรก หากเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุด เนื่องจากเป็นโรคที่สามารถติดต่อผ่านทางระบบทางเดินหายใจ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางท่องเที่ยว เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวก็ไม่มีการจ้างงานมักคุเทศก์ ทำให้กลายเป็นกลุ่มอาชีพที่ไร้งานทำมาตั้งแต่ช่วงเดือน ก.พ. 2563 ในส่วนของมัคคุเทศก์ที่มีเงินเก็บออม ก็ยังคงดำเนินชีวิตตามปกติได้โดยไม่ได้พยายามหารายได้พิเศษ ขณะเดียวกันมัคคุเทศก์ที่ไม่มีการเก็บออมเงินมาก่อนต่างต้องเผชิญกับความเครียดและพยายามอย่างมากในการหาอาชีพเสริม เช่น การขายของผ่านช่องทางออนไลน์ 

อย่างไรก็ตาม ยังมีการรวมกลุ่มกันของเหล่ามัคคุเทศก์เพื่อการแบ่งปันความช่วยเหลือ การรับบริจาคสิ่งของ การส่งต่อข้อมูลข่าวสาร ทั้งนี้การช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น หากแต่ควรเป็นไปในลักษณะของการว่าจ้างแทนที่จะช่วยเหลือแบบให้เปล่า เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และนำไปสู่การต่อยอดอาชีพในอนาคต

วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้บั่นทอนกำลังใจเหล่ามัคคุเทศก์ที่จะประกอบอาชีพนี้ต่อไปแต่อย่างใดในอนาคต เพราะต่างยังเชื่อมั่นว่าเป็นอาชีพที่มั่นคงและรายได้งดงามตราบเท่าที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ แต่ที่สำคัญคือการดำเนินชีวิตอย่างมีแบบแผน ทั้งในแง่การประกอบอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ที่นอกเหนือจากงานมัคคุเทศก์หากเกิดภาวะวิกฤตเช่นนี้ขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม มาตรการด้านสุขอนามัยหลังจากนี้อาจส่งผลต่อรูปแบบการทำงานของมัคคุเทศก์ และการเดินทางของนักท่องเที่ยว และเนื่องจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีความเชื่อมโยงกับหลายภาคธุรกิจ อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว ยานพาหนะ ร้านขายของ ฯลฯ เพราะฉะนั้นความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของภาครัฐจากผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องจึงมีความสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว

มัคคุเทศก์ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยว เป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนให้ตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวอีกครั้ง แต่วิกฤตการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นทั้งในอดีตและปัจจุบันอาจนำไปสู่การตั้งข้อสงสัยว่า “มัคคุเทศก์” จะยังคงเป็นอาชีพที่มั่นคงหรือไม่ สมกับที่ได้รับความคุ้มครองเป็นอาชีพสงวนสำหรับคนไทยต่อไปหรือไม่ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงเป็นหนึ่งในไม่กี่คำตอบที่จะร่วมกันทบทวนและสรรหาแนวทางเพื่อนำพากลุ่มอาชีพ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทยให้เดินหน้าต่อไปด้วยกัน

โดย...

ผศ.ดร.กัลยา สว่างคง

คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรมและ RDI

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์