เรียนๆ เล่นๆ (Active Learning) สร้างทักษะคน ศตวรรษที่ 21

เรียนๆ เล่นๆ (Active Learning) สร้างทักษะคน ศตวรรษที่ 21

การแพร่ระบาดของโควิดในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง

โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันประเมินว่า แรงงานเกือบ 8 ล้านคนเสี่ยงตกงานแบบไม่ทันตั้งตัว โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างชั่วคราว ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และลูกจ้างธุรกิจ SMEs ที่อาจปรับทักษะไปทำอาชีพอื่นยาก

การที่เราต้องมองไปข้างหน้า เมื่อเราต้องก้าวสู่โลก New Normal คนในประเทศจะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากกว่าที่เคยเป็นมา ทำให้การสร้างและพัฒนาคนให้เข้มแข็ง มีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เป็นที่ต้องการของตลาด เป็นโจทย์สำคัญ ซึ่งทางเลือกที่จะช่วยยกระดับทักษะแรงงานไทยได้อย่างยั่งยืน คือ การศึกษาแบบการเรียนๆ เล่นๆ (Active Learning) จะเป็นคำตอบของโจทย์นี้

ประเทศที่แรงงานทักษะสูงมักใช้การสอนแบบ Active Learning

ในปี 2019 World Economic Forum จัดทักษะแรงงานจบใหม่ของไทยอยู่ในอันดับที่ 79 จาก 141 ประเทศทั่วโลก ที่น่าสังเกตคือ ประเทศที่มีอันดับดีกว่าอย่างฟินแลนด์ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และหลายประเทศในยุโรป แรงงานส่วนใหญ่มีทักษะคิดวิเคราะห์เชิงสร้างสรรค์ การสื่อสาร และความรู้ด้านเทคโนโลยีที่เอื้อต่องาน

ถามว่าประเทศเหล่านี้ มีการเรียนการสอนแบบไหน หนึ่งแนวทางการสอนคือ Active Learning เน้นให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง (Student-centered) มีส่วนร่วมในกระบวนการสอนและเปิดโอกาสให้ลงมือปฏิบัติจริงผ่านกิจกรรมที่ออกแบบมาให้เหมาะสมกับเนื้อหาวิชา ครูจะปรับบทบาทเป็นผู้ให้คำแนะนำ ดูแลการทำกิจกรรม และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของนักเรียนในทุกระดับการศึกษา ตั้งแต่เด็กเล็กถึงมหาวิทยาลัย โดยในเด็กเล็กนับว่ามีความสำคัญมาก เพราะจะช่วยปูพื้นฐานการคิดวิเคราะห์เชิงสร้างสรรค์ ความกล้าในการแสดงความคิดเห็น การลองผิดลองถูกที่จำเป็นสำหรับการต่อยอดการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น ขณะเดียวกัน Active Learning ในระดับการศึกษาอื่นๆ ก็นำไปสู่การพัฒนาทักษะเหล่านี้ได้เช่นกัน ซึ่งเป็นทักษะที่ต้องการของตลาดแรงงานและมักได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าแรงงานที่มีทักษะอื่น

เมื่อถามถึงผลลัพธ์ของ Active Learning จากประสบการณ์ทั้งในสหรัฐฯและหลายประเทศในยุโรปและเอเชีย มีหลักฐานบ่งชี้ว่า(1) สนับสนุนการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งและไม่มีที่สิ้นสุด (Lifelong learning) (2) พัฒนาการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล(3) สร้างแรงบันดาลใจ(4) เพิ่มการมีมนุษยสัมพันธ์ (5) เพิ่มทักษะการสื่อสาร และ (6) เพิ่มความสำเร็จในการเรียน โดยในสหรัฐฯ พบว่า Active Learning ของนักเรียนจะสอบได้เกรดที่สูงกว่าและมีสัดส่วนการสอบผ่านสูงกว่า การเรียนแบบทั่วๆ ไปถึง 1.5 เท่า

‘3 ประเด็นชวนคิด การประยุกต์ Active Learning’ ในประเทศไทย

  ด้วยจุดเด่นของ Active Learning ทำให้ในประเทศไทยเชื่อกันว่า เรียนๆ เล่นๆ จะสอดรับกับการมุ่งสู่ Thailand 4.0 แต่ก็สมควรให้ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้กำหนดทิศทางการศึกษา ใน 3 ประเด็น

1.ขยายขอบเขตให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นอย่างทั่วถึงด้วยความร่วมมือ ‘รัฐ - เอกชน -  NGO - ผู้ปกครอง’ เพื่อให้เด็กในท้องถิ่นห่างไกลเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้ไม่ต่างจากเด็กในเมืองใหญ่ 

2.เริ่มต้นจากพื้นที่เล็กๆ (Sandbox)ในระดับเด็กเล็กที่มีความซับซ้อนน้อยที่สุดและปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศปัจจุบัน เราเห็นความพยายามในโครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ(ไรซ์ไทยแลนด์) ที่มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และโครงการพัฒนาศักยภาพเด็กปฐมวัยที่ลพบุรี

3.ประยุกต์ใช้ Active Learning ที่เน้นคุณภาพ ซึ่งภาครัฐควรจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณให้ตรงจุด รวมทั้งปรับแผนการเรียนการสอนใหม่ โดยมีครู นักเรียน และผู้ปกครองเป็นกุญแจสำคัญในการปรับตัว อาทิ

  • ติดอาวุธให้ครูผู้สอนด้วยการจัดหลักสูตรฝึกอบรม โดยผู้มีประสบการณ์และความชำนาญในActive Learning อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความคุ้นเคยและทักษะที่จำเป็นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสอน
  • สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของActive Learning ให้ผู้ปกครองซึ่งเป็นครูที่บ้านและใกล้ชิดกับนักเรียนมากที่สุด
  • ปรับสภาพแวดล้อมและหลักสูตรให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ของนักเรียนทำการเรียนให้เป็นเรื่องสนุกและเปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นและลองผิดลองถูกโดยไม่ถูกตำหนิ จะช่วยกระตุ้นการมีส่วนร่วมได้

ดังนั้น เมื่อ Active Learning คือ คำตอบ นี่อาจเป็นโอกาสให้ไทยได้ลองคิดเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง ซึ่งประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ต้องทำให้เกิดขึ้นจริงและขับเคลื่อนให้ไว เพราะหากปล่อยไว้ ต้นทุนการปรับเปลี่ยนจะยิ่งสูงขึ้นและอาจไม่ทันการณ์

โดย... ภัทรภรณ์ หิรัญวงศ์