ข้อเสนอNew Normal (จบ): “ของเสีย ชีวิตยั่งยืน

ข้อเสนอNew Normal (จบ):  “ของเสีย ชีวิตยั่งยืน

ข้อเสนอ New Normal ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ในตอนี้เป็นเรื่องของเสีย(ขยะ) และวิถีชีวิตที่ยั่งยืน

การจัดการขยะ

ในช่วงที่กรุงเทพยังปิดเมือง ประชาชนอยู่ในที่พักอาศัย มีขยะชุมชนเพิ่มขึ้นในปริมาณมากกว่า 30% ร้านค้าส่วนใหญ่งดให้บริการกับภาชนะส่วนตัวในการสั่งอาหารและเครื่องดื่ม มีการใช้ภาชนะพลาสติกครั้งเดียวทิ้งมากขึ้น รวมทั้งจำนวนการสั่งของและอาหารออนไลน์ส่งผลต่อการเพิ่มปริมาณของขยะพลาสติกและขยะบรรจุภัณฑ์อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ช่วงการระบาดของโควิด-19 มีประเด็นความยากลำบากในการทำงานของพนักงานเก็บขยะเนื่องจากปริมาณขยะที่มากขึ้น มีรายงานทั่วโลกถึงการติดเชื้อโรคโควิดของพนักงานเก็บขนขยะเนื่องจากมีขยะติดเชื้อปนเปื้อนอยู่ในขยะชุมชนทั่วไป โดยไม่ได้รับการจัดการที่เหมาะสม ความปกติใหม่สองข้อข้างต้นทำให้การจัดการขยะในยุคโควิด 19 ควรได้รับการส่งเสริม ให้ความสำคัญ

แนวทางในการแก้ไขการเพิ่มขึ้นของขยะคือ สนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนมาตรการการจัดการขยะตามลำดับความสำคัญ (hierarchy of waste management) ให้ความสำคัญอันดับหนึ่งกับการลดที่แหล่งกำเนิดให้ประชาชนและร้านค้ามีสำนึกที่จะลดขยะจากกิจกรรมของตน สำหรับคนทั่วไปคือการระงับใจไม่ซื้อของออนไลน์ และพยายามทำอาหาร และเครื่องดื่มกินเอง สะอาด ปลอดภัย และประหยัด แต่ถ้าหากอดใจไม่ไหวกับการซื้อของออนไลน์ควรส่งเสริมให้มี platform การสั่งแบบมีทางเลือกที่จะไม่รับช้อนส้อม ตะเกียบ ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ระบุไม่รับเครื่องปรุงในซองเล็กๆ เพราะสร้างขยะโดยไม่จำเป็น หากในปัจจุบันผู้ใช้บริการยังไม่สามารถเลือกได้จาก platform การสั่งก็ขอให้แจ้งกับร้านค้าหรือผู้ส่งว่าไม่ต้องการของเหล่านั้น การลดที่แหล่งกำเนิดสามารถเกิดจากสำนึกของผู้ค้าออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เกิดขยะน้อยที่สุด จากนั้นจึงรณรงค์ตามลำดับความสำคัญถัดมาคือ การใช้ซ้ำและการรีไซเคิล การแยกขยะ การรณรงค์การหมักปุ๋ยจากขยะอินทรีย์ที่บ้าน สุดท้ายควรมีการจัดการขยะติดเชื้อและหน้ากากอนามัยที่ไม่ใช้แล้วให้เหมาะสมเคร่งครัดกับมาตรการด้านความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่เก็บขยะจัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันให้พร้อม

ชีวิตแบบยั่งยืน

จากสถานการณ์ที่บังคับเมื่อคนอยู่บ้าน หลายๆคนมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป เช่น ทำอาหาร หรือ ปลูกต้นไม้มากขึ้น ถ้าหากมองให้ดี เราจะพบว่าการใช้ชีวิตบนความปกติใหม่แบบยั่งยืนนั้นอาจจะไม่ได้ยากอย่างที่คิด

คำว่าการใช้ชีวิตแบบยั่งยืน มีหลักอยู่ 5 ประการ 1. ความพอดีด้านจิตใจ 2. ความพอดีด้านสังคม 3.ความพอดีด้านความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4.ความพอดีด้านเทคโนโลยี และ 5.ความพอดีด้านเศรษฐกิจ การใช้ชีวิตให้ยั่งยืน อยู่บนขาตัวเองให้ได้มากที่สุดนั้นต้องอาศัยองค์ความรู้หลายๆ ศาสตร์ประกอบกัน ในที่นี้จะกล่าวถึงองค์ประกอบด้านการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าเป็นหลัก ซึ่งสามารถนำมาสู่ความพอดีด้านอื่นๆด้วย

การจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดภายในบ้านเรือนนั้นมีอยู่ 4 ด้านด้วยกัน คือการจัดการน้ำ การจัดการพลังงานไฟฟ้า การจัดการแหล่งอาหาร และการจัดการขยะที่ได้กล่าวไปแล้ว หลายคนคงสงสัยว่าทำไมเราต้องสนใจที่จะจัดการสิ่งต่างๆ เหล่านี้ด้วย หากชีวิตเราสุขสบายมีพร้อมอยู่แล้ว แต่บางคนอาจจะไม่รู้สึกเช่นนั้น ถ้างานที่ทำอยู่ต้องหยุดลง หรือรายได้ขาดหายไป ความสะดวกสบายที่เคยได้รับก็อาจจะเปลี่ยนไป ดังนั้น การหันกลับมาพิจารณาการจัดการทรัพยากรในบ้านเราให้เกิดประโยชน์สูงสุดจะเป็นอีกหนทางที่ทำให้เราสามารถมีชีวิตที่พึ่งพาตนเองได้มากขึ้น

ด้านแรกคือด้านน้ำ น้ำเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ การจัดการน้ำอย่างง่ายๆคือ การจัดเก็บน้ำ โดยอาจจะเก็บน้ำประปา หรือน้ำฝนไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน การใช้น้ำอย่างประหยัด และการนำน้ำที่ใช้แล้วไปใช้ประโยชน์ต่อไป เช่น น้ำจากการล้างจานสามารถนำไปรดต้นไม้ได้ หรือถ้าหากบ้านใครสามารถติดตั้งระบบบำบัดน้ำอย่างง่ายๆเพื่อนำน้ำกลับมาใช้ในห้องน้ำหรือสวนได้ก็จะยิ่งดี ด้านพลังงานไฟฟ้า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีแสงแดดตลอดปี ซึ่งเราสามารถติดตั้งโซล่าเซลล์เพื่อเก็บเกี่ยวพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ และปัจจุบันราคาของโซล่าเซลล์ก็ถูกลงกว่าแต่ก่อนมาก หากใครชอบออกกำลังกายก็อาจจะติดตั้งมอเตอร์เข้ากับจักรยานออกกำลังกาย เมื่อเวลาปั่นจักรยานก็จะได้ไฟฟ้าไว้ใช้ด้วย ด้านที่สามการจัดการแหล่งอาหารเบื้องต้นก็เป็นสิ่งที่จำเป็น การมีแหล่งอาหารเล็กๆของเราอยู่ในบ้านคือความมั่นคง ชอบกินอะไรก็ปลูกอย่างนั้น การปลูกผักสวนครัว ไม่ซับซ้อนสามารถหาความรู้จากอินเตอร์เนตไม่ยาก

การเริ่มต้นจัดการภายในบ้านให้มีความยั่งยืนด้านทรัพยากรธรรมชาตินั้น จะส่งผลถึงความพอดีด้านอื่นๆได้อีกหลายด้าน ประหยัดเงินได้มากขึ้นคือความพอดีด้านเศรษกิจ ด้านสังคมเมื่อมีเหลือ ก็แบ่งปันได้ และได้ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะกับท้องถิ่น ด้านสุดท้ายคือด้านจิตใจ เมื่อทำได้สิ่งที่กล่าวมาได้จะพบความสงบสุขในใจที่มากขึ้น เพราะเราพึ่งตนเองได้มากขึ้นนั่นเอง

โดย...

ดร. จีมา ศรลัมพ์

ดร. ดาว สุวรรณแสง จั่นเจริญ

ดร. ขวัญรวี สิริกาญจน

ดร. เอกบดินทร์ วินิจกุล

ดร.ประพัทธ์ พงษ์เกียรติกุล