มหันตภัยใหม่

มหันตภัยใหม่

ความหวาดกลัวเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุด อาวุธจึงเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่ง

มหันตภัยในอดีตที่มนุษย์หวาดกลัวที่สุด คือ อาวุธ “นิวเคลียร์” ที่มีการใช้งานอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก ในเมืองฮิโรชิมา และนางาซากิ เมื่อปี พ.ศ. 2488 จนทำให้สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง แต่ภาวะสงครามเย็นที่ก่อตัวขึ้นหลังจากนั้น หลายประเทศทั่วโลกใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล เพื่อพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ นำโดยสหรัฐอเมริกา รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน

แม้ทุกวันนี้จะยังไม่มีการรบด้วยอาวุธนิวเคลียร์เกิดขึ้น แต่หลายประเทศก็ใช้อาวุธชิ้นนี้ เป็นเครื่องมือเจรจาต่อรองทางการเมือง เช่น เกาหลีเหนือ อิหร่าน อินเดีย ปากีสถาน เพราะรู้ดีว่านิวเคลียร์สามารถสร้างความหวาดกลัวให้ประเทศคู่กรณีได้ผลดีที่สุด

ผลที่เกิดขึ้น คือ การเติบโตถึงขีดสุดของอุตสาหกรรมทางการทหาร โดยสหรัฐอเมริกาที่ใช้อาวุธอันทันสมัยเป็นเครื่องมือถ่วงดุลอำนาจในเวทีโลก งบประมาณด้านกลาโหมของสหรัฐฯ จึงมากมายมหาศาลกว่า 7 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี เป็นอันดับ 1 ของโลกทิ้งห่างจากอันดับ 2 อย่างไม่เห็นฝุ่น การพัฒนาทางเศรษฐกิจของโลกจึงเติบโตมาโดยมีความหวาดกลัวเป็นปัจจัยสำคัญ ทุกประเทศต่างต้องการลงทุนด้านกลาโหมด้วยการสะสมอาวุธสมัยใหม่เพื่อความมั่นใจว่าจะรับมือประเทศอื่นได้หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้น

แนวโน้มเช่นนี้เกิดขึ้นเพราะการเล็งเห็นว่าจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้นจนถึง 7 พันล้านคนนี้ จะก่อให้เกิดปัญหาตามมาจนยากที่จะควบคุม ซึ่งทุกวันนี้ เราได้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วจริงๆ ทั้งปัญหาโลกร้อน ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ จนทำให้ประชากรในหลายประเทศเพียง 1% กลับถือครองสินทรัพย์มากถึง 70% ของทั้งประเทศ ความแตกต่างระหว่างคนรวยและคนจนมากเกิน 70 เท่า

เราต้องยอมรับว่า ด้วยแนวทางการพัฒนาเช่นนี้ ก่อให้เกิดกระแสทุนนิยมขึ้นทั่วโลก และทุนนิยมนี้เองที่ทำลายกำแพงระหว่างประเทศลงกลายเป็นกระแส Globalization การค้าไร้พรมแดน และเงินทุนก็ไหลเวียนไปได้ทั่วโลกด้วยพลังของธุรกิจสมัยใหม่

และเมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท ธุรกิจเดิมที่ปรับตัวไม่ได้ ก็ต้องล้มหายตายจากไป เริ่มจากธุรกิจสื่อ เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ที่โดนกระแสโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทแทนที่ ตามมาด้วยธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ทำให้ร้านค้าปลีกมียอดขายลดลงมากจนต้องปิดหลายสาขาลงเพื่อปรับตัว

กระแสทุนนิยมเกิดขึ้น โดยอาศัยกลไกของอุปสงค์และอุปทาน เน้นสร้างความต้องการให้เกิดขึ้น ซึ่ง “ความหวาดกลัว” เป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุด อาวุธจึงเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของสหรัฐฯ มาอย่างยาวนาน เพราะแต่ละประเทศล้วนมีความต้องการถ่วงดุลอำนาจในภูมิภาคของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น แต่แนวโน้มในการใช้กลาโหมนำเศรษฐกิจแบบนี้มันเป็นแนวทางที่ถูกต้องหรือไม่ในภาวะปัจจุบัน

เราคงเห็นได้แล้วจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในสหรัฐฯ อังกฤษ บราซิล ที่เห็นได้ชัดว่า ไม่สามารถควบคุมการระบาดได้เลย เพราะการทุ่มแต่งบประมาณด้านกลาโหม แต่กลับปล่อยให้งบประมาณด้านสาธารณสุขตกต่ำ ผลที่เกิดขึ้น คือ ไม่สามารถบริหารจัดการโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ การดูแลประชาชนก็เน้นให้แต่ละคนจัดหาประกันสุขภาพด้วยตัวเอง ส่งผลให้คนทั่วไปที่ไม่มีสวัสดิการใด ๆ ต้องจ่ายค่ารักษาในอัตราแพงมหาศาลจนหลายคนแม้จะหายจากโรคโควิด-19 อาจต้องล้มละลายเพราะไม่มีเงินจ่ายโรงพยาบาล

เมื่อรัฐบาลบริหารจัดการไม่ได้ นักการเมืองก็ไม่ยอมรับความเป็นจริง และพยายามสื่อสารให้คนในประเทศเข้าใจผิดๆ ด้วยการบิดเบือนข่าวสารให้เป็นประโยชน์ทางการเมืองของตัวเอง ท้ายที่สุดประชาชนก็ไม่เชื่อข่าวสารจากภาครัฐและหันไปเชื่อข่าวปลอมที่ระบาดหนักอยู่ในเวลานี้

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก และเห็นแล้วว่า แนวทางการใช้กลาโหมนำประเทศที่ใช้มายาวนานนับสิบปี ไม่อาจช่วยปกป้องประชาชนจาก “โรคระบาด” ที่กลายเป็นมหันตภัยใหม่ได้เลย ความหวาดกลัวภัยจากนิวเคลียร์หรือสงครามแบบเต็มรูปแบบจึงแทบจะไม่อยู่ในความสนใจของคนรุ่นใหม่แล้ว

แต่ภัยจากโรคระบาดและผลกระทบจากภาวะโรคร้อนต่างหาก ที่กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ การตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และให้ความสำคัญกับมันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องเข้าใจและวางแผนรับมันให้ได้ในระยะยาว