ภาษีe-Service:เมื่อPlatformต่างประเทศต้องเสียภาษี

ภาษีe-Service:เมื่อPlatformต่างประเทศต้องเสียภาษี

แม้โควิด-19 จะทำให้การค้าหน้าร้านไม่เหมือนเดิม การนำเข้า/ส่งออกสินค้าทำได้ยากขึ้น

แต่ในทางตรงกันข้าม “การค้าบริการ” (Trade in services) ผ่าน platform อิเล็กทรอนิกส์กลับไม่เป็นอุปสรรค

ที่มาของภาษี e-Service

ร่างกฎหมายภาษี e-Service ฉบับปี 63 หรือ “ร่าง พ.ร.บ. การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรโดยผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน” เป็นผลสืบเนื่องจากภาษี e-Business ที่ ครม. ได้อนุมัติหลักการไว้ในปี 61 โดยมีวัตถุประสงค์ในการแก้ไขประมวลรัษฎากรเพื่อจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศ 

ปัญหา คือ ไม่มีหน้าร้าน

หากพิจารณารูปแบบของธุรกิจในปัจจุบัน ธุรกิจสามารถอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านในแบบเดิม การทำธุรกิจในยุคดิจิทัลสามารถใช่ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นสื่อกลาง โดยผู้ให้บริการไม่จำเป็นต้องเข้ามา ในประเทศที่รับบริการ และด้วยประโยชน์ของ Platform การทำธุรกรรมข้ามประเทศจึงเป็นเรื่องง่ายที่ทำได้ 24 ชั่วโมง อันเป็นการตัดความจำเป็นในการมีร้านค้าในทางกายภาพไป นั้นแปลว่าในสถานการณ์แบบนี้ ภาษีนิติบุคคลที่ใช้อยู่ในปัจจุบันอาจทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าไรนัก เพราะบริษัทข้ามชาติสามารถสร้างรายได้จากธุรกรรมออนไลน์โดยไม่ต้องมี Physical presence และการกำหนดให้ผู้ประกอบการที่อยู่นอกประเทศ มาจดทะเบียน VAT ในไทยก็มิใช่เรื่องง่าย 

ปัญหา คือ บริการ ไม่ใช่ สินค้า

ภาษี e-Service มีวัตถุประสงค์ในการเก็บ VATจากผู้ให้บริการที่อยู่ต่างประเทศและให้บริการผ่าน Platformอิเล็กทรอนิกส์กับลูกค้าที่อยู่ในไทยมิใช่เก็บภาษีจากการซื้อสินค้าออนไลน์ 

ซึ่ง Service หมายถึงธุรกรรมออนไลน์ต่าง ๆ ที่มีการเก็บ Service fees เช่น การให้บริการทีวีออนไลน์ ดาวน์โหลดเพลง ดาวน์โหลดสติกเกอร์ เกมส์ออนไลน์ แมกกาซีนออนไลน์ บริการCloud บริการมีเดีย/โฆษณา ธุรกิจ Digital Content และ ธุรกิจ Digital Media Services ในรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ต่างประเทศนั้น เป็นคนละประเด็น และ ไม่เกี่ยวกับภาษี e-Service เนื่องจากการซื้อสินค้าออนไลน์ แม้จะซื้อจากผู้ขาย/หรือเว็บไซต์ของต่างประเทศ และได้มีการส่งสินค้าตามที่ลูกค้าสั่งซื้อมายังที่อยู่ในประเทศไทย แต่การนำเข้าสินค้าย่อมเป็นไปตามพิธีการนำเข้าสินค้าตามกฎหมายของกรมศุลกากร ซึ่งจะมีการเรียกเก็บอากรขาเข้า และ VAT อยู่แล้วตามที่กฎหมายกำหนด หรือพูดง่าย ๆ ว่า กรณีการนำเข้าสินค้ามีหน่วยงานจัดเก็บภาษีคอยตรวจตราอยู่ชั้นหนึ่งแล้ว ซึ่งแตกต่างจาก การให้บริการผ่าน Platform อิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งตรงบริการถึง device ของลูกค้าได้ทันที ทำให้ภาครัฐไม่อาจ เข้าไปประเมินหรือตรวจสอบในทางภาษีได้อย่างเช่นกรณีการซื้อสินค้า

ปัญหา คือ ที่ผ่านมามีกฎหมายแต่เราอาจไม่รู้

ที่ผ่านมา กฎหมายไทยวางหลักสำหรับผู้ประกอบการที่ให้บริการจากต่างประเทศว่า “หากมีการให้บริการในต่างประเทศและมีการใช้บริการในไทย บริการนั้น ย่อมถือเป็นการให้บริการในไทยและ เป็นกิจกรรมที่ต้องเสีย VAT” และสำหรับผู้จ่ายค่าบริการ (ลูกค้าในไทย) มีหน้าที่ยื่นเสีย VAT แทนผู้ประกอบการที่ให้บริการจากต่างประเทศที่ไม่ได้จดทะเบียน VAT ในไทย ซึ่งหลักการนี้ปรับใช้ทั้งกับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่รับบริการ ดังนั้น ปัญหา คือ ที่ผ่านมาบุคคลธรรมดาอย่างเราๆ หากซื้อบริการจากต่างประเทศ เราทราบหรือไม่ว่า เรามีหน้าที่เสีย VAT แทนผู้ประกอบการที่ให้บริการจากต่างประเทศ เช่น นาย ก. ซื้อ e-book จากเว็ปไซต์ต่างประเทศในราคา 3000 บาท นาย ก. มีหน้าที่เสีย VAT ในอัตรา 7% ของจำนวนเงินที่จ่ายไป โดยต้องยื่นแบบ ภ.พ. 36 ภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่มีการจ่ายค่าบริการนั้น

กฎหมายจึงปรับให้ทันสมัยและชัดเจน เพื่อแก้ปัญหาข้างต้น กฎหมายจึงปรับปรุงในประเด็นดังต่อไปนี้

1) ปรับปรุงแก้ไขนิยามของคำว่า “สินค้า” และ “บริการ” ที่ต้องเสีย VAT ให้ชัดเจนและครอบคลุมขึ้น กล่าวคือ “สินค้า” ไม่รวมถึง ทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด แต่ไปเพิ่มเติมในส่วนของ“บริการ” ให้รวมถึง บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ และ อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม (ตลาดออนไลน์/e-Marketplace) ทั้งนี้ ก็เพื่อกำหนดความชัดเจนในกฎหมายว่า การให้บริการแบบอัตโนมัติผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการให้บริการผ่านตลาดออนไลน์ หรือ ช่องทาง e-Marketplace รูปแบบต่าง ๆ เป็น “การให้บริการ” ที่ผู้ให้บริการจากต่างประเทศต้องเสีย VAT ทั้งสิ้น 

2) ให้ผู้ประกอบการที่ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศมาขึ้นทะเบียน VAT ในไทย หาก มีการให้บริการลูกค้าในไทย และมีรายได้เกิน 1.8 ลบ./ปี และเมื่อขึ้นทะเบียนแล้ว ย่อมมีหน้าที่เสีย VAT โดยให้คำนวนจากภาษีขายและไม่ให้หักภาษีซื้อ

3) กรณีที่ผู้ให้บริการในข้อ 2) ให้บริการในไทยผ่านอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม เช่น ผู้ให้บริการอาจขายผ่าน platform ที่มีลักษณะเป็นตลาดออนไลน์ ในกรณีนี้ ให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มหรือตลาดออนไลน์ที่เป็นตัวกลางมีหน้าที่เสีย VAT แทนผู้ให้บริการบน platform ของตน โดยให้เสียแบบคำนวนทุกรายรวมกัน (ไม่ต้องแยกรายละเอียดการให้บริการสำหรับผู้ประกอบการแต่ละราย)

4) ห้ามผู้ประกอบการที่ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศที่ได้จดทะเบียน VAT แล้วออกใบกำกับภาษี

5) ให้การดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารตามประมวลรัษฎากรและการจดทะเบียน VAT สามารถดำเนินการด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การออกหมาย หนังสือแจ้งให้เสียอากร ใบกำกับภาษี หรือเอกสาร ที่ต้องจัดทำตามกฎหมายสามารถทำในแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดทำเอกสาร อิเล็กทรอนิกส์ ป.รัษฎากรกำหนดให้เป็นไปตามหลักการของกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

ท้ายที่สุด ครม. ได้มีมติเห็นชอบร่างกฎหมาย e-Service เมื่อ 9 มิย. 63 ที่ผ่านมา และอยู่ในขั้นตอนการเสนอสภาเพื่อจัดทำกฎหมายลำดับรองต่อไป ผู้เขียนเชื่อว่า ถึงเวลาแล้วที่ e-Service และธุรกิจการให้บริการผ่าน Platform จากต่างประเทศ ต้องเตรียมการเพื่อเสียภาษีในไทยให้ถูกต้อง

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ]