เว้นระยะห่างจากตัวตน

เว้นระยะห่างจากตัวตน

โรคระบาด ทำให้มีการเว้นระยะห่างทางสังคม ใครๆ ต่างต้องการให้มี Social distancing แต่บางครั้งก็เกินเลยไปจากความมีเหตุมีผล

เกินไปจากหลักการทางวิทยาศาสตร์ เกินไปจนกระทั่งมองเห็นคนนั้นคนนี้ละเลยการเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งในความเป็นจริงนั้น เราไปกำหนดจากมาตรฐานของตัวเราเองว่า แค่ไหนถึงจะเรียกว่ามีการเว้นระยะทางสังคม ทำให้มีคนบางคนเริ่มหงุดหงิดที่เห็นคนอื่น ไม่กระทำอย่างที่เราคิดว่าเขาควรกระทำ อาการเหล่านี้เป็นอคติอย่างหนึ่งที่เราวินิจฉัยเรื่องต่างๆ โดยอาศัยความเชื่อของตนเองเป็นสำคัญ ฝรั่งเรียกว่า อคติแบบ Egocentric

Egocentric ทำให้เราตอบทุกเรื่องที่เราพบเห็น ด้วยคำถามว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ ฉันจะทำอย่างไร ไม่มีคำถามว่า ถ้าเธอเจอเรื่องนี้ เธอจะทำอย่างไร ตัวกูจึงเป็นคนให้คำตอบแทบทุกเรื่องที่เจอะเจอ เมื่อตัดสินทุกอย่างด้วยคำถามว่า เรื่องนี้ฉันจะทำอย่างไร ทุกอย่างที่ฉันทำนั้นจึงถูกต้องที่สุด ดีที่สุดเสมอ ความสำเร็จใดๆ ที่เกิดขึ้น จะถูกตีความแบบตัวข้าถูกเสมอ ว่ามาจากผลงานของเราเองเสมอ ส่งผลให้ไม่เห็นผลงานจากการกระทำของคนอื่น ดีทั้งปวงมาจากฉันเท่านั้น ทำงานนิดเดียว แต่ละวันก็เอาแต่พูด เอาแต่ชี้หน้าด่าคนอื่น แต่พองานสำเร็จก็ออกประกาศชื่นชมตนเองว่าเป็นผู้สร้างความสำเร็จนั้นให้เกิดขึ้น ถ้ามีอคติแบบEgocentricมากๆ จะไม่มีใครอยากทำงานด้วย หรือถ้าจะทำก็เป็นเพราะจำทนด้วยไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า อคติแบบนี้ไม่เพียงแต่ทำร้ายคนร่วมงาน แต่ยังมีโอกาสย้อนรอยมาทำร้ายตนเองได้ด้วย ทำงานผิดพลาดนิดเดียว แต่ตัวเองเห็นเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้นเลยเอาใจเราไปใส่ใจเขาว่าคนอื่นจะเห็นเป็นผิดใหญ่ผิดโต จนกลายเป็นคนที่ไม่กล้าจะทำอะไรไปเลย

เรื่องใหญ่คืออคตินี้พร้อมที่จะออกฤิทธิ์ได้ทุกเมื่อ คนไหนคุมได้ คนนั้นก็น่าคบค้าสมาคมด้วย เพราะรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่ใช่เอาแต่ใส่ใจเราลงไปในใจเขาแต่ท่าเดียว และที่น่าแปลกใจขึ้นไปอีกคือ คนที่เริ่มใช้อคติแบบนี้จะมีระดับอคติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเหมือนคนติดเชื้อไวัรัส ตอนแรกก็มีเชื้อในตัวไม่มาก แต่แค่ 2 - 3 วันเชื้อก็ขยาย กระจายเต็มตัวไปหมด เริ่มจากตัวกูถูกเสมอในเรื่องเล็กเรื่องน้อย ขยายไปจนกระทั่งถึงเรื่องใหญ่เรื่องโต เริ่มจากเรื่องการแต่งกาย ถ้าฉันชอบผมสั้น ใครผมยาวถือว่าผิดปกติ ไปจนกระทั่งเรื่องการบริหารจัดการ ฉันชอบบริหารแบบบังคับและบัญชา ใครไม่ทำตามที่ฉันบังคับและบัญชา ฉันก็ว่าคนนั้นเป็นคนย่ำแย่ การหลีกเลี่ยงการใช้อคติแบบนี้ตั้งแต่เรื่องเล็กเรื่องน้อย จึงเป็นจุดตั้งต้นที่ดีในการป้องกันไม่ให้เราจมดิ่งลงไปกับอคตินี้ ในเรื่องสำคัญๆ ของชีวิต

ถ้าคิดว่าฉันทำทุกอย่างดีที่สุดแล้ว แต่ทำไมยังมีคนจ้องด่าว่าฉันอยู่เป็นประจำ และรู้สึกว่าคนที่มาคอยด่านั้นดูเหมือนจะด่าอย่างเดียว โดยไม่ได้ทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันเลย อาจแสดงว่าตัวเรามีอคติแบบEgocentricให้ผู้คนเห็นได้ชัดเจนแล้ว หนทางหนึ่งในการป้องกันไม่ให้ตัวเรากลายเป็นเช่นนั้น คือเว้นระยะห่างจากตัวตนของเราเองออกไปบ้างซึ่งทำได้ไม่ยากโดยเริ่มต้นจาก การปรับเปลี่ยนคำถามที่เราถามตัวเอง เวลาเจอะเจอเรื่องต่างๆ ลองแบ่งสักครึ่งหนึ่งของเรื่องที่พบเจอให้กลายเป็นคำถามว่า ถ้าคนอื่นเจอเรื่องนี้ คนอื่นจะทำอย่างไร เปลี่ยนคำถามจากบรุษที่หนึ่ง ไปเป็นบรุษที่สอง หรือสามให้บ่อยครั้งมากขึ้น ถ้าเป็นคนเจ้าระเบียบและเห็นของเกะกะ อย่าพึ่งถามว่าฉันจะทำอย่างไรกับของเกะกะเหล่านั้น เพราะถามแบบนั้นเมื่อไร มีหวังโยนทิ้งไปหมด ซึ่งของที่ทิ้งไปนั้น เราเห็นว่าเกะกะ แต่คนอื่นอาจเห็นว่าหยิบใช้ได้สดวก ซึ่งต่างกันมาก

เว้นระยะห่างจากตัวตนให้มากขึ้นโดยชะลอการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ให้ช้าลงบ้าง เพื่อให้มีสติระลึกได้ว่านอกจากมุมมองที่คิดได้ทันทีแล้วนั้น อาจยังมีมุมมองอื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นอีก ยิ่งคิดถึงทางเลือกมากขึ้นเท่าใด โอกาสที่เอาใจเขามาใส่ในเราย่อมมีมากขึ้น ตัวกูเป็นสรณะเกิดขึ้นได้ง่าย แต่ก็แก้ไขได้ง่ายเช่นกัน ขอเพียงแค่ตั้งใจและพอใจที่จะแก้ไขเท่านั้น