มองศักยภาพเศรษฐกิจไทย มองให้ไกลกว่าวิกฤติ ‘โควิด’

มองศักยภาพเศรษฐกิจไทย มองให้ไกลกว่าวิกฤติ ‘โควิด’

การแพร่ระบาดของโควิดที่ก่อให้เกิดวิกฤติในด้านเศรษฐกิจ แต่แง่หนึ่งเป็นโอกาสในการพัฒนา ยกระดับเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นโอกาสการเติบโตระยะยาว

“วิกฤติ”กับ“โอกาส”เป็นเสมือนเหรียญคนละด้านในภาษาจีนมีคำว่า危機 (“weiji”) ที่แปลว่า วิกฤติ (Crisis) เป็นคำที่ผสมระหว่างคำว่าอันตราย (Danger) กับคำว่าโอกาส (Opportunity) จึงมีคำสอนว่าผู้ที่มองเห็นโอกาสท่ามกลางความอันตรายหรือความเสี่ยงจะสามารถพลิกสถานการณ์มาสร้างโอกาสแห่งความได้เปรียบได้ในที่สุด
...คำสอนดังกล่าวไม่ได้จำกัดแค่ในระดับปัจเจกบุคคลเท่านั้นแต่ในระดับประเทศเองก็สามารถนำมาปรับใช้ในการสร้างโอกาสของประเทศได้เช่นกัน
ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ทุกประเทศต่างได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ต่างมีปัญหาที่ต้องแก้ไขทั้งการควบคุมโรคระบาด การแก้ปัญหาการว่างงาน และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่หดตัวอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องทำคือการมองให้ไกลไปกว่าวิกฤติที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้า โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศต้องมองให้เห็นโอกาสและกำหนดทิศทางของประเทศให้ชัดเจนว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร
ในความปกติใหม่ (New Normal) ทางเศรษฐกิจ ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจฝ่ายนโยบายกำลังขบคิดอย่างหนักเกี่ยวกับเศรษฐกิจ จึงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายที่ในปีนี้จะมีการขยับปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติซึ่งจะนำมาสู่การปรับเปลี่ยนแผนแม่บทและนโยบายที่เกี่ยวข้องหลายอย่างเพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
วิกฤติจากโควิดที่กระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจของประเทศทั้งภาคการท่องเที่ยว การส่งออก รวมถึงการลงทุนทางตรง (FDI) ที่ลดลงอย่างมากตามภาวะเศรษฐกิจโลก ดังนั้นโอกาสทางเศรษฐกิจไทยท่ามกลางวิกฤติครั้งนี้ขึ้นอยู่กับศักภาพดั้งเดิมและสิ่งที่เราจะต่อยอดขึ้นมาใหม่จากศักยภาพเดิมที่เรามีอยู่
ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒน์ บอกว่าแง่หนึ่งโควิดทำให้เราเห็นศักยภาพทางเศรษฐกิจของเราเองว่าจริงแล้วอยู่ที่ภาคการผลิตอาหาร การเกษตร และศักยภาพทางการแพทย์และสาธารณสุขที่สามารถต่อยอดเป็นจุดแข็งของประเทศในระยะยาว ส่วนการท่องเที่ยวต้องให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและคุณภาพมากขึ้น
อีกส่วนที่จะกำหนดความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยคือการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจภายในประเทศ ตามที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีให้นโยบายกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)ว่าจะต้องมุ่งส่งเสริมการลงทุนในทิศทางนี้สร้างผู้ประกอบการและสินค้าที่ได้รับการยอมรับของตัวเองมากกว่าพอใจกับการเป็นแค่ส่วนหนึ่งของซัพพายเชนของโลก
สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไทยมีโอกาสและมุ่งทิศทางไปสู่ทิศทางการพัฒนาที่มีศักยภาพในอนาคตคือเงินกู้ 4 แสนล้านบาทที่จะใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการฯที่มีเลขาสภาพัฒน์เป็นประธานก่อนเสนอ ครม.พิจารณาครั้งแรกในเดือน ก.ค.นี้
ในฐานะประชาชนเองก็ควรช่วยกันเป็นกำลังใจให้คณะกรรมการฯด้วยเช่นกันเพื่อให้ที่สุดแล้วแรงกดดันทางการเมืองที่ถาโถมเข้ามาพยายามกดดันทุกทิศทุกทางไม่สามารถส่งผลต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการฯชุดนี้
เพื่อที่จะให้คณะกรรมการฯจะสามารถพิจารณาคัดเลือกโครงการที่เหมาะสมเป็นประโยชน์กับประชาชนและสร้างโอากาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวอย่างแท้จริง