COVID กับอนาคตที่เปลี่ยนไปของ Fintech

COVID กับอนาคตที่เปลี่ยนไปของ Fintech

ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส COVID-19 ครั้งนี้เป็นโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับ Fintech อย่างแท้จริง

COVID-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในหลายอุตสาหกรรมทั่วโลก ทั้งอุตสาหกรรมการบิน การขนส่ง การเรียนการสอน ฯลฯ สำหรับอุตสาหกรรมการเงินก็เช่นกัน COVID-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ถือเป็นตัวเร่งให้บริการด้าน Fintech บางอย่างถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือระบบ Payment และ Mobile Banking เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลในการใช้ธนบัตรและเหรียญว่าอาจจะต้องสัมผัสกับไวรัส ดังนั้น ผู้บริโภคจึงพยายามใช้การโอนเงินผ่าน Mobile Banking สำหรับทุกธุรกรรมที่เป็นไปได้ ซึ่งการโอนเงินผ่าน Mobile Banking เป็นบริการที่ผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการกรอกเลขที่บัญชีธนาคาร หรือการใส่เบอร์โทรศัพท์มือถือเพื่อโอนเงินผ่านระบบ PromtPay นอกจากนี้ การจ่ายเงินตามร้านค้าที่มีระบบ QR Code ก็เป็นที่นิยมอย่างมาก เนื่องจากมีความสะดวกรวดเร็วและผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องสัมผัสกับอะไรเลยนอกจากโทรศัพท์มือถือของตัวเอง โดยในส่วนนี้ผู้ให้บริการที่ได้ประโยชน์มีทั้งธนาคาร (KBank และ SCB เป็นสองเจ้าใหญ่) และ e-Wallet (TrueMoney และ Rabbit LINE Pay เป็นสองเจ้าใหญ่) เรียกได้ว่า COVID-19 เป็นตัวเปลี่ยนเกมส์สำคัญที่ทำให้เราเข้าใกล้การเป็น Cashless Society ได้รวดเร็วขึ้น

การใช้งาน Fintech อีกด้านที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วคือความจำเป็นในการสั่งอาหารผ่าน Platform อย่าง Grab และ LINE MAN เนื่องจากช่วงหนึ่งเราไม่สามารถนั่งรับประทานอาหารที่ร้านได้เลย ผู้บริโภคบางคนได้ลองใช้ Platform เหล่านี้ครั้งแรกในการสั่งอาหารก็เพราะ COVID-19 และผู้บริโภคจำนวนมากน่าจะมีความคุ้นเคยในการใช้มากขึ้น จนอาจเป็นช่องทางหลักในการรับประทานอาหารไปเลย เดิมทีอาจเป็นการสั่งอาหารมาที่บ้านและจ่ายเงินด้วยธนบัตร แต่ตอนนี้ได้เปลี่ยนเป็นการโอนเงินด้วย Mobile Banking หรือที่สะดวกกว่านั้นคือการผูกบัตรเครดิตไว้กับ Platform เพื่อใช้ซื้ออาหารได้ทันที

บริการอีกด้านที่ได้รับประโยชน์คือ e-Commerce เนื่องจากไม่สามารถไปห้างสรรพสินค้าได้ ประกอบกับเวลาที่ว่างมากขึ้นจากการ Work From Home ทำให้ผู้บริโภคอาจจะใช้ Social Media มากขึ้น และเห็นโฆษณาสินค้าที่ตัวเองให้ความสนใจอยู่ บ่อย ๆ ซ้ำ ๆ จนอดใจไม่ไหว ต้องเสียเงินซื้อของชิ้นนั้นในที่สุด ซึ่งเราก็สามารถผูกบัตรเครดิตไว้กับ e-Commerce แต่ละเจ้าได้อย่างสะดวกอยู่แล้ว เรียกได้ว่า Fintech ที่เกี่ยวกับการชำระเงินนั้นได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้ไปแบบเต็ม ๆ

สำหรับ Fintech ด้านการลงทุนนั้น แม้ว่าในระยะสั้นผู้ให้บริการแต่ละรายจะได้รับผลกระทบจากราคาหุ้นที่ตกทั้งโลก ประกอบกับการชะลอการลงทุนของผู้บริโภค เนื่องจากมีความจำเป็นต้องใช้เงินกับเรื่องอื่น แย่หน่อยคือถึงขั้นโดนลดเงินเดือนหรือตกงาน แต่การระบาดของ COVID-19 ที่ลามไปถึงความมั่นคงทางการเงินของคนในวงกว้าง ส่งผลให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการออมการลงทุนมากขึ้น และเริ่มมีเป้าหมายในการมีเงินสำรองไว้ใช้ยามจำเป็น เช่นการมีเงินให้เพียงพอกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหากเราต้องตกงานเป็นระยะเวลานานถึง 6 เดือน

ด้วยเหตุผลเรื่องความสะดวก ความต้องการลงทุนในช่วงที่หุ้นมีราคาถูกลง และการตระหนักถึงความจำเป็นเพื่อสำรองเงินในยามฉุกเฉิน ส่งผลให้บริการ Fintech ด้านการลงทุนได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่ม Millennials ที่ไม่เคยมีโอกาสได้เริ่มลงทุนอย่างจริงจังสักที เห็นได้จากยอดการเปิดบัญชีเพื่อลงทุน Online ที่โตขึ้นมากในช่วงนี้

ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส และ COVID-19 ครั้งนี้เป็นโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับ Fintech อย่างแท้จริง