“อเมริกาเกือบไป” เพราะบริหารจัดการประเทศด้วยอารมณ์ความรู้สึก

“อเมริกาเกือบไป” เพราะบริหารจัดการประเทศด้วยอารมณ์ความรู้สึก

บางทีเรื่องเพี้ยนๆ ก็เกิดขึ้นได้เสมอท่ามกลางปัญญาชนคนมีความรู้ เมื่อก่อนอาจมีภาษิต “เส้นผมบังภูเขา”

เดี๋ยวนี้อาจเรียกแบบคนรุ่นใหม่ว่า “จุก จุก” (ไปถามคนที่ยังอยู่กับเด็กๆ เขาบอกว่ามันเหมือนอะไรที่เลอะๆ เทอะๆ หรือวุ่นวายสับสน” น่าจะเรียกได้กับสถานการณ์ในสหรัฐ มีนายตำรวจยศ “ร้อยเอก” นอกราชการไปปฏิบัติหน้าที่รับจ้างเฝ้าร้านค้าถูกฆ่าตายในหน้าที่กลับแทบไม่มีคนพูดถึง

ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก นายคูโอโม ท่าดีมากๆ ช่วงโควิด มีแววว่าถ้าเดโมแครตส่งแทนโจ ไบเดน คนคนนี้มีสิทธิลุ้นได้เป็นประธานาธิบดี แต่มาแสดงความเห็นออกจะเข้ารกเข้าพง เรื่อง “จอร์จ ฟอร์ยด์” คนผิวดำที่ถูกตำรวจกดกับพื้นระหว่างการจับกุมข้อหาใช้ธนบัตรปลอม กระทั่งขาดอากาศหายใจเสียชีวิตอันเป็นที่มาของการจลาจลต่อเนื่องในหลายเมืองของสหรัฐฯ เวลานี้ พูดมากเกินเลยดูจะหมองๆ ไปจากที่ฉายแววเป็นประกายเด่นชัด

เดโมแครตเอง โทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น ต่างก็ช่วยกันโหมไฟให้ลุกโชน ออกอากาศฉายภาพความรุนแรงซ้ำไปซ้ำมา สัมภาษณ์แต่คนที่กะจะโค่นริพับลิกันให้ได้ ส่วนประธานาธิบดีทรัมป์ก็เชื่อมั่นในตัวเองสูงเหมือนเดิม อาจบวกกับทัศนคติต่อคนกลุ่มน้อยที่ทราบๆ กันก็เลยไปกันใหญ่

ที่กล่าวมาในวรรคแรกทั้งหมด คือบรรยากาศและสภาพแวดล้อมทางสังคมการเมืองของสหรัฐ ประเทศยักษ์ใหญ่ที่เคยเกรียงไกร น่าทึ่ง ผู้คนฝันอยากได้ไปสัมผัสความเจริญ ความมีเสรีภาพตามที่เล่าๆ กันมาสักครั้งในชีวิต เหมือนกับผมและหลายคนที่สมัยเป็นนักเรียนทุนรัฐบาล เขากำหนดไว้เลยว่าต้องไปเรียนที่ประเทศสหรัฐหรืออังกฤษเท่านั้น อาจเป็นเพราะเวลานั้น จีนยังเป็น “ยักษ์หลับ” อยู่

ส่วนตัวยังจำได้ดีว่าช่วงที่ไปศึกษาต่อทางด้านอาชญาวิทยาที่ฟลอริดา ทางอเมริกาเพิ่งผ่านวิกฤตการณ์ที่ตำรวจรุมทุบตี “รอดนีย์ คิงส์” คนผิวดำมีซีเอ็นเอ็นเจ้าเก่า เผยแพร่ภาพออกไปทั่ว กระทั่งเกิดการจลาจลโกลาหล ประกาศเคอร์ฟิว มีคนออกมาปล้นสะดม ไม่ต่างจากเหตุการณ์ใน “มิเนอาโซตา” ณ ปัจจุบัน

แม้ความรุนแรงหลายอย่างจะคลี่คลายไปแล้ว และเชื่อว่ามีคนนำบทเรียนมาวิเคราะห์ศึกษากันจำนวนมาก แต่บทความนี้เลือกจะใช้มุมมองที่น่าจะสะท้อนเรื่องที่แตกต่างออกไปจากบุคคลอื่นๆ ต้องบอกว่า ด้วยสภาพของการที่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของ ศบค. ผมเชื่อว่าพวกเราหลายคนมีเวลามากในการอยู่กับบ้าน ได้ติดตามสื่อและข่าวสารต่างๆ แบบทันอกทันใจ จึงมองเห็นปัญหาในการทำหน้าที่ของสื่อ โดยเฉพาะจรรยาบรรณความรับผิดชอบของสื่อในต่างประเทศ ที่เมื่อเปรียบเทียบแล้ว ไม่ใช่มายกยอหรืออวยให้คนไทยด้วยกัน แต่หลายอย่างเรามีกรอบมาตรฐานที่ทั้งองค์กรสื่อควบคุมกันเองและด้วยความชัดเจนของกฎหมายบ้านเมือง ทำให้เข้าใจทันทีถึงคำว่า “ขื่อแปของบ้านเมือง” สำคัญเยี่ยงใด

ถ้าเลือกใช้ “อารมณ์ความรู้สึก” มาบริหารจัดการปัญหา หรือต่างฝ่ายต่าง “ฉกฉวยช่วงชิงโอกาส” เพื่อให้ตัวเองดูเป็น “เทพ” และให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นสิ่งเลวร้ายต้องกำจัดออกไปแบบที่อเมริกา รังแต่จะพาสังคมประเทศเดินไปสู่วิกฤติหนักหน่วงยิ่งขึ้น อาจจะโชคดีที่ความแตกแยกเป็นสองฝักฝ่ายของคนอเมริกันอยู่บนพื้นฐานของความเป็นปึกแผ่นในการสร้างชาติขึ้นมาของคนที่ไม่หลงลืมประวัติศาสตร์ ถึงแม้จะดูไร้เหตุผลกันไปบ้าง แต่ลึกๆ แล้ว คนส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่พวกสุดขั้วหัวรุนแรง (anarchist) อาจมีออกมาด่าๆ บ่นๆ วิจารณ์รัฐบาลไปตามประสา แต่ยังไม่เลือกที่จะตัดสินกันด้วยการยกเลิกกฎบัตรกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม หรือเห็นดีเห็นงามกับการใช้กำลังหรืออำนาจบาตรใหญ่กันเสียทุกคน เมื่อเวลาผ่านไปสองสัปดาห์ ตีกัน ด่ากัน กระทั่งหนำใจแล้วเรื่องก็ค่อยๆ กลับเข้าที่เข้าทาง ตลาดหุ้นก็ทะยานขึ้นในหลายๆ วันที่ผ่านมา

ประเทศเรามีพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง และผู้ที่อยู่ในวัยซึ่งอ่อนไหวกับการมองปัญหาเช่นเดียวกับคนขาวบางส่วนที่ร่วมกิจกรรมในการต้านอำนาจรัฐในอเมริกา เราเองก็มี “สื่อบางสื่อ” ที่ใช้เสรีภาพความเป็นสื่อในการเข้าเป็นคู่ขัดแย้ง และยังมีการสร้างสถานการณ์ให้ “เป้าหมาย” กลายเป็นตัวตลกร้าย หรือเหมือนคนโง่เซ่อซ่า

เช่นเดียวกับการที่ทรัมป์เจอสื่อหลายสื่อเล่นงานเขาในขณะนี้ คือทำอะไรผิดไปเสียเกือบทุกอย่างเหมือนที่มักพูดกันเป็นสำนวนขำขันว่า แม้แต่หายใจก็ถือว่าเป็นความผิดสำหรับทรัมป์ แต่คนที่ขาดจริยธรรมจรรยาบรรณที่ดีก็เจอกับการเลิกจ้างไปหลายราย เช่น บรรณาธิการของวอชิงตันโพสต์และอีกหลายแห่งที่เสนอข่าวแบบตีไข่ใส่สี

หากบ้านเราสื่อจะต้องทำหน้าที่โดยกระโดดเข้าไปชี้นำสังคมเช่นนี้ ถือเป็นเรื่องอันตรายมาก และไม่ใช่จะบอกว่าเมื่อมีปัญหาแล้วให้นิ่งดูดาย แต่การตัดสินถูกผิดไม่ควรทำโดยสื่อ ซึ่งควรใช้ความเป็นกลางในการนำเสนอ

และนี่คือเหตุผลสำคัญที่เหตุใดรัฐธรรมนูญของเราและอีกหลายประเทศจึงจำเป็นต้องป้องกันการอาศัยสื่อในการช่วงชิงอำนาจทางการเมือง ถึงกับต้องบัญญัติเป็น “ลักษณะต้องห้าม” ของคนที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง เช่น นายกรัฐมนตรีจะต้องไม่เป็นเจ้าของกิจการสื่อ แม้เราจะธำรงรักษาสิทธิเสรีภาพของสื่อด้วยความเคารพยิ่ง