ฟื้นฟูและซ่อมสร้างเศรษฐกิจใหม่

ฟื้นฟูและซ่อมสร้างเศรษฐกิจใหม่

“ฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะสั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ซ่อมสร้างเศรษฐกิจใหม่จะยากกว่าหลายเท่า!!!”

จากสัญญาณเชิงลบทั้งในและต่างประเทศที่รุมเร้าเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งเรื่องสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐรอบใหม่ การที่เศรษฐกิจสหรัฐได้เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างเป็นทางการ และการพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ในกรุงปักกิ่ง เป็นต้น

แม้ว่าประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดได้ดีกว่าอีกหลายประเทศก็ตาม แต่เราก็ยังมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจที่อาจกลายเป็นวิกฤติครั้งต่อไปได้ เพราะในอดีตที่ผ่านมานั้น เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ก็ด้วยการพึ่งภาคส่งออกและบริการท่องเที่ยวจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงถึง 80% นอกจากนี้เราก็ยังต้องพึ่งการลงทุนจากต่างประเทศในการพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่อีกด้วย

ที่ผ่านมา ภาครัฐต้องกู้เงินครั้งใหญ่เพื่อเอามาใช้ในการจ่ายเงินเยียวยาชดเชยให้แก่ประชาชนจำนวนหลายสิบล้านคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการล็อกดาวน์เป็นเวลา 3 เดือน นอกจากนี้ รัฐบาลหวังจะใช้เงินกู้อีกราว 4 แสนล้านบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยหวังจะสร้างงานให้กับท้องถิ่นผ่านโครงการต่างๆ ที่หน่วยงานของรัฐได้เสนอมาภายในระยะเวลาที่กระชั้นชิด เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้กลั่นกรองนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถูกตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมทั่วไปว่า โครงการต่างๆ เหล่านี้ซึ่งก็มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นโครงการประเภทเบี้ยหัวแตก จะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างตรงจุด ตรงปัญหา และคุ้มค่าได้จริงหรือไม่

แผนยุทธศาสตร์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและปัญหาการว่างงานในระยะสั้นด้วยเงินกู้ 4 แสนล้านบาทของกลุ่มเทคโนแครตที่มีบทบาทสูงทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ คงต้องรอดูต่อไป

หันกลับมาประเด็นเรื่องยุทธศาสตร์การซ่อมสร้างเศรษฐกิจใหม่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ ที่จำเป็นต้องทำควบคู่ไปกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะสั้นที่กล่าวไปข้างต้นด้วย ก่อนหน้าวิกฤติโควิด-19 เราก็ตระหนักถึงความจำเป็นในเรื่องการซ่อมสร้างเศรษฐกิจใหม่อยู่ก่อนแล้ว เพราะเศรษฐกิจไทยไม่อาจจะแข่งขันได้ด้วยการพึ่งพาการใช้แรงงานราคาถูกอีกต่อไป นอกจากนี้เรายังมีปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นอีกมากที่จะต้องรีบแก้ไขไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปัญหาสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม และปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่ค่อนข้างสูงที่จะโยงต่อไปเป็นปัญหาทางการเมืองต่อไปด้วย

 วิกฤติโควิด-19 ได้ทำให้เราเห็นชัดว่ายุทธศาสตร์การซ่อมสร้างเศรษฐกิจก่อนหน้านี้ของเทคโนแครตไทยด้วยการอาศัยการลงทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศในการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจในรูปของโครงการระเบียงเศรษฐกิจ EEC ที่หวังจะเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกและเชื่อมต่อกับยุทธศาสตร์ทางสายไหมใหม่ (BRI) ของจีนนั้นก็อาจเริ่มมีปัญหามากขึ้นได้ เพราะนักลงทุนจากต่างประเทศไม่ได้เข้ามามากอย่างที่เคยหวังไว้ นอกจากนี้เศรษฐกิจจีนเองก็เผชิญกับปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อไปถึงโครงการทางสายไหมใหม่ของจีนเองด้วย จึงไม่แปลกใจที่เราจะได้เห็นทีมเทคโนแครตชุดเดียวกันนี้หันมาสนใจผลักดันเรื่องการทำข้อตกลงร่วม CPTPP เพิ่มในช่วงนี้

วิกฤติโควิด-19 จึงเปิดโอกาสให้เราต้องหันมาทบทวน ปะผุ เพื่อเสริมแผนการซ่อมสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่มีอยู่แล้ว โดยเพิ่มเติมตัวฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (SMEs) ในประเทศ ให้มีบทบาทมากขึ้น

แน่นอนว่ารัฐบาลไม่ควรช่วยเหลืออุ้มชูผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลางที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือไม่สามารถผลิตสินค้าและบริการให้เป็นที่ต้องการของตลาดปัจจุบันและอนาคตได้ เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการเหล่านั้นไม่ยอมปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นในระยะยาว แต่สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลางอีกจำนวนมากที่มีศักยภาพและเก่ง แต่ขาดโอกาสที่จะแจ้งเกิดในเชิงธุรกิจ เพราะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้อย่างเป็นธรรมนั้น เราจะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างนี้กันอย่างไร

อันที่จริงแล้ว การที่ธนาคารพาณิชย์ไทยจะมีความสัมพันธ์ที่ดีและใกล้ชิดกับลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการในประเทศที่มีขนาดเล็กและกลางที่เก่งกาจและเรียนรู้ได้เร็วเป็นจำนวนมากและสามารถแข่งขันได้ในตลาดนั้น จะเป็นหนึ่งยุทธศาสตร์สำคัญที่จะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์เองสามารถจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี (disruptive technology) และคู่แข่งรายใหญ่จากต่างประเทศได้มากกว่า

แต่ธนาคารพาณิชย์เพียงแห่งหนึ่งแห่งใดคงจะไม่สามารถช่วยเหลือเหล่าเอสเอ็มอีที่ดีได้หมด นอกจากว่าธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่จะพร้อมใจดำเนินการช่วยเหลือในลักษณะร่วมกันอย่างจริงจัง ซึ่งอาจเริ่มจากการลดส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้ (MLR) ที่ต่างกันมากให้ลดลง เพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็เป็นอัตราดอกเบี้ยขาลงด้วย ซึ่งเป็นโจทย์ปัญหาเชิงโครงสร้างภาคการเงินที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก น่าจะมีโอกาสร่วมกันซ่อมสร้างเศรษฐกิจใหม่ได้อย่างเป็นรูปธรรมโดยได้ประโยชน์ร่วมกันในยุคของเทคโนโลยีดิสรัปชั่นนี้